รีเซต

ไทยติดในกลุ่มปท. ที่ฟรีดอมเฮาส์ชี้คุกคามคนลี้ภัยในต่างแดน

ไทยติดในกลุ่มปท. ที่ฟรีดอมเฮาส์ชี้คุกคามคนลี้ภัยในต่างแดน
มติชน
4 กุมภาพันธ์ 2564 ( 18:19 )
38
ไทยติดในกลุ่มปท. ที่ฟรีดอมเฮาส์ชี้คุกคามคนลี้ภัยในต่างแดน

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ฟรีดอมเฮาส์ กลุ่มรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยที่ได้รับทุนสนับสนุนส่วนใหญ่จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เผยแพร่รายงานผลการประมวลเหตุการณ์ที่ประเทศต่างๆ อาศัยวิธีการสารพัดเพื่อข่มขู่ คุกคาม จำกัดการเคลื่อนไหวของคนที่ถือสัญชาติตนเองซึ่งลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศนับตั้งแต่ปี 2557 ที่แสดงให้เห็นแนวโน้มชัดเจนว่า การกดขี่คุกคามทางการเมืองซึ่งแต่เดิมเคยจำกัดอยู่ภายในอาณาเขตของแต่ละประเทศนั้น ยิ่งลุกลามออกไปนอกพรมแดนชาติรัฐมากขึ้นทุกที เนื่องจากผู้ลงมือกระทำไม่ได้รับผลสะท้อนกลับหรือได้รับน้อยมาก ทำให้ปริมาณการกดขี่คุกคามข้ามชาติดังกล่าวนี้กลายเป็นเทรนด์ที่เพิ่มสูงขึ้น

 

ฟรีดอมเฮาส์ระบุว่า นับตั้งแต่ ปี 2557 เรื่อยมาเกิดเหตุการณ์การกดขี่คุกคามทางการเมืองโดยตรงต่อคนในสัญชาติตนเองที่ลี้ภัยอยู่ในต่างแดนขึ้นถึง 608 คดี โดยฝีมือของรัฐบาลประเทศต่างๆ 31 ประเทศ โดยอาศัยเครื่องมือและกรรมวิธีสารพัดตั้งแต่ การอาศัยกฎหมายระหว่างประเทศ การกดดันแบบทวิภาคีต่อประเทศที่ผู้ลี้ภัยเหล่านั้นพำนักอยู่ การตรวจสอบและติดตามผ่านทางสื่อดิจิทัล เรื่อยไปจนถึงการก่อกวน และการคุกคามทางกายโดยตรง ซึ่งส่งผลให้บุคคลเป้าหมายประสบชะตากรรมต่างๆ กัน ตั้งแต่ถูกควบคุมตัว ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกข่มขู่กรรโชก ถูกเนรเทศโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถูกกักขังอย่างลับๆ และถูกลอบสังหาร

 

รายงานชิ้นนี้ยกตัวอย่างกรณีการลอบสังหารนาย จามาล คาช็อกกี ผู้สื่อข่าวชาวซาอุดีอาระเบีย ในนครอิสตันบุล เมื่อปี 2561 โดยสายลับในสังกัดเชื้อพระวงศ์ซาอุดีอาระเบียว่า เป็นกรณีที่เรียกความสนใจได้มากที่สุด แต่ยังมีอีกหลายกรรมวิธีที่ใช้กันอยู่เป็นการทั่วไปและส่งผลเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เช่นเดียวกัน อาทิ การจำกัดหรือยกเลิกพาสปอร์ต การก่อกวนออนไลน์ การใช้สปายแวร์เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวและการคุกคามต่อครอบครัวของผู้ลี้ภัยเหล่านั้นที่ยังคงอยู่ภายในประเทศ

 

ฟรีดอมเฮาส์ระบุว่า จีนเป็นผู้ใช้กรรมวิธีต่างๆเพื่อการนี้มากที่สุดและใช้แทบจะทุกกลยุทธเพื่อจัดการกับฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นชาวฮั่นด้วยกันเองหรืออุยกูร์ ทิเบตและฟาหลุนกง เคยใช้การกดดันรัฐต่อรัฐต่อประเทศอย่างไทย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และเคนยาให้ส่งตัวอุยกูร์นับพันให้กับทางการจีน และเคยปฏิบัติการลักพาตัวชาวสวีเดนเชื้อสายจีนในไทยกลับจีนอย่างอุกอาจเมื่อปี 2558

 

ประเทศที่ดำเนินการทำนองเดียวกันมากเป็นอันดับ 2 คือตุรกี โดยฟรีดอมเฮาส์ ระบุชื่อของหลายประเทศที่มีปฏิบัติการคุกคามผู้ลี้ภัยสัญชาติเดียวกับตนในต่างแดนที่ชัดเจนว่า ยังมีประเทศอย่างอุซเบกิสถาน รวันดา รัสเซีย ทาจิกิสถาน อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย และประเทศไทย

 

ฟรีดอมเฮาส์ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ในจำนวนนี้มีราว 12 ประเทศ รวมทั้ง จีน รัสเซียและตุรกี ที่ใช้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอินเตอร์โพล หรือตำรวจสากลเป็นเครื่องมือเพื่อกดขี่คุกคามต่อผู้ลี้ภัยสัญชาติตนเอง

 

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ฟรีดอมเฮาส์ ไม่ได้หยิบยกเอากรณีของเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน มารวมอยู่ในรายงานชิ้นนี้ด้วย ทั้งยังไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบการปฏบัติต่อคนสัญชาติอเมริกันในต่างแดนของสหรัฐอเมริกาอีกด้วย