การศึกษาในสถานการณ์ปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงไปจากยุคสมัยที่ผ่านมาอย่างมากมาย ประกอบกับการที่ต้องอยู่ร่วมกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตลอดหลายปีที่ผ่านมายิ่งเพิ่มความยากลำบากมากขึ้นเป็นทวีคูณ ทั้งต่อครูผู้ทำหน้าที่จัดการเรียนการสอนเอง ที่ส่งผลโดยตรงอย่างมากต่อตัวผู้เรียน และผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้เรียนที่ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่ต่างก็มีความห่วงกังวลต่อการเรียนของบุตรหลานว่าจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด ผลสัมฤทธิ์จะเป็นไปในทิศทางใด จากเดิมที่ลูกอาจมีแนวโน้มว่าจะเรียนรู้ได้ดี มีความขยันตั้งใจเรียน เมื่อต้องมาปรับตัวกับสถานการณ์การเรียนแบบออนไลน์ผ่านเครื่องมือสื่อสารรูปแบบต่าง ๆ การเรียนของเด็ก ๆ จะเป็นอย่างไรประเด็นที่จะนำมาฝากกันในวันนี้มุ่งไปที่เรื่องการอ่านของเด็ก ๆ ในวัยประถมศึกษาตอนต้น ที่ต่อเนื่องจากระดับปฐมวัย ซึ่งตามปกติการอ่านของเด็กวัยนี้ควรเริ่มอ่านออกจนถึงอ่านได้คล่องแล้วในเด็กบางคน แต่ก็ยังพบว่ามีเด็กในวัยประถมศึกษาบางคนที่ยังอ่านไม่คล่อง หรือบางคนอาจยังอ่านไม่ออกโดยคุณครูจะมีข้อมูลจากการบันทึกผลการประเมินพัฒนาการของผู้เรียนจากระดับปฐมวัยส่งต่อมายังคุณครูในระดับประถมศึกษา นอกเหนือจากที่รายงานผลให้ผู้ปกครองได้ทราบแล้ว คุณครูในระดับประถมศึกษาเป็นผู้รับหน้าที่พัฒนาต่อเพื่อให้เกิดทักษะการอ่านให้เด็ก ๆ อ่านออก อ่านได้คล่องต่อไป กรณีดังกล่าวย่อมสร้างความกังวลใจให้กับผู้เป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง อยู่ไม่น้อยภาพที่นำมาฝากเป็นภาพเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ปีการศึกษา 2562 ผู้เขียนเป็นครูประจำชั้น เด็กสามารถอ่านหนังสือที่เป็นบทร้อยกรองได้ในระดับดีถึงดีมากทุกคน เนื่องจากได้ผ่านกระบวนการจัดการเรียนการสอนอ่านแบบ Brain - Based Learning หรือเรียกสั้น ๆ ว่า BBL อย่างต่อเนื่องจากระดับปฐมวัยที่จัดว่าเป็นวัยเริ่มต้นของการเรียนรู้และฝึกฝนการอ่าน เมื่อมาถึงวัยประถมศึกษาตอนต้น เด็กต้องได้รับการฝึกฝนต่อเนื่อง ทักษะการอ่านของเด็ก ๆ จึงจะพัฒนาไปสู่การอ่านออก อ่านคล่องในที่สุด ผู้เขียนจึงอยากนำเทคนิควิธีการช่วยให้เด็ก ๆ ได้มีโอกาสไปถึงจุดของการอ่านได้คล่องมาเล่าสู่กันฟังเพื่อให้ผู้เป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง สามารถนำไปช่วยฝึกฝนกับเด็ก ๆ ขณะอยู่ที่บ้านเป็นการช่วยเสริมอีกทางด้วยการสอนอ่านแบบ BBL คุณครูเค้ามีวิธีการอย่างไร และพ่อแม่ ผู้ปกครอง จะมีบทบาทในการช่วยเหลือเด็กให้ประสบความสำเร็จไปสู่การอ่านคล่องได้อย่างไร วันนี้ผู้เขียนมีคำตอบ มีวิธีการมาบอกเล่ากัน เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านที่มีบุตรหลานอยู่ในวัยไล่เลี่ยกับที่กล่าวมา โดยเฉพาะผู้ปกครองที่มีบุตรหลาน และคุณครูที่มีลูกศิษย์ที่ยังอ่านไม่ออก อ่านไม่คล่อง มาให้ติดตามและลองนำไปใช้กันเทคนิคการสอนอ่านแบบ BBL ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบสำคัญ คือ1. การเลือกหนังสือสำหรับเริ่มต้นการสอนอ่าน2. วิธีการสอนอ่าน3. การตอบคำถามจากเรื่องที่อ่าน4. กิจกรรมหลังการอ่าน5. ความต่อเนื่องของการอ่านเรามาดูทีละองค์ประกอบกันเลย เริ่มจาก 1. การเลือกหนังสือสำหรับเริ่มต้นการสอนอ่าน ซึ่งจัดเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากเนื่องจากเป็นสิ่งแรกที่จะสร้างจุดสนใจให้เกิดขึ้นกับเด็ก ๆ ลูกหลานของเรา ให้โฟกัสจุดสนใจมายังสิ่งที่ครู ผู้ปกครอง กำลังนำมาอ่านให้ฟัง หนังสือที่เลือกควรมีลักษะน่าสนใจ เป็นเรื่องที่เหมาะสมสอดคล้องกับวัยผู้เรียน ขนาดของตัวหนังสือ ขนาดและสีสันของภาพ ล้วนมีส่วนสำคัญในการสร้างความสนใจ กระตุ้นให้อยากติดตาม ที่สามารถนำไปสู่การอยากอ่านและอ่านได้ในที่สุด 2. วิธีการสอนอ่าน สำหรับกระบวนการในการสอนอ่านแบบ BBL คุณครูผู้สอนภาษาไทยจะเริ่มจาก การอ่านให้ฟัง ก่อนที่จะไปถึงการสอนอ่าน หลังจากการเลือกหนังสือได้เรื่องที่จะนำอ่านใช้ในการอ่านให้ฟังได้แล้ว ในขั้นตอนนี้คุณครูจะรวบรวมเด็กให้เข้ามานั่งรวมกันที่บริเวณหนึ่งในห้องเรียน เพื่อให้จุดสนใจอยู่ที่หนังสือที่ครูจะอ่าน ไม่วอกแวกไปสนใจสิ่งอื่นรอบ ๆ ตัว อาจเป็นพื้นที่ว่างบริเวณหน้าชั้นเรียน หรือในมุมอ่านของห้องเรียน ถ้าเป็นผู้ปกครองสอนอ่านที่บ้านก็เลือกมุมหรือบริเวณที่จะช่วยให้ลูก ๆ สนใจแต่สิ่งที่ผู้ปกครองกำลังจะอ่านให้ฟัง ไม่ควรมีจุดสนใจอย่างอื่นมารบกวนได้การเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มการอ่านให้ฟัง นอกเหนือจาการเลือกมุมที่เหมาะสมแล้ว การเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มการอ่านให้ฟัง ก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน เนื่องจากเด็กอาจยังไม่พร้อมที่จะรับการเรียนรู้ สมาธิอาจจะยังไม่มุ่งมาที่หนังสือที่ครูกำลังจะอ่าน จึงต้องมีกิจกรรมก่อนการอ่านที่เรียกว่า Brain Gym คือการบริหารสมองก่อนเรียน เป็นการกระตุ้นสมองให้ตื่นตัวพร้อมรับการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่คุณครูกำลังนำมาสอน ดังนั้น Brain Gym จึงสามารถใช้ได้กับทุกกิจกรรมการเรียนรู้ ทุกวิชาที่คุณครู หรือพ่อแม่ ผู้ปกครอง จะสอนเด็ก ๆ นั่นเอง ตัวอย่างในภาพ ผู้เขียนกำลังนำเด็ก ๆ ให้เคลื่อนไหวร่างกายในท่านั่งใช้เพียงมือ แขน แตะสลับไขว้ซ้ายขวา เพื่อกระตุ้นสมองให้เรียนรู้ได้ดีตามทฤษฎีของ BBL กิจกรรมนี้เรียกว่า "ปรบมือ 14 จังหวะ" "ปรบมือ 14 จังหวะ" มีวิธีปฏิบัติง่าย ๆ คือ ขณะที่ครูนับ 1 ถึง 14 มือจะทำท่าทางประกอบจังหวะที่นับทั้ง 1 ถึง 14 ไปพร้อมกัน ดังนี้ เริ่มจากมือวางตักบนเข่าทั้งสองข้าง นับ 1, 2 มือตบตัก 2 ครั้งพร้อมกับการนับ ต่อมานับ 3, 4 พร้อมกับยกมือจากตักแล้วคว่ำมือลงขนานกับพื้น แล้วสลับมือสองข้างซ้อนกันบนล่างสลับกันระหว่างที่นับสามและสี่ จากนั้นนับต่อ 5, 6 พร้อมกำมือเป็นกำปั้นซ้อนกันขณะนับห้า และสลับบนล่างขณะนับหก ต่อมานับ 7, 8 พร้อมกับย้ายกำปั้นไปรอบใต้ข้อศอกที่ตั้งขึ้น สลับย้ายข้างเป็นซ้าย ขวา ระหว่างการนับเจ็ดและแปด ต่อมาเมื่อนับ 9, 10 มือจะเปลี่ยนจากกำปั้นใต้ศอก มาเป็นใช้นิ้วชี้ทั้งสองข้างแตะโดยไขว้มือแตะที่แก้มทั้งสองข้างสลับกัน ระหว่างนับเก้าและสิบ หลังจากนั้นเมื่อนับ 11, 12 มือจะเปลี่ยนจากแตะแก้มสลับสองข้าง มาเป็นแตะหน้าผากสลับกับคางแทนโดยทำระหว่างนับสิบเอ็ดและสิบสอง ท่าสุดท้ายเหยียดแขนตรงไปข้างหน้าพร้อมกำมือสลับกับแบมือพร้อมกับนับ 13 และ 14 ก็เป็นอันครบจบท่าของกิจกรรม "ปรบมือ 14 จังหวะ" ผู้อ่านลองทำตามดูแล้วนำไปฝึกเด็ก ๆ ก่อนเรียนก่อนทำกิจกรรมที่ต้องการให้สมองเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพได้เลย ติดขัดอย่างไรสอบถามมาทางผู้เขียนได้นะ กิจกรรมการอ่านให้ฟัง แบบ BBL มาถึงการอ่านให้ฟัง มีวิธีการแบบย่อ ๆ ดังนี้ เริ่มจากการชวนให้ดูชื่อเรื่อง ภาพที่ปกหนังสือ แนะนำชื่อผู้แต่ง ผู้วาดภาพประกอบเรื่อง จากนั้นเปิดให้ดูภาพภายในเรื่องไปทีละหน้าอย่างช้า ๆ โดยยังไม่ต้องอ่านเรื่อง จูงใจให้เด็ก ๆ มองเห็นภาพและคาดเดาเรื่องราวตั้งแต่ต้นจนจบเล่ม จากนั้นจึงกลับมาเริ่มอ่านที่หน้าแรกของเรื่อง โดยใช้วิธีการอ่านช้าๆ ชัด ๆ พร้อมกับใช้นิ้วมือชี้ไปตามตัวหนังสือขณะอ่าน ให้เด็ก ๆ สามารถมองเห็นตัวหนังสือเหล่านั้นไปพร้อม ๆ กับการได้ฟังเสียงอ่านจากคุณครู หรือผู้ปกครอง อาจมีหยุดซักถามบางช่วงของการอ่านเรื่อง หรืออ่านต่อเนื่องจนจบเรื่องก่อนแล้วค่อยเริ่มคำถามก็ได้3. การตอบคำถามจากเรื่องที่อ่าน หลังจากการอ่านให้ฟังจบลง คุณครู ผู้ปกครอง ควรมีคำถามชวนให้เด็ก ๆ ได้ตอบเพื่อให้ทราบว่าการฟังของเด็ก ๆ มีประสิทธิภาพเพียงใด สามารถจับใจความของเรื่องที่ฟังได้หรือไม่ โดยคำถามควรเกี่ยวข้องกับเรื่องครอบคลุมคำตอบให้ทราบได้ว่า มีใครในเรื่องบ้าง ทำอะไร เหตุการณ์เกิดขึ้นที่ไหน มีเหตุการณ์สำคัญอะไรบ้าง รวมถึงคำถามที่ให้เด็กตอบจากความรู้สึก ความคิดเห็น ที่สามารถตอบได้หลากหลาย เช่นการถามความคิดเห็นจากการกระทำของตัวละครในเรื่อง การให้เหตุผลประกอบความคิดเห็นของตนเอง การบอกข้อคิดที่ได้จากเรื่อง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะมีผลในการสร้างความสนใจ ภูมิใจ เกิดความรู้สึกสนุกในการเรียนเมื่อเด็กสามารถตอบคำถามได้ คุณครูต้องพยายามให้เด็กทุกคนได้มีโอกาสในการตอบอย่างทั่วถึงด้วย4. การทำกิจกรรมหลังการอ่าน หลังจากที่เด็ก ๆ ได้ฟังเรื่อง ทำความเข้าใจ สามารถตอบคำถามได้ เด็กหลายคนอาจมีความต้องการอยากอ่านเรื่องนั้นอีกครั้งด้วยความสนใจ คุณครู ผู้ปกครองต้องไม่รอช้าที่จะอ่านซ้ำอีกครั้งให้เด็กฟัง โดยการอ่านครั้งนี้อาจทำได้หลายวิธี คือ การอ่านให้ฟังอีกครั้งเหมือนกับการอ่านในรอบแรก หรือเป็นการอ่านนำแล้วให้เด็กอ่านตามทีละประโยค โดยมีหนังสือคนละหนึ่งเล่มซึ่งปกติในชั้นเรียนของคุณครูจะมีหนังสือจำนวนเพียงพออยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นที่บ้านผู้ปกครองอาจใช้วิธีอ่านโดยดูไปด้วยกันในเล่มเดียวกันก็ได้ หลังจากอ่านรอบที่สองจบลงกิจกรรมที่อยากแนะนำให้เด็ก ๆ ได้ทำ คือ การให้เด็กเลือกวาดภาพที่ประทับใจจากเรื่อง พร้อมกับเขียนความรู้สึก หรือเขียนข้อคิดที่ได้จากเรื่องลงใต้ภาพ และให้เด็กตกแต่งระบายสีได้ตามชอบใจ ผลงานของเด็กควรได้รับการชื่นชม และนำติดแสดงไว้ให้เด็กได้มองเห็นชัดเจน ซึ่งในชั้นเรียนเด็กจะมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผลงานของเพื่อน ๆ ช่วยให้เกิดการพัฒนาในการสร้างงานครั้งต่อ ๆ ไปของเด็ก ๆ ด้วย5. ความต่อเนื่องของการอ่าน เมื่อคุณครู พ่อแม่ ผู้ปกครองได้ทำกิจกรรมการสอนอ่านครบทั้ง 4 องค์ประกอบที่กล่าวมาแล้ว ผลที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาไปสู่การอ่านออก อ่านเก่ง จนถึงอ่านคล่องนั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในครั้งเดียว ความต่อเนื่องของการอ่าน เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่มีความสำคัญในการช่วยให้การอ่านของเด็กประสบความสำเร็จและพัฒนาสู่การอ่านออก อ่านเก่ง อ่านคล่อง รวมไปถึงการมีนิสัยรักการอ่านได้ เด็กต้องได้รับการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ดังที่คุณครูผู้สอนภาษาไทยในโรงเรียนของเด็ก ๆ กระทำอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกสัปดาห์ คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง ที่ต้องการช่วยก็ควรมองหาหนังสือเรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจเหมาะกับวัยของบุตรหลาน มาไว้ฝึกอ่านกันบ่อย ๆ ก็จะช่วยให้ได้รับทั้งความบันเทิง ความใกล้ชิด ความรักความอบอุ่นในครอบครัวก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีพลังอย่างมากในการช่วยเหลือเด็ก ๆ ให้มีกำลังใจในการพัฒนาตนเองให้เก่งยิ่ง ๆ ขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ของชีวิตการเรียนที่เป็นแบบ New Normal ของเด็กในปัจจุบันให้ดีที่สุด เรามาเป็นกำลังใจให้เด็ก ๆ ลูกหลานของเราให้เติบโตอย่างเข้มแข็งกัน ขอขอบคุณ : เทคนิคภาพปกจาก canva / ภาพทุกภาพเป็นของผู้เขียนเอง T.Panneeเปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !