'บิ๊กตู่' หนุนบอร์ดดีอี เร่งนโยบายอวกาศ-สายสื่อสารลงดิน หวังสร้างภาพลักษณ์กระตุ้นศก.ดิจิทัล
‘บิ๊กตู่’ หนุนบอร์ดดีอี เร่งนโยบายอวกาศ-สายสื่อสารลงดิน หวังสร้างภาพลักษณ์กระตุ้นศก.ดิจิทัล
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติครั้งที่ 3/2563 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาลวันที่ 13 กรกฎาคม 2563
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า จากการที่งานของคณะกรรมการดิจิทัลฯ จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก จึงขอให้ทุกหน่วยให้การร่วมมือสนับสนุนในการผลักดันให้เกิดขึ้น ประกอบกับความเหลื่อมล้ำเป็นหนึ่งในปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญของไทยและหลายประเทศทั่วโลก ทำให้โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลมีความสำคัญมากในปัจจุบันต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมที่ต้องมีการติดต่อสื่อสารอย่างไม่สะดุด จะช่วยให้เพิ่มการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจและยังสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ และสิ่งหนึ่งที่มีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศคือการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นรายได้หลักของประเทศอีกทางหนึ่ง ภาพลักษณ์จึงถือเป็นสิ่งสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินงานของกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าวว่า ได้สนับสนุนเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้มีความพร้อมเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยผลการประชุมว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติเรื่อง หลักเกณฑ์ในระดับรัฐเพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศเชิงพาณิชย์ พ.ศ…เพื่อกระตุ้นการลงทุนจากผู้ประกอบการทั้งคนไทยและต่างชาติ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติที่เพิ่มมากขึ้น และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการแข่งขันทางธุรกิจอย่างเป็นระบบและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนอีกทั้งคณะกรรมการดีอียังสนับสนุนตามที่ บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ได้นำเสนอเส้นทางการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในเส้นทางที่การไฟฟ้านครหลวงไม่มีการรื้อถอนเสาไฟฟ้าและไม่มีสภาพบังคับจำนวน 12 เส้นทางรวมระยะทาง 48.7 กิโลเมตร
ทั้งนี้ กล่าวถึงผลการดำเนินการดำเนินงานของกระทรวงฯ ที่ผ่านมา จะเห็นว่าผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ IMD ของสถาบัน IMD World Competitiveness Center ในภาพรวมประจำปี 2563 ประเทศไทยถูกจัดอยู่ที่ 29 จาก 63 ประเทศ เป็นอันดับที่ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย สอดคล้องกับปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานที่วิเคราะห์ผลการจัดอันดับจากกลุ่มปัจจัยย่อยด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีปี 2563 ซึ่งไทยอยู่ที่ 34 จาก 63 ประเทศ ปรับตัวดีขึ้น 4 อันดับ จากปี 2562 โดยตัวชี้วัดที่มีอันดับโดดเด่น คือ ตัวชี้วัดผู้ลงทะเบียนใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบรนด์ผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ และสำหรับโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) ซึ่งมีความคืบหน้ามีหน่วยงานที่ส่งใบคำขอใช้บริการ GDCC จำนวนทั้งหมด 8,820 VM ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 โดยจะต้องโอนย้ายหน่วยงานทั้งหมดที่ใช้งานอยู่บน G-Cloud เดิมของ สพร. มาใช้งานต่อบนระบบ GDCC จำนวน 2,930 VM ให้เสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2563 นี้ และกำลังพัฒนาและเปิดตัวเว็บไซต์ www.bigdata.go.thเพื่อให้ความรู้แก่บุคลากรภาครัฐและประชาชนทั่วไปเรื่องการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ นอกจากนี้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กระทรวงดิจิทัลฯ ได้สนับสนุนภารกิจต่าง ๆ รวมถึงการจัดทำพัฒนาแอปพลิเคชัน หมอชนะ, ไทยชนะ, AOT Airport, Card2U, อาสาสมัครดิจิทัลและกองทุนพัฒนาดิจิทัลฯ ได้เปิดให้ยื่นข้อเสนอโครงการสนันสนุน เยียวยาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 วงเงิน 1 พันล้านบาท ซึ่งได้อนุมัติจำนวน 42 โครงการ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมสนับสนุนและขับเคลื่อนนโยบายโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้ประเทศไทยสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ ให้เหมือนกับช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ที่กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงดิจิทัลฯ และหน่วยงานต่าง ๆ ได้นำข้อมูลสารสนเทศ และแพลตฟอร์มไทยชนะ มาใช้ในการติดตามป้องกันโรค ทำให้ปัจจุบันไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศ หากเทียบกับอีกหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้จะเกิดประโยชน์สูงสุดกับคนไทยทุกคน