รีเซต

‘บิ๊กป้อม’ ตรวจราชการ ‘มท.’ ฝากการบ้าน 10 ข้อ แก้ความเดือดร้อนปชช.ทุกมิติ

‘บิ๊กป้อม’ ตรวจราชการ ‘มท.’ ฝากการบ้าน 10 ข้อ แก้ความเดือดร้อนปชช.ทุกมิติ
มติชน
6 พฤศจิกายน 2563 ( 10:51 )
81
‘บิ๊กป้อม’ ตรวจราชการ ‘มท.’ ฝากการบ้าน 10 ข้อ แก้ความเดือดร้อนปชช.ทุกมิติ

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ที่ห้องประชุมราชสีห์ ชั้น 2 อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย(มท.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายและภารกิจสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย ประจำปีงบประมาณ พ. ศ. 2564 โดยมีพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ให้การต้อนรับและรับฟังแนวนโยบาย โดยเป็นการประชุมผ่านระบบ Video Conference ไปยังทุกจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด นายอำเภอ หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมรับฟังนโยบายทั่วประเทศ

 

 

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี มีความมุ่งมั่นที่จะดูแลพี่น้องประชาชนทุกช่วงวัยอย่างทั่วถึง เร่งแก้ไขปัญหาปากท้อง สร้างรายได้ให้กับประชาชนเพื่อเพียงพอต่อการดำรงชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ต้องขอขอบคุณผู้บริหารและบุคลากรทุกระดับของกระทรวงมหาดไทยที่ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่องในทุกพื้นที่

 

ทั้งนี้ขอมอบนโยบายการดำเนินงานใน 10 ด้าน ได้แก่

1. ให้ความสำคัญกับการปกป้องและเทิดทูนสถาบันหลักของชาติอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยสร้างการรับรู้ให้ประชาชนในพื้นที่ ส่งเสริมการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และสร้างสังคมแห่งการรู้รักสามัคคี รวมทั้งขับเคลื่อนและขยายผลการดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่

 

2. ขับเคลื่อนการปฏิบัติของจิตอาสาอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม โดยขยายผลการดำเนินงานให้ครอบคลุมถึงการดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งสนับสนุนการขับเคลื่อนศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทานทุกระดับ และเน้นย้ำนายอำเภอในการสร้างการรับรู้ภารกิจจิตอาสาต่อกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และกรรมการหมู่บ้าน เพื่อเป็นหลักในการปฏิบัติงานในระดับหมู่บ้าน

 

3. ขับเคลื่อนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในระดับพื้นที่หลังสถานการณ์โควิด-19 ภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน” โดยขอให้จังหวัดดำเนินการแก้ปัญหาที่เป็นความเดือดร้อน/ความจำเป็นเร่งด่วนของจังหวัด ผ่านการบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วนในพื้นที่ให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมและเป็นระบบ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ประชาชน และเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนาประเทศตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและการดำเนินชีวิตวิถีใหม่ (New Normal)

 

4. สนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ให้มีความพร้อมรับมือได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเป็นตามมาตรการที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กำหนด

 

5. ดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในระดับพื้นที่ผ่านการบูรณาการความร่วมมือจากภาคีการพัฒนาต่าง ๆ และต่อยอดสู่การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต ด้วยระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า หรือระบบ TPMAP ให้มีคุณภาพครอบคลุมทุกมิติ และทุกพื้นที่ รวมทั้งประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดตั้งงบประมาณแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 

6. สนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแนวทางการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดจากศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ (ศอ.ปส.) สู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ ทั้งในด้านการป้องกัน ปราบปรามและบังคับใช้กฎหมาย การบำบัดรักษาผู้เสพผู้ติดยาเสพติด และการบริหารจัดการโดยบูรณาการทุกภาคส่วนในพื้นที่

 

7. บูรณาการหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรวมถึงภาคประชาชนและอาสาสมัคร เตรียมความพร้อมรับมือสาธารณภัยที่อาจเกิดขึ้น อาทิ อุทกภัย ภัยแล้ง ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์ รวมทั้งสร้างการรับรู้ประชาชนเกี่ยวกับแนวปฏิบัติการรับรู้ข้อมูลของภาครัฐอย่างถูกต้อง ทั่วถึง


8. ขับเคลื่อนบทบาทศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดและอำเภอให้เป็นกลไกสำคัญในการรับเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยเรื่องร้องเรียนที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ได้ ขอให้รวบรวมและแจ้งรายละเอียดมาที่หน่วยงานส่วนกลางเพื่อพิจารณากำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว

 

9. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอกำชับและติดตามการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของศูนย์บูรณาการและประสานการปฏิบัติงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในระดับพื้นที่อย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน

 

10. ให้ใช้กลไกของกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่ส่วนกลางไปจนถึงระดับพื้นที่ ในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจข้อมูลที่ถูกต้องให้กับประชาชนในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์ผลดำเนินงานสำคัญของรัฐบาลและส่วนราชการ พร้อมป้องกันไม่ให้เกิดข่าวปลอมหรือ Fake News ซึ่งส่งผลกระทบทำให้สังคมเกิดความคลาดเคลื่อนในการรับรู้ข้อเท็จจริง

 

พล.อ.ประวิตร กล่าวเพิ่มเติมว่า มท.เป็นหน่วยงานที่มีความใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนในระดับพื้นที่ มีกลไกเชื่อมโยงถึงพี่น้องประชาชนทั้งในท้องที่และท้องถิ่น จึงขอให้ข้าราชการ พนักงาน บุคลากร ตลอดจนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัคร ทุกคน ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความเสียสละอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชน” นอกจากนี้ ขอให้เร่งขยายผลเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับผลการดำเนินงาน ความก้าวหน้า ผลงาน และขั้นตอนการปฏิบัติต่าง ๆ ให้กับประชาชนได้ทราบ เพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินงานร่วมกับภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง