ไฮไลต์โลก: ปมร้อนการเมืองเกาหลี ผู้นำควรฉีดวัคซีนก่อนหรือหลัง?
มีหลายประเทศที่มีการถกเถียงกันว่าบุคคลที่เป็นผู้นำควรจะแสดงสปิริต ยอมฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ก่อนเป็นคนแรกเมื่อวัคซีนมาถึงมือหรือไม่ เพื่อที่จะทำให้ประชาชนในประเทศเกิดความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีน
เรื่องนี้ก็กำลังเป็นประเด็นร้อนที่มีการโต้เถียงในวงการเมืองเกาหลีใต้ ที่เหล่าส.ส.ฟากฝ่ายค้านออกมาเรียกร้องว่า ประธานาธิบดีมุน แช อิน ของเกาหลีใต้ ควรจะเป็นคนแรกที่ฉีดวัคซีนต้านโควิดของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า-ออกซ์ฟอร์ดก่อน เพื่อทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในตัววัคซีนนี้ที่ทางการจะเริ่มฉีดให้กับประชาชนในวันศุกร์(26 ก.พ.)นี้ หลังจากสังคมมีความวิตกกังวลและมีการตั้งคำถามมากขึ้นเกี่ยวกับความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า โดยเฉพาะผลที่จะมีต่อกลุ่มผู้กลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มอ่อนไหว เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลด้านนี้มากเพียงพอ
ส.ส.ฟากฝ่ายค้านที่ออกมาเรียกร้องให้ผู้นำเกาหลีใต้ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าก่อน หนึ่งในนั้นคือ ยู ซอง มิน ส.ส.พรรคพีพีพี ที่โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นว่า ในขณะที่รัฐบาลและผู้ฝักใฝ่รัฐบาลเป็นฝ่ายทำให้เกิดความคลางแคลงใจในความปลอดภัยของวัคซีนนี้ ประธานาธิบดีมุนก็ควรจะเป็นคนแรกที่จะต้องฉีดวัคซีนก่อน แล้วตามด้วยรัฐมนตรีสาธารณสุข รัฐมนตรีด้านความปลอดภัยของยา และคณะทำงานของสำนักงานควบคุมและป้องกันโรค(เคดีซีเอ) ฉีดเป็นตัวอย่างให้เห็นตามมา เพื่อขจัดความหวั่นกลัวในหมู่ประชาชน
เสียงเรียกร้องดังกล่าวของส.ส.ฟากฝ่ายค้านมีขึ้นหลังจากมีท่าทีออกมาขัดแย้งกันเองในส่วนของรัฐบาลเกี่ยวกับวัคซีนต้านโควิดของแอสตร้าเซนเนก้า ที่ทำให้ชาวเกาหลีใต้มีความปริวิตกต่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนไปมากยิ่งขึ้น โดยหลังจากกระทรวงความปลอดภัยด้านอาหารและยาของเกาหลีใต้ ออกมาให้ข้อสรุปเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ว่าสามารถฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าให้กับกลุ่มผู้สูงอายุได้ โดยชี้ว่ายังไม่มีรายงานปัญหาที่มีนัยสำคัญอันใดเกิดขึ้น แม้จะมีหลักฐานสนับสนุนให้เห็นว่าวัคซีนยังค่อนข้างไม่ได้ประสิทธิผลมากพอก็ตาม
แต่หลังจากที่ได้มีการอนุมัติให้ใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในเกาหลีใต้ได้แล้ว ขณะเดียวกันทางกระทรวงกลับบอกว่าการจะฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปหรือไม่ ควรจะต้องตัดสินใจอย่างระมัดระวัง ซึ่งเป็นท่าทีที่ดูขัดแย้งกันเองจนทำให้เกิดความสับสนในหมู่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชน
จอง ชอง แร ส.ส.พรรคดีพีเค พรรครัฐบาลภายใต้การนำของมุน แช อิน โพสต์เฟซบุ๊กตอกกลับเสียงเรียกร้องของส.ส.ฝ่ายค้านว่า กำลังดูหมิ่นผู้นำประเทศด้วยการปฏิบัติเป็นเหมือนแค่สิ่งทดลองอะไรบ้างอย่าง และว่า หากประธานาธิบดีฉีดวัคซีนก่อนคนแรก ก็จะหาว่าใช้อภิสิทธิ์เหนือประชาชน แต่หากเกิดฉีดแล้วมีปัญหา ก็จะว่ากล่าวเป็นอย่างอื่นไปอีก
ความเห็นของส.ส.พรรคดีพีเค ก็ถูกสวนกลับทันควันจากส.ส.พรรคพีพีพีอีกรายที่ตอบโต้ว่า อีกฝ่ายเห็นว่าประชาชนควรจะเป็นหนูทดลองหรืออย่างไร โดยผู้นำในบางประเทศก็อาสาฉีดวัคซีนเป็นคนแรก เพื่อทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น อย่างนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ก็เป็นคนแรกของอิสราเอลที่ฉีดวัคซีนต้านโควิด ส่วนประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐอเริกา แม้จะไม่ได้ฉีดวัคซีนเป็นคนแรก แต่ตอนนี้ก็ได้ฉีดวัคซีนของไฟเซอร์-ไบออนเทค ครบ 2 เข็ม เป็นตัวอย่างเรียกความเชื่อมั่นให้อเมริกันชนไปแล้ว
ในส่วนของประธานาธิบดีมุน แช อิน เองที่ตอนนี้อยู่ในวัย 68 ปี บอกกับสื่อมวลชนเองในระหว่างการแถลงข่าวในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาว่า ตัวเขาไม่เกี่ยงที่จะให้ฉีดวัคซีนเป็นคนแรก หากมีใครอยากจะให้ฉีดเป็นตัวอย่าง
อย่างไรก็ตามการถกเถียงทั้งหลายทั้งปวง หากเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติจริงๆ ก็คงไม่กระไร หากแต่มีการเมืองอยู่เบื้องหลัง ก็ไม่ไหวจะเคลียร์