บางครั้งสิ่งดี ๆ ที่เราแสวงหาก็พบได้โดยบังเอิญ อย่างเช่นวัดนี้ วัดเขมาภิรัติการาม วัดที่มีสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่งดงามวิจิตร เห็นแล้วรู้สึกชอบ แต่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ผู้เขียนได้ไปแบบไม่ตั้งใจ เพราะถ้าไม่ใช่งานสีดำ ที่ไปเป็นกำลังใจให้เพื่อน คงไม่มีโอกาสได้ชม สิ่งแรกที่ปรากฏต่อสายตาและรู้สึกว่า ต้องเดินชมก็คือ เรือนไม้ทรงไทยโบราณที่ดูก็รู้ว่า งานสถาปัตยกรรมเก่าที่ถูกเก็บรักษาเอาไว้ ลงจากรถได้สักพัก ทักทายกันเสร็จสรรพก็ต้องออกเดินชมกันสักหน่อย ไปตั้งต้นที่ทางเข้า เดินเข้ามาจากด้านหน้า ผ่านโบสถ์ที่มีประตูรั้วกั้นปิด เพราะมาถึงก็เริ่มค่ำแล้ว แต่แหงนหน้าไปดูที่หน้าบัน ว้าว...วิจิตรมาก โชคดีที่พระภิกษุที่กำลังสนทนากันอยู่ภายในรั้ว เห็นผู้เขียนให้ความสนใจ เลยออกปากว่า เข้าไปดูได้ แล้วท่านก็เมตตาเปิดประตูรั้วให้ พร้อมบอกว่า ที่นี่อยู่ระหว่างซ่อมแซม และทราบว่า โบสถ์หลังนี้ อายุกว่า 100 ปีแล้ว นับแต่วันผูกพัทธสีมา (เสียดายที่แสงไม่พอ ภาพไม่สวย) ออกจากบริเวณโบสถ์ ค่อยเดินย้อนกลับมาชมรายละเอียดของเรือนไม้ทรงไทย ได้ซักถามจึงทราบว่า ปัจจุบันใช้เป็นกุฏิ ที่พักของพระภิกษุสงฆ์ เป็นเรื่องน่ายินดีที่วัดแห่งนี้อนุรักษ์เก็บของเก่าเอาไว้ สิ่งที่เป็นปัจจุบันน่าจะมีอย่างเดียวก็คือ รถยนต์ที่จอดอยู่ใต้ถุนกุฏิ ที่เป็นกุฏิหลังใหญ่ต่อเนื่องกัน ไม่ใช่กุฏิใคร กุฏิท่าน เหมือนวัดส่วนใหญ่ จากกุฏิก็ยังเดินชมไปเรื่อย ๆ ที่บริเวณใกล้ต้นปีบต้นใหญ่ ดอกออกเยอะมาก เสียดายเป็นเวลาค่ำไปเรื่อย ๆ ภาพที่ถ่ายมาจึงไม่ชัดเจน แม้จะเปิดโหมด ภาพตอนกลางคืนแล้วก็ตาม ใกล้ ๆ กันก็คือ อาคารขนาดเล็ก สูง และทราบจากพระภิกษุรูปเดียวกันกับที่อนุญาตให้เข้าไปในบริเวณโบสถ์ ท่านมีเมตตามาก เห็นผู้เขียนสนใจก็เดินตามมาให้คำอธิบาย จึงเป็นความโชคดีที่ได้รู้ว่า ที่นี่คือ หอระฆังเก่า อายุเป็น 100 ปีเช่นเดียวกับโบสถ์ ในอดีตนั้น เกิดขึ้นมาได้จากความร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านที่มีความศรัทธา ร่วมบริจาคคนละ 1 บาท จนสร้างได้สำเร็จ เห็นคุณค่าของความเก่าแก่ที่อนุรักษ์มาอีกแล้ว เพราะถ้าไม่มี Story ก็คงไม่เห็นคุณค่าของการเก็บรักษาหอระฆังเก่านี้แน่ ๆ อาคารที่ใหม่ที่สุดน่าจะเป็นศาลาสวดพระอภิธรรมนั่นเอง แต่ในความสร้างใหม่ ก็ยังมีความน่าสนใจคือ จิตรกรรม ภาพฝาผนังด้านบนรอบศาลา เน้นพุทธประวัติตั้งแต่อดีตชาติ การบำเพ็ญบารมี 10 ชาติที่รู้จักกันว่า “ทศชาติ” แต่ละภาพมีความงดงามด้วยฝีมือจิตรกร มีกำกับรายชื่อผู้ศรัทธาเป็นเจ้าภาพทั่วทุกรูป ทำให้คาดเดาได้ว่า พระภิกษุผู้ดูแลสถานที่แห่งนี้ยังเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวพุทธ ขอบคุณเพื่อนกันที่ชวนมา รู้สึกโชคดีที่ได้มาที่นี่เหมือนบังเอิญแต่คงไม่ใช่บังเอิญแน่นอน **ภาพถ่ายโดยผู้เขียน**