ภาพหัวเรื่องโดย ผู้เขียน : https://www.canva.com/design/ ในช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมา มีคนที่ต้องออกจากงานมาเป็นจำนวนมาก แม้ว่าอัตราการว่างงานของบ้านเราจะยังอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาทั้งโลก แต่ก็เป็นตัวเลขที่สูงขึ้นเกินค่าเฉลี่ยรอบหลายปีของไทยประเทศเรามีระบบสวัสดิการแรงงานที่ค่อนข้างดีแม้ขนาดเม็ดเงินจะไม่ทัดเทียมประเทศพัฒนาแล้วแต่ก็พอจะเป็นฟูกรองรับการกระแทกได้ระดับหนึ่งสำหรับมนุษย์ลูกจ้างในระบบ แต่ทว่า…ในความตกต่ำทาเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องยาวนานอย่างนี้ คนจำนวนไม่น้อยก็ถึงกับหลุดออกจากการเป็นแรงงานในระบบ และต้องเผชิญกับภาวะสับสนทางสวัสดิการอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนภาพประกอบโดย ผู้เขียน : https://www.canva.com/design/ สำหรับคนทำงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมมานานพอ เมื่อเกิดการว่างงานจากการถูกเลิกจ้างก็จะได้รับเงินชดเชยจากทางนายจ้างจำนวนหนึ่งตามกฏหมายแรงงาน และยังจะได้รับเงินทดแทนการว่างงานจากทางประกันสังคมอีก แต่สิ่งที่มักมีการตั้งคำถามก็คือ เมื่อออกจากงานและไม่ได้อยู่ในระบบส่งเงินสมทบ ม.33 แล้ว เราควรจะสมัครเพื่อส่งเงินสมทบภาคสมัครใจ (ม.39) หรือไม่ เรื่องนี้มีข้อควรพิจารณาใน 2 แง่มุมภาพประกอบโดย ผู้เขียน : https://www.canva.com/design/มุมแรกคือเรื่องสิทธิ์ในการรักษาพยาบาล เมื่อครบกำหนด 180 วันนับแต่วันที่ว่างงานถ้าเรายังไม่ได้งานใหม่ สิทธิในการรักษาพยาบาลโดยประกันสังคมจะสิ้นสุดลง แต่เพราะประเทศไทยใช้หลักการประกันสุขภาพทั่วหน้า คือทุกคนต้องมีสวัสดิการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานจากรัฐไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เมื่อเราพ้นจากความคุ้มครองของระบบประกันสังคมแล้ว เราก็จะถูกโอนไปเข้าสู่ระบบของ”สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” (สปสช.) โดยอัตโนมัติ ความครอบคลุมของการรักษาพยาบาลจะมีความต่างอยู่บ้างแต่ก็ไม่ค่อยเป็นประเด็นปัญหา แต่ปัญหาจะอยู่ที่สถานพยาบาล ซึ่งจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไป และจะมีระบบที่ต้องไปรับบริการที่คลีนิคปฐมภูมิใกล้บ้านก่อนที่จะถูกส่งไปโรงพยาบาลใหญ่ขึ้นเฉพาะเมื่อจำเป็น ซึ่งต่างจากประกันสังคมที่เราเลือกโรงพยาบาลที่พอใจได้แต่ต้น หากเราไม่อยากจะต้องเปลี่ยนระบบตรงนี้ เราก็คงต้องสมัครเข้าประกันตนเองใน ม.39 เสียก่อนทีจะพ้นกำหนด 180 วันภาพประกอบโดย ผู้เขียน : https://www.canva.com/design/มุมที่สอง บำนาญชราภาพ ตามหลักของประกันสังคม หากเราได้นำส่งเงินสมทบมาตั้งแต่ครั้งแรกเป็นจำนวนรวม 180 เดือนขึ้นไป ไม่ว่าจะต่อเนื่องหรือไม่ก็เอามานับรวมกันหมด เราก็จะเข้าสู่การรับบำนาญชราภาพเมื่ออายุครบ 55 ปี และ สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน (ก็คือไม่ได้ส่งเงินสมทบแล้วทั้ง ม.33 และ ม.39) ซึ่งจำนวนเงินบำนาญรายเดือนเขาจะคำนวณจากค่าจ้าง(ที่ใช้คำนวณเงินสมทบ)เฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย โดยเริ่มนับถอยหลังจากเดือนสุดท้ายที่ส่งเงินสมทบไม่ว่าจะหยุดการสมทบมาก่อนอายุครบ 55 ปี นานเท่าไรประเด็นที่ต้องคิดก็คือตรงที่ว่า การประกันตนภาคสมัครใจ ม.39 นั้น เงินสมทบจะคิดจากฐานค่าจ้างเดือนละ 4,800 บาท (เขาคำนวณจากค่าจ้างขั้นต่ำรายวันปี 2534 x 26 วัน) ดังนั้นหากค่าจ้างเฉลี่ยเดิมของเราก่อนตกงานนั้นสูงกว่าเดือนละ 4,800 บาท การที่เรามาสมัครเข้า ม.39 จะทำให้บำนาญที่จะได้ในอนาคตนั้นลดลง เว้นเสียแต่ว่าเราจะได้งานและกลับเข้า ม.33 อีกครั้งและได้รับค่าจ้างสูงกว่า 4,800 บาท ไปอีกไม่น้อยกว่า 60 เดือนภาพประกอบโดย ผู้เขียน : https://www.canva.com/design/ตรงนี้ก็แล้วแต่ลางเนื้อชอบลางยานะครับ ชั่งน้ำหนักระหว่างความสะดวกในสิทธิ์รักษาพยาบาล กับความต่างของบำนาญในอนาคต ประกอบกับโอกาสที่จะได้งานกลับเข้ามาในระบบอีกครั้งก่อนอายุ 55 ปี แล้วก็ตัดสินใจ อย่างไรก็ตามผมมีข้อแนะนำว่า เรามีเวลาคิดตัดสินใจพอสมควร ไม่จำเป็นต้องรีบสมัคร ม.39 ก่อน 5 เดือน นับแต่ว่างงาน แต่ก็อย่าช้าจนเฉียดฉิวกำหนด 180 วัน มีเวลาเผื่อกรณีเกิดปัญหาเอสารและการติดต่อสักหน่อย จะได้ไม่พลาดโอกาสหากตัดสินใจจะสมัคร ม.39 ท้ายนี้ ผมก็ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนฝ่าฟันความยากลำบากไปได้ด้วยแรงกายแรงใจของตนและคนรอบข้าง จะได้งานใหม่หรืออาชีพใหม่ เปิดใจรับความรู้และโอกาสที่สมเหตุสมผล และก้าวต่อไปครับ7-11 Community ห้องลับเมาท์มอยของกินของใช้ในเซเว่น อะไรดีอะไรใหม่ ต้องรู้ ต้องคุย ต้องแชร์