รีเซต

ไวรัสโคโรนา : ทำไมอัตราการเสียชีวิตในแต่ละประเทศจึงไม่เท่ากัน

ไวรัสโคโรนา : ทำไมอัตราการเสียชีวิตในแต่ละประเทศจึงไม่เท่ากัน
บีบีซี ไทย
25 มีนาคม 2563 ( 00:15 )
149
1
ไวรัสโคโรนา : ทำไมอัตราการเสียชีวิตในแต่ละประเทศจึงไม่เท่ากัน
Getty Images
เยอรมนีสามารถตรวจเชื้อได้วันละ 2 หมื่นราย และก็ให้คนที่มีอาการเพียงไม่มากเข้ารับการตรวจด้วย

ทีมที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลสหราชอาณาจักรเชื่อว่าอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาอยู่ที่ 0.5-1%

นี่เป็นอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำกว่ากรณีที่คำนวณจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันแล้ว องค์การอนามัยโลกระบุว่าอัตราการตายทั้งโลกอยู่ที่ 5% และ ในสหราชอาณาจักร อยู่ที่ 4% -- เนื่องจากไม่ใช่ผู้ติดเชื้อทุกคนที่จะได้รับการตรวจยืนยัน

แต่ละประเทศมีวิธีพิจารณาไม่เหมือนกันว่าใครจะได้รับการตรวจ ดังนั้นการเปรียบเทียบอัตราการเสียชีวิตระหว่างประเทศต่าง ๆ อาจทำให้เกิดความสับสนเข้าใจผิดได้

นอกจากนี้ อัตราการเสียชีวิตยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นอายุ สุขภาพ และการรักษาพยาบาลที่ประชาชนเข้าถึงได้

ตัวฉันเสี่ยงตายแค่ไหน

คนชราและผู้มีโรคอื่นอยู่แล้วมีแนวโน้มเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไปหากติดเชื้อไวรัสโคโรนา

อิมพีเรียลคอลเลจ ลอนดอน ประเมินว่า อัตราการเสียชีวิตสำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 80 ปีสูงมากกว่าคนในวัยอื่นเกือบ 10 เท่า และอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อที่อายุน้อยกว่า 40 ปีก็ต่ำกว่ามาก

อย่างไรก็ดี ศ. คริส วิตที หัวหน้าที่ปรึกษาด้านการแพทย์ของรัฐบาลสหราชอาณาจักรบอกว่า แม้อัตราการเสียชีวิตจะสูงกว่าสำหรับผู้สูงอายุ แต่ก็จะมีผู้สูงอายุจำนวนมากที่มีแค่อาการป่วยเล็กน้อยหรือปานกลางเท่านั้น

เขายังเตือนอีกด้วยว่า เราไม่ควรคิดว่ามันเป็นแค่อาการติดเชื้อเล็กน้อยสำหรับคนวัยหนุ่มสาว เพราะก็มีบางคนที่อาการเข้าขั้นสาหัส เพราะฉะนั้นอายุไม่ใช่เพียงปัจจัยเดียว

Getty Images

จากผลวิเคราะห์ครั้งใหญ่ครั้งแรกจากกรณีการติดเชื้อ 44,000 รายในจีน คนที่เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง มีปัญหาด้านหัวใจและการหายใจ มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าคนอื่นอย่างน้อย 5 เท่า

ปัจจัยเหล่านี้มีผลซึ่งกันและกัน แต่เรายังไม่มีข้อมูลมากพอที่จะสรุปอะไรได้มากไปกว่านี้

อัตราการตายจากตัวเลขยืนยันผู้ติดเชื้อไม่ใช่อัตราการตายโดยรวม

การติดเชื้อหลายกรณีไม่ได้มีการนับเป็นตัวเลขยืนยัน เพราะว่าคนมักไม่ไปหาหมอถ้ามีอาการเพียงเล็กน้อย

วันที่ 17 มี.ค. เซอร์แพทริก วัลแลนซ์ หัวหน้าที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลสหราชอาณาจักร ประเมินว่ามีผู้ติดเชื้อราว 55,000 รายในสหราชอาณาจักร แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันยังไม่ถึง 2,000 ราย

การเอาจำนวนผู้เสียชีวิตไปหารกับเลข 2,000 ก็จะได้ตัวเลขอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าเอาไปหาร 55,000 เป็นธรรมดา

Getty Images
จากผลวิเคราะห์กรณีการติดเชื้อ 44,000 รายในจีน คนที่เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง มีปัญหาด้านหัวใจและการหายใจ มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าคนอื่นอย่างน้อย 5 เท่า

นี่เป็นเหตุผลว่าอัตราการเสียชีวิตที่คิดจากตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันแล้วไม่ได้สะท้อนอัตราการเสียชีวิตที่แท้จริง

ในทางกลับกัน จะเกิดความสับสนด้วยเช่นกัน หากเราไม่นำจำนวนผู้ที่ติดเชื้ออยู่และจะเสียชีวิตในภายหลังมาคำนวณด้วย

ทำไมอัตราการเสียชีวิตในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน

งานวิจัยโดยอิมพีเรียลคอลเลจพบว่า แต่ละประเทศมีความสามารถที่จะตรวจหาผู้ติดเชื้อไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ แต่ละประเทศก็ใช้วิธีการทดสอบไม่เหมือนกัน และเกณฑ์ว่าใครจะได้ตรวจก็ต่างกันไปอีก ปัจจัยเหล่านี้เปลี่ยนไปตลอดเวลา

รัฐบาลสหราชอาณาจักรตั้งใจว่าจะเริ่มทำการตรวจให้ได้ 1 หมื่นรายต่อวัน แต่ตั้งเป้าตรวจให้ได้ 25,000 รายภายใน 4 สัปดาห์ ตอนนี้ยังจำกัดการตรวจให้คนที่อยู่ในโรงพยาบาลเท่านั้น

ด้านเยอรมนีสามารถตรวจได้วันละ 20,000 ราย และก็ให้คนที่มีอาการเพียงเล็กน้อยเข้ารับการตรวจด้วย

อัตราการเสียชีวิตในเยอรมนีอยู่ที่น้อยกว่า 0.5% ซึ่งต่ำที่สุดประเทศหนึ่งในยุโรป แต่ก็คาดว่าจะสูงขึ้นเมื่อคนไข้ที่ได้มาตรวจมีความหลากหลายมากขึ้น

นอกจากนี้ ตัวเลขอัตราการเสียชีวิตก็จะขึ้นอยู่กับระยะการระบาดของโรคด้วย

หากระบบสาธารณสุขต้องช่วยเหลือคนจำนวนมาก ห้องฉุกเฉินไม่สามารถรับคนไข้ที่ต้องการเครื่องช่วยหายใจไหว อัตราการเสียชีวิตก็จะสูงขี้น

Getty Images

นักวิทยาศาสตร์หาอัตราการเสียชีวิตที่แท้จริงได้อย่างไร

นักวิทยาศาสตร์คิดอัตราการเสียชีวิตเป็นภาพใหญ่ ๆ ด้วยการดูหลักฐานที่เป็นผลมาจากปัจจัยต่าง ๆ ที่ว่ามานี้

ยกตัวอย่างเช่น พวกเขาประเมินสัดส่วนของคนไข้ที่มีอาการป่วยเบา ๆ จากคนกลุ่มเล็ก ๆ อย่างเช่น กลุ่มคนที่นั่งเครื่องบินกลับประเทศบ้านเกิด ซึ่งได้รับการสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด

แต่เมื่อหลักฐานที่พบเปลี่ยน ภาพใหญ่ ๆ ที่มีก็จะเปลี่ยนตามไปด้วย และมันจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป

พอล ฮันเตอร์ จากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย บอกว่า อัตราการเสียชีวิตขึ้นและลงได้ตลอด เขายกตัวอย่างกรณีโรคอีโบลาที่ อัตราการเสียชีวิตต่ำลงเมื่อการรักษาโรคมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่อัตราดังกล่าวก็สูงขึ้นได้อีกเมื่อระบบสาธารณสุขรับไม่ไหว

ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงจะให้ทั้งตัวเลขที่สูงกว่าและต่ำกว่า พร้อมกับให้ตัวเลขประเมินที่คาดว่าใกล้เคียงที่สุดไปด้วย

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง