ชาวอีสาน มีความใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนามาอย่างยาวนาน ความเชื่อ ความศรัทธา ได้หล่อหลอมวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีของการดำเนินชีวิตให้เป็นไปตามครรลองครองธรรม ข้อปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนา สิ่งเหล่านี้แสดงออกมาในลักษณะของประเพณี ก็คือ ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ เมื่อเราลงไปดูคติการประกอบพิธีกรรมในเชิงลึก จะเห็นว่าล้วนเกี่ยวข้องกับแนวคิดในทางพระพุทธศาสนา อีกด้านหนึ่งของความศรัทธาได้แสดงออกมาเป็นรูปธรรม ผ่านโบสถ์ วิหาร ผืนผ้า และพระพุทธรูป โดยเฉพาะพระพุทธรูปไม้ของชาวอีสาน มีความงดงาม แสดงถึงภูมิปัญญาชาวบ้านที่ประดิษฐ์พระไม้เอาไว้กราบไหว้บูชาภาพถ่ายโดย ภาณุพงศ์ ธงศรีพระไม้อีสาน แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ พระไม้แบบช่างหลวง และพระไม้จากช่างพื้นบ้าน โดยพระไม้จากช่างหลวงนั้น ไม่ได้หมายความว่าเป็นช่างที่มาจากกรุงเทพฯ เพียงอย่างเดียว แต่หมายถึง ช่างในหัวเมืองใหญ่ที่ได้รับการสืบทอดศิลปะวิทยาในการออกแบบ และแกะสลักตามรูปแบบพระไม้ได้อ่อนช้อย สวยงาม สมส่วนตามขนบของศิลปะล้านช้าง ส่วนมากจะกระจายตัวตามหัวเมืองสำคัญ เช่น อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด สกลนคร และนครพนม เป็นต้นภาพถ่ายโดย ภาณุพงศ์ ธงศรีส่วน พระไม้จากช่างพื้นบ้าน จากช่างพื้นบ้านนั้น ถือเป็นงานออกแบบ และแกะสลักโดยเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของพระไม้องค์นั้น ๆ และเป็นฝีมือของช่างนั้น ๆ อาจจะไม่ได้อยู่ในขนบที่ชาวอีสานสืบมาจากล้านช้าง แต่ในแง่ความงดงาม และการสร้างสรรค์ก็ถือว่าเป็นชิ้นงานที่ผสานความศรัทธา มุมานะเพื่อสร้างขวัญกำลังใจ กราบไหว้บูชา และเก็บไว้ในบ้านของตนภาพถ่ายโดย ภาณุพงศ์ ธงศรีในมุมมองของผู้เขียน พระไม้อีสานที่สร้างสรรค์จากชาวบ้านมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะชาวบ้านเป็นคนประดิษฐ์ และสร้างขึ้นมาจากความศรัทธา หลายครั้งถูกตีค่า และราคาว่าไม้สวยงาม แต่ถ้ามองอีกอย่างหนึ่ง ศิลปะเหล่านี้เป็นความงามที่ไม่ใช่แบบสัจนิยม แต่เป็นศิลปะลัทธิเหนือจริง (Surrealism) ที่สร้างผลงานขึ้นมาด้วยความเรียบง่าย แต่พระไม้ก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการกราบไหว้บูชา โดยใช้วัสดุที่หาง่ายคือ ไม้ มาทำเป็นพระพุทธรูปใช้ประกอบพิธีกรรม และไหว้บูชาภาพถ่ายโดย ภาณุพงศ์ ธงศรีพระไม้ มรดกความศรัทธาของชาวอีสาน นับวันพระพุทธรุปจากงานฝีมือเหล่านี้จะหายไปจากแผ่นดินภาคอีสาน ด้วยมีคนที่มีความคิดคับแคบ มาแอบขโมยทั้งนำไปขาย และนำไปเป็นของตนเอง ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนคิดว่าพระพุทธรูปไม้ของเรา จำเป็นต้องได้รับการอนุรักษณ์ ดูแลรักษาอย่างเป็นระบบ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้ช่วยกระตุกความรัก และหวงแหนพระไม้ที่เป็นมรดกความศรัทธาของชาวอีสานภาพวาดหน้าปกโดย ภาณุพงศ์ ธงศรี