โควิด-19 : ทำไมผู้หญิงญี่ปุ่นจำนวนมากถึงฆ่าตัวตายช่วงการระบาดใหญ่
โดย รูเพิร์ต วิงฟิลด์-เฮย์ส
ผู้สื่อข่าวบีบีซี กรุงโตเกียว
ญี่ปุ่นมีระบบการเก็บข้อมูลและรายงานกรณีการฆ่าตัวตายที่รวดเร็วและแม่นยำกว่าประเทศไหนในโลก และสถิติการฆ่าตัวตายในช่วงวิกฤตโควิด-19 ของชาวญี่ปุ่นตั้งแต่ปีที่ผ่านมาก็น่ากังวลเป็นพิเศษ
จำนวนคนฆ่าตัวตายในปี 2020 เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี อย่างไรก็ดี ผู้ชายญี่ปุ่นฆ่าตัวตายน้อยลงเล็กน้อย ขณะที่ผู้หญิงฆ่าตัวตายมากขึ้นเกือบ 15%
ในเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว อัตราการฆ่าตัวตายในหมู่ผู้หญิงเพิ่มขึ้นถึง 70% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า
เกิดอะไรขึ้น เหตุใดดูเหมือนว่าโควิด-19 จะส่งผลกระทบกับผู้หญิงญี่ปุ่นมากกว่า
คำเตือน : บทความนี้อาจมีเนื้อหาที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ
การได้พบและพูดคุยกับหญิงสาวที่พยายามฆ่าตัวตายหลายครั้งทำให้ผมรู้สึกแย่ แต่ขณะเดียวกันก็ช่วยให้ยิ่งรู้สึกชื่นชมคนที่ทำงานเพื่อช่วยเหลือคนที่มีปัญหาด้านนี้มากขึ้น
ผมนั่งอยู่ที่ศูนย์ช่วยเหลือขององค์กรการกุศล Bond Project ซึ่งตั้งอยู่ในย่านค้าบริการทางเพศของเมืองโยโกฮามา ผู้หญิงวัย 19 ปี ซึ่งตัดผมบ๊อบสั้น นั่งนิ่งอยู่ตรงข้ามผม
แล้วเธอก็ค่อย ๆ เล่าเรื่องราวส่วนตัวให้ผมฟัง เธอบอกว่าพี่ชายเธอเริ่มล่วงละเมิดเธออย่างรุนแรงตั้งแต่อายุ 15 ปี ในที่สุดเธอหนีออกจากบ้าน แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ความเจ็บปวดและความรู้สึกโดดเดี่ยวจางหายไป
การฆ่าตัวตายดูเป็นทางออกเดียวในตอนนั้น
"จากประมาณช่วงนี้ของปีที่แล้ว ฉันเข้าออกโรงพยาบาลหลายครั้งมาก" เธอเล่า "ฉันพยายามฆ่าตัวตายหลายรอบแต่ไม่สำเร็จ ตอนนี้ฉันคงยอมแพ้ ไม่พยายามที่จะตายแล้ว"
เป็นองค์กรการกุศล Bond Project ที่มาช่วยเธอไว้ได้ พวกเขาหาที่อยู่ที่ปลอดภัยให้เธอและเริ่มให้เธอพูดคุยกับนักจิตบำบัดอย่างเต็มที่
จุน ทาชิบานา ผู้ก่อตั้ง Bond Project เป็นผู้หญิงแกร่งในวัย 40 กว่าที่ชอบมองโลกในแง่ดี
"เวลาเด็กผู้หญิงเจอกับปัญหาและกำลังรู้สึกเจ็บปวด พวกเขาไม่รู้จะทำอย่างไรจริง ๆ เราอยู่ที่นี่ พร้อมที่จะรับฟังและบอกพวกเขาว่า เราอยู่กับพวกเขาตรงนี้"
ทาชิบานา บอกว่า ดูเหมือนโควิด-19 จะยิ่งผลักให้คนที่เปราะบางอยู่แล้วยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ เธอบอกว่าเจ้าหน้าที่องค์กรการกุศลเธอต้องคอยรับฟังเรื่องราวแย่ ๆ มากมาย
"เราได้ยินคนบอกว่า "ฉันอยากจะตาย" และ "ฉันไม่รู้จะไปที่ไหน" บ่อยครั้ง ...พวกเขาบอกว่า "เจ็บปวดมาก ฉันโดดเดี่ยวจนอยากจะหายตัวไปซะเลย"..."
และโรคระบาดก็ยิ่งทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่
"เด็กผู้หญิงที่ฉันคุยด้วยวันก่อนบอกว่าเธอถูกพ่อตัวเองล่วงละเมิดทางเพศ" ทาชิบานา เล่า "และพอเกิดโควิดระบาด พ่อเธอก็ไม่ไปทำงานจึงไม่สามารถหลบหนีไปจากเขาได้เลย"
- โควิด-19 : จน เครียด ฆ่าตัวตาย
- สกัดอย่างไรเมื่อเห็นเพื่อนในเฟซบุ๊กคิดฆ่าตัวตาย? คำแนะนำจากเฟซบุ๊ก
- 10 ประโยคปลอบใจที่อาจอ่อนไหวต่อคนคิดฆ่าตัวตาย
- 2 ปี 14 ครั้ง คือ ความพยายามฆ่าตัวตายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในไทย
แนวโน้มที่แปลกประหลาด
ในวิกฤตครั้งที่ผ่าน ๆ มาของญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2008 หรือต้นทศวรรษ 90 ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายวัยกลางคนที่ได้รับผลกระทบ และเป็นผู้ชายที่ฆ่าตัวตายมากขึ้นในช่วงนั้น
แต่โควิด-19 ส่งผลต่อคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะผู้หญิงมากเป็นพิเศษ แต่เหตุผลในการอธิบายปรากฏการณ์นี้ค่อนข้างจะซับซ้อน
ญี่ปุ่นเคยมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ปรับลดน้อยลงถึงราว 1 ใน 3
ศาสตราจารย์ มิชิโก อูเอดะ ซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิจัยชั้นนำด้านนี้บอกว่า น่าตกใจมากเมื่อดูสถิติในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และแนวโน้มการฆ่าตัวตายในหมู่ผู้หญิงแปลกเป็นพิเศษ
เธอบอกว่าไม่เคยเห็นจำนวนที่เพิ่มมากสูงขนาดนี้มาก่อน "ในการระบาดของโควิด-19 อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดส่วนใหญ่มีผู้หญิงที่ทำงานอยู่ เช่น การท่องเที่ยว ธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจอาหาร"
ผู้หญิงญี่ปุ่นเลือกที่จะครองตัวโสดเพิ่มมากขึ้น และ ศ.อูเอดะ บอกว่า ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะทำอาชีพที่มีความมั่นคงน้อยกว่าด้วย
"ผู้หญิงหลายคนไม่ได้แต่งงานอีกต่อไป ...พวกเขาต้องดูแลชีวิตตัวเอง และพวกเขาก็ไม่มีงานประจำ ดังนั้นเวลาเกิดอะไรขึ้น พวกเขาจะได้รับผลกระทบหนักมาก"
เดือน ต.ค. ปีที่แล้วแย่เป็นพิเศษ มีผู้หญิงฆ่าตัวตายถึง 897 ราย ซึ่งถือว่ามากกว่าเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้าถึง 70%
ย้อนไปวันที่ 27 ก.ย. ปีที่แล้ว นักแสดงชื่อดัง ยูโกะ ทาเคยูชิ ฆ่าตัวตายที่บ้านพัก
ยาซูยุกิ ชิมิซุ อดีตนักข่าวที่ผันตัวมาทำองค์กรไม่แสวงหากำไรเพื่อปัญหาการฆ่าตัวตายโดยเฉพาะ บอกว่า "จากวันที่มีรายงานข่าว มีจำนวนคนฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นและค้างอยู่เช่นนั้นราว 10 วัน"
ชิมิซุ บอกว่า เมื่อดูจากข้อมูลแล้ว การฆ่าตัวตายของนักแสดงดังในวันที่ 27 ก.ย. นำไปสู่การฆ่าตัวตายของผู้หญิงอีก 207 ราย ในช่วง 10 วันต่อมา
และน่าตกใจยิ่งขึ้นไปอีกว่าเป็นกลุ่มผู้หญิงที่อายุใกล้เคียงกับทาเคยูชิ ที่ฆ่าตัวตายมากที่สุด
ผู้เชี่ยวชาญอีกหลายคนบอกว่า มีความเชื่อมโยงกันระหว่างการฆ่าตัวตายของบุคคลมีชื่อเสียงและจำนวนผู้ฆ่าตัวตายที่เพิ่มมากขึ้นทันที
ปรากฏการณ์ลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับญี่ปุ่น และเป็นเรื่องที่รายงานข่าวยาก ยิ่งมีการพูดถึงเรื่องนี้ในสื่อและโซเชียลมีเดียมากเท่าไร ก็ยิ่งส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนที่เปราะบางมากเท่านั้น
ขณะนี้ เรียกได้ว่าญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับการระบาดระลอกที่ 3 และรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ร้านอาหาร บาร์ และโรงแรม ต้องหยุดบริการ และจะยิ่งมีคนตกงานมากขึ้น
ศ.อูเอดะ ตั้งคำถามว่า หากปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในญี่ปุ่นที่ไม่มีมาตรการล็อกดาวน์เข้มงวดมากนัก และมีคนเสียชีวิตจากโรคระบาดน้อย สถานการณ์การฆ่าตัวตายในประเทศอื่นที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดใหญ่มากกว่าจะเป็นอย่างไร
ถ้าคุณต้องการใครสักคนเป็นเพื่อนพูดคุย สามารถโทรไปที่สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย 02-7136793 เวลา 12.00-22.00 น. หรือ สายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 หรือสามารถส่งข้อความไปที่เฟซบุ๊กสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย