รีเซต

ผลศึกษาพบ "โควิดโอไมครอน" ลดภูมิต้านทานจากวัคซีนไฟเซอร์ 41 เท่า

ผลศึกษาพบ "โควิดโอไมครอน" ลดภูมิต้านทานจากวัคซีนไฟเซอร์ 41 เท่า
TNN ช่อง16
8 ธันวาคม 2564 ( 08:55 )
104
ผลศึกษาพบ "โควิดโอไมครอน" ลดภูมิต้านทานจากวัคซีนไฟเซอร์ 41 เท่า

วันนี้ (8 ธ.ค.64) สถาบันวิจัยด้านสุขภาพแอฟริกาในประเทศแอฟริกาใต้ เปิดเผยผลการศึกษาใหม่ล่าสุดว่า โควิด-19 กลายพันธุ์ “โอไมครอน” (Omicron) สามารถหลบรอดได้บางส่วน จากการคุ้มครองที่ได้จากการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัท ไฟเซอร์ (Pfizer) และหุ้นส่วนคือบริษัท ไบออนเทค (BioNtech)

ศาสตราจารย์ อเล็กซ์ ซิกัล หัวหน้านักวิจัยห้องปฏิบัติการแห่งสถาบันวิจัยสุขภาพของแอฟริกาในแอฟริกาใต้ ระบุเมื่อวานนี้ว่า ผลการศึกษาล่าสุดของทางสถาบันฯ พบว่าผลจากวัคซีนที่สามารถกำจัดเชื้อโอไมครอน โดยทำให้เชื้อมีผลเป็นกลางนั้น มีประสิทธิผลลดลงอย่างมาก 

เมื่อเทียบกับผลของวัคซีนที่มีต่อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ก่อนหน้านี้ โดยพบว่า ระดับของแอนติบอดี้ หรือสารภูมิต้านทาน ที่ทำให้โอไมครอนมีผลเป็นกลาง หรือถูกกำจัดไปนั้น ลดลงถึง 41 เท่า

มีตัวอย่างเลือดจากคน 5 คนใน 6 คนเท่านั้น ที่เคยได้รับวัคซีนต้านโควิดของไฟเซอร์มาแล้ว หรือเคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน ที่สามารถกำจัดเชื้อโอไมครอน โดยทำให้เชื้อมีผลเป็นกลางได้

ทั้งนี้ ประเทศแอฟริกาใต้ที่ทำการศึกษาครั้งนี้ เป็นประเทศต้นตอของโอไมครอน โดยประกาศการพบโอไมครอนอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา และองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ระบุว่า โอไมครอนระบาดไปแล้วเกือบ 40 ประเทศใน 6 ทวีปทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ยังเป็นเพียงการศึกษาเบื้องต้นในคนกลุ่มเล็กเท่านั้น โดยเป็นการเก็บตัวอย่างเลือดจากคน 12 คน ที่เคยได้รับการฉีดวัคซีนของไฟเซอร์หรือเคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน 

ศาสตราจารย์ซิกัล ระบุด้วยว่า ตัวเลขการลดลงของระดับแอนติบอดี้ดังกล่าว อาจเปลี่ยนแปลงไปได้อีก หลังจากห้องปฏิบัติการของเขากำลังทำการทดลองในเรื่องนี้เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าระดับของแอนติบอดี้ที่กำจัดเชื้อไวรัสโดยทำให้เชื้อเป็นกลางนั้น จะเป็นตัวชี้วัดถึงการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย แต่ก็เป็นเพียงหนึ่งในตัวชี้วัดเท่านั้น 

นักวิทยาศาสตร์ยังเชื่อว่า นอกจากแอนติบอดี้แล้ว ยังมีเซลล์อย่าง  “B-cell” และ “T-cell” ที่ร่างกายจะถูกกระตุ้นให้สร้างขึ้นมาหลังจากได้รับการฉีดวัคซีน ที่สามารถช่วยคุ้มครองร่างกายจากเชื้อไวรัสโคโรนาได้อีกด้วย ซึ่งโควิด-19 เป็นหนึ่งในไวรัสประเภทไวรัสโคโรนา.


ภาพจาก AFP

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง