รีเซต

โอไมครอน โผล่อีก 2 ราย ผ่านเข้าไทยตั้งแต่ 24 พ.ย. สธ.ย้ำผ่านกักตัวไม่ต้องกังวล

โอไมครอน โผล่อีก 2 ราย ผ่านเข้าไทยตั้งแต่ 24 พ.ย. สธ.ย้ำผ่านกักตัวไม่ต้องกังวล
ข่าวสด
8 ธันวาคม 2564 ( 13:30 )
40
โอไมครอน โผล่อีก 2 ราย ผ่านเข้าไทยตั้งแต่ 24 พ.ย. สธ.ย้ำผ่านกักตัวไม่ต้องกังวล

สธ.แจงเจอ 2 หญิงไทยติดเชื้อโอไมครอน หลังจากนำตัวอย่างเชื้อที่พบในผู้เดินทางเข้าประเทศก่อน 24 พ.ย. มาตรวจรหัสพันธุกรรม ย้ำไม่ต้องกังวล เพราะเข้าระบบกักตัว รักษาจนไม่มีเชื้อถึงกลับบ้าน คาดติดจากร่วมกิจกรรมที่ไนจีเรีย

 

เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมผู้บริหาร สธ. ว่า การประชุมวันนี้ไม่ได้มีข้อสั่งการอะไรเป็นพิเศษ ส่วนความกรณีชายอเมริกันเดินทางมาจากประเทศสเปน ผ่านดูไบ ติดเชื้อโอไมครอนอยู่ในการดูแลรักษาและขยายผลผู้สัมผัสใกล้ชิดมาอยู่ในการควบคุม ทุกอย่างเป็นไปตามความคาดหมาย เป็นไปตามผลของการวางมาตรการคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศ ไม่มีสิ่งใดต้องตระหนกหรือกังวลเกินไป ส่วนรายอื่นขอให้อธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นผู้ให้ข้อมูล

 

นายอนุทิน กล่าวว่า คนที่ได้รับวัคซีนที่รัฐจัดให้น่าจะมีภูมิคุ้มกันที่ป้องกันโรคโควิด 19 ได้ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ใด ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการควบคุมป้องกันโรค วันนี้ไทยฉีดวัคซีนแล้ว 90 กว่าล้านเข็ม พบว่ามีประสิทธิผลตามข้อมูลการแพทย์ในการลดอาการป่วยหนักและเสียชีวิต จากนี้ถึงเวลาฉีดบูสเตอร์โดสแล้ว แม้แต่คนที่ได้รับแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มเมื่อ ส.ค. ก็ถึงเวลาที่ต้องฉีดกระตุ้น

 

นายอนุทิน กล่าวว่า การเข้าประเทศมีมาตรการว่าคนที่จะเข้ามาต้องทำ RT-PCR 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง ฉีดวัคซีนและมีใบรับรอง เมื่อมาถึงก็ต้องทำ RT-PCR อีกครั้ง เข้าระบบ test & go และ Thailand Pass ซึ่งวันนี้เป็นสัปดาห์ที่ 6 แล้วตั้งแต่เปิดประเทศ ยังไม่มีปัญหาอะไรที่น่ากังวล การที่คนได้รับวัคซีนจำนวนมากและอาจมีการใกล้ชิดกันบ้าง อาจมีการรวมกลุ่มคนมากขึ้น แต่ยังไม่มีรายงานว่าจะมีอันตรายเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันตรงนั้นหากทุกคนได้รับวัคซีนแล้ว แต่สิ่งที่ยังไม่อยากให้ทำอยู่คือการรวมกลุ่มขนาดใหญ่เป็นเวลานานโดยไม่ใส่หน้ากาก การใช้ภาชนะในการรับประทานอาหาร เครื่องดื่มร่วมกัน ซึ่งถือเป็นสิ่งอันตราย หากเลี่ยงได้ก็จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาที่น่าสะพรึงกลัว

 

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการพบผู้ติดเชื้อโอไมครอนเพิ่มเติมในไทย ว่า เกิดจากมาตรการเฝ้าระวังคัดกรองการกลายพันธุ์โควิดในไทย ตามที่องค์การอนามัยโลกประกาศให้โอไมครอนเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล เมื่อวันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา เราได้รับข้อมูลจากหลายประเทศรวมถึงยุโรปที่นำผู้ติดเชื้อเดิมไปถอดรหัสพันธุกรรมก็เจอโอไมครอนมาตั้งแต่ต้น พ.ย.หรือก่อนหน้าแล้ว

 

ไทยจึงนำเอาเชื้อของผู้ที่เข้าประเทศไทยผ่านระบบกักตัวที่เดินทางเข้ามาก่อน 24 พ.ย. ที่มีผลตรวจ RT-PCR เป็นบวกไปตรวจซ้ำ เพื่อถอดรหัสพันธุกรรมทุกราย พบว่ามี 2 รายที่ติดเชื้อโอไมครอน

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า ข้อมูลรายละเอียดของการถอดรหัสพันธุกรรม ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำลังสรุปผล 100% ส่วนข้อมูลผู้ติดเชื้อเบื้องต้นเป็นหญิงไทย 2 ราย อายุ 36 และ 46 ปี คาดว่าเดินทางไปร่วมกิจกรรมทางศาสนาที่ประเทศไนจีเรีย หลังจากนั้นกลับมาประเทศไทยด้วยกัน ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย.ผ่านระบบกักตัว ผลตรวจ RT-PCR เป็นบวก เข้ารับการรักษาตามปกติ ทั้ง 2 รายอาการน้อย ได้รับการดูแลจนไม่มีเชื้อ ไม่สามารถแพร่ต่อให้ใครได้ แพทย์จึงอนุญาตให้กลับบ้าน ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล เนื่องจากทั้ง 2 รายได้รับการรักษาแล้ว

 

“ข้อมูลที่ผู้เชี่ยวชาญเห็นตรงกันว่า ความรุนแรงของโอไมครอนค่อนข้างต่ำ องค์การอนามัยโลกยืนยันว่ายังไม่มีผู้เสียชีวิตจากโอไมครอนแม้แต่รายเดียว ข้อมูลทุกอย่างต้องผ่านการวิเคราะห์ให้รอบด้าน ไม่สามารถเอาข้อมูลเดียวมาบอกได้ ซึ่ง สธ.จะแจ้งให้ประชาชนทราบต่อไป” นพ.โอภาส กล่าว

 

เมื่อถามว่าผู้ติดเชื้อโอไมครอน 2 รายนี้มีประวัติฉีดวัคซีนแล้วหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า เบื้องต้นมีประวัติฉีด แต่ฉีดอะไรต้องไปทวนอีกครั้ง แต่สิ่งที่ต้องเตือนคือ จากข้อมูล 2 รายนี้ให้ประวัติมาว่าเข้าร่วมกิจกรรมในประเทศไนจีเรีย ไม่ค่อยสวมหน้ากาก ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง อย่างไรก็ตาม คนไทยเมื่ออยู่ในประเทศ สวมหน้ากากดีมาก แต่หากไปอยู่ต่างประเทศอย่าเผลอ เพราะหลายประเทศไม่สวมหน้ากาก ดังนั้น เราต้องพยายามสวมให้มากที่สุด ไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกประเทศ

 

เมื่อถามว่ามีลักษณะเช่นนี้อีกกี่ราย นพ.โอภาส กล่าวว่า แม้จะมีกี่รายเราก็ไม่ต้องกังวล เพราะในระบบ Test&go มีระบบตรวจสอบคือ ผู้เดินทางต้องฉีดวัคซีนครบ ตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทางใน 72 ชั่วโมง เมื่อเดินทางเข้ามาถึงก็ตรวจซ้ำ สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนไม่ครบหรือไม่ได้ตรวจ RT-PCR มาก็ต้องเข้าระบบกักตัว

 

ถามต่อว่า ขณะนี้มีคนไทยในทวีปแอฟริกาต้องการเดินทางกลับมากน้อยเท่าไร นพ.โอภาส กล่าวว่า รอการประสานจากกระทรวงการต่างประเทศอยู่ ซึ่งเราพร้อมให้บริการคนไทยที่ต้องการเดินทางกลับ แต่ข้อมูลที่รับรายงานพบว่าส่วนใหญ่ไม่ประสงค์กลับ เพราะรู้สึกว่าโอไมครอนไม่น่ากลัวแล้ว เชื่อว่าความกังวลโอไมครอนน่าจะลดน้อยลงทั่วโลก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง