ระทึก ช้างหลง เข้าไปในป่าชายเลน ระดมกำลังช่วย หวั่นตกหล่ม
เมื่อวันที่ 29 มกราคม ที่ศาลาหมู่บ้าน หมู่ 4 ต.ดอนสัก อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี นายวิชัย สมรูป ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 (สุราษฎร์ธานี) ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสุราษฎร์ธานี ศูนย์กู้ภัยพิบัติจังหวัดสุราษฎร์ธานี สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 พร้อมสัตว์แพทย์ประจำสำนัก อุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะทะเลใต้ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคใต้ และกู้ภัยมูลนิธิกุศลศรัทธาจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ตั้งศูนย์ปฎิบัติการเฉพาะกิจ “ช่วยเหลือช้างป่าหลงฝูง เข้าเขตป่าชายเลนดอนสัก กลับคืนอุทยาน” วางแผนการค้นหาและช่วยเหลือช้างป่าที่พลัดหลงจากโขลงเข้ามาในบริเวณพื้นที่ป่าชายเลน เขต อ.ดอนสัก
นายวิชัย กล่าวว่า ได้มีชาวบ้านพบช้างพลายวัยรุ่นเพศผู้ น้ำหนักประมาณ 4 ตันพลัดหลงจากป่าอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น ระยะทาง 50 กิโลเมตร มาหากินในเขตป่าชายเลน หมู่ที่ 3 ต.ไชยคราม อ.ดอนสัก เมื่อ 3 วันที่ผ่านมาซึ่งได้ร่วมกันประชุมวางแผนอย่างรอบคอบเนื่องจากพื้นที่เป็นพื้นที่ป่าชายเลน พร้อมทั้งส่งเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังไม่ให้ช้างเข้าไปในหมู่บ้าน เพื่อเร่งดำเนินการผลักดันให้ช้างป่ากลับคืนถิ่นที่อยู่อาศัย
ด้านนายวิทูรย์ เดชประมวลผล ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตวป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ช้างดังกล่าวเป็นช้างป่า 1 ในโขลงที่มีอยู่ 3 เชือกที่อาศัยอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น โดยเมื่อวันที่ 12 มกราคม เจ้าหน้าที่อุทยานแก่งชาติทะเลใต้ พบเข้าไปในพื้นที่ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช เมื่อทราบว่าเป็นช้างป่าในเขตพื้นที่อุทยานฯจึงได้ผลักดันออกเข้ามาและเจ้าหน้าที่อุทยานฯเข้าติดตามเพื่อผลักดันกลับสู่ป่า แต่ช้างเปลี่ยนทิศทางเข้าไปในพื้นที่ป่าชายเลน
รายงานข่าวแจ้งว่า ล่าสุดเจ้าหน้าที่และชาวบ้านประมาณ 100 คน ได้ออกติดตามร่องรอยได้พบพืชสวนถูกกัดทำลายบริเวณป่าชายเลนหลังฟาร์มกุ้งบ้านพอด ต.ชลคราม อ.ดอนสัก และคาดว่าว่ายน้ำข้ามคลองบางแตน ไปยังบ้านหาดแก้ว ต.ชลคราม
จึงใช้เรือหางยาวตระเวนตามแนวคลอง และใช้โดรนบินสำรวจแนวป่าชายเลน และสวนของชาวบ้านเนื่องจากช้างเคลื่อนย้ายแบบไม่มีทิศทางอย่างรวดเร็ว ซึ่งทีมค้นหาจะใช้ 2 แนวทางคือ ผลักดันช้างโดยวิธีต้อนกลับในทิศทางเดิมที่เข้ามา หรือใช้การจับย้ายส่งกลับ เนื่องจากเกรงหากช้างติดหล่มในป่าชายเลนจะทำให้การช่วยเหลือยากลำบาก เพราะมีน้ำหนักมากเครื่องจักรที่จะช่วยยกได้เข้าไปไม่ถึง