รีเซต

โควิดคร่าชีวิตกว่า 5 ล้านคนทั่วโลก แต่ WHO เตือนอาจตายจริง 17 ล้านคน

โควิดคร่าชีวิตกว่า 5 ล้านคนทั่วโลก แต่ WHO เตือนอาจตายจริง 17 ล้านคน
TNN ช่อง16
1 พฤศจิกายน 2564 ( 14:58 )
51
โควิดคร่าชีวิตกว่า 5 ล้านคนทั่วโลก แต่ WHO เตือนอาจตายจริง 17 ล้านคน

เวปไซต์ Worldometers รายงานยอดผู้เสียชีวิตทั่วโลกวันนี้ (1 พฤศจิกายน) ทะลุเกิน 5 ล้านคนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากจากหลายประเทศทั่วโลก กลับมองว่านี่ยังไม่ใช่ตัวเลขที่แท้จริง


◾◾◾

🔴 อาจเสียชีวิตจริงกว่า 17 ล้านคน


องค์การอนามัยโลก หรือ WHO เคยเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า ประมาณการตัวเลขผู้เสียชีวิตที่แท้จริง อาจสูงกว่ายอดที่รายงานอย่างเป็นทางการ 2-3 เท่าตัว เนื่องจากยังพบว่ามีการเสียชีวิตส่วนเกินที่เชื่อมโยงกับ "โควิด-19" อีกมาก


วารสาร Economist เปิดเผยว่า จากการดูข้อมูล "การเสียชีวิตส่วนเกิน" พบว่า อาจมีผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 สูงถึง 17 ล้านคนแล้ว


ศาสตราจารย์อาร์โนลด์ ฟอนทาเน็ต ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดแห่งสถาบันปาสเตอร์ ระบุว่า "ตัวเลขนี้ค่อนข้างน่าเชื่อถือสำหรับเขา"


ถึงแม้ว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ยังนับว่าน้อยกว่าการระบาดครั้งก่อน อย่าง "ไข้หวัดสเปน" ที่เกิดจากไวรัสอีกชนิด ในช่วงปี 1918-1919 ที่คร่าชีวิตผู้คนไประหว่าง 50-100 ล้านคน


หรือแม้แต่โรคเอดส์ ที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 36 ล้านคน ตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา


แต่ฌอง คล๊อด แมนูเกฮาร์ นักไวรัสวิทยาแห่งสถาบันปาสเตอร์ของฝรั่งเศสชี้ว่า ต้องยอมรับว่า โควิด-19 "เป็นต้นตอการเสียชีวิตของผู้คนหลายล้านคนในระยะเวลาอันแสนสั้น"


"และมันอาจจะรุนแรงมากกว่านี้ หากไร้ซึ่งมาตรการควบคุม โดยเฉพาะข้อจำกัดต่าง ๆ รวมถึงการเดินทาง ตลอดจนเรื่องการฉีดวัคซีน


◾◾◾

🔴 การระบาดถึงจุดสูงสุดหรือยัง?


ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันฟอนทาเน็ต อธิบายว่า การระบาดของไวรัส ปกติแล้วจะเกิดขึ้น 2 ระยะ (2 phases)


1. "ระยะของการระเบิด" เมื่อไวรัสแพร่ะกระจายสู่ประชาชนที่ไม่เคยสัมผัสมันมาก่อน


2. "ระยะของการตกลง" เมื่อเริ่มมีการสร้าง 'ภูมิคุ้มกัน' มากขึ้น และจะนำมาสู่ endemic หรือการสิ้นสุดการระบาด


แต่สำหรับ "โควิด-19" นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ใหญ่ ที่จำเป็นต้องมีการเร่งมือในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในระดับโลก ระหว่าง 2 ระยะดังกล่าว" และจำเป็นต้องเร่งเครื่องการฉีดวัคซีนโดยเร็ว เพื่อให้ประชาชนสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อสู้กับไวรัสโดยเร็ว ซึ่งเราใช้เวลาราว 18 เดือน จากระยะเวลาปกติที่ต้องใช้นานกว่า 3-5 ปี และจะต้องพบผู้เสียชีวิตมากกว่านี้อีกมาก


นั่นคือเหตุผลที่ทำให้เราต้องเร่งเครื่องอย่างหนักในเรื่องการฉีดวัคซีนในขั้นถัดไป


"เราอาจยังอยู่ห่างจากช่วงเวลาแห่งความปลอดภัยอีกนานหลายเดือน ปัญหาคือ...เรายังแข็งแรงเพียงพอหรือไม่?”


“เพราะไวรัสจะยังคงวนเวียนอยู่ในอากาศ ดังนั้น เป้าหมายในวันนี้ ไม่ใช่การ 'กำจัดไวรัส' หากแต่เป็นการ 'ปกป้องทุกคน' “ ฟอนทาเน็ต ระบุ


◾◾◾

🔴 โควิด-19 ในแต่ละประเทศจะเป็นอย่างไร?


ฟอนทาเน็ต ระบุว่า สำหรับประเทศชั้นนำด้านอุตสาหกรรม เชื่อว่าอีกไม่นาน โควิด-19 จะกลายมาเป็นโรคประจำถิ่น ที่อาจมีความรุนแรงมากกว่าไข้หวัดใหญ่ในช่วงขวบปีแรก ก่อนที่สุดท้าย มันก็จะกลายเป็นโรคที่มีความรุนแรงลดลง เนื่องจากอัตราการฉีดวัคซีนที่เป็นไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง เช่นเดียวกับจีนและอินเดีย ที่มีการฉีดวัคีนเป็นวงกว้าง


แต่ในพื้นที่ส่วนอื่นของโลก อาจต้องใช้เวลานานกว่านี้ เมื่อวัคซีนยังไม่ทั่วถึงมากนัก โดยเฉพาะในแถบแอฟริกา


ส่วนประเทศที่เคยใช้แนวทาง "โควิดเป็นศูนย์" หรือ zero-Covid เพื่อหวังกำจัดไวรัสให้หมด ก็จะพบกับความล้มเหลว เนื่องจากธรรมชาติของไวรัสตัวนี้ โดยเฉพาะไวรัสกลายพันธุ์ “Delta” ที่สามารถแพร่เชื้อได้เป็นวงกว้าง


ขณะที่ตัวอย่างที่น่าสนใจแถบยุโรปตะวันตก คือ "ความล้มเหลวในการฉีดวัคซีนให้ประชาชนจำนวนมาก" แม้จะมีวัคซีนมากเกินพอ จนนำมาสู่ยอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตพุ่งสูงขึ้น กระทบอย่างหนักต่องานในโรงพยาบาล


◾◾◾

🔴 ไวรัสกลายพันธุ์ยังน่ากังวล


แม้จะยังไม่พบการกลายพันธุ์ที่รุนแรงไปมากกว่าสายพันธุ์ “Delta” ที่ระบาดไปทั่วโลก ที่แม้กระทั่งสายพันธุ์ใหม่อย่าง Mu และ Lamda ก็ยังไม่รุนแรงเท่านั้น


ผู้เชี่ยวชาญก็ยังกังวลว่า “Delta” ในตัวมันเอง ก็อาจกลายพันธุ์ และเกิดการต่อต้านวัคซีนขึ้นได้ในอนาคต


"ตอนนี้เดลตาเป็นสายพันธุ์หลัก ที่อาจเกิดการกลายพันธุ์ในตัวมันเองได้อีก" แมนูเกฮาร์ กล่าว


ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่อังกฤษกำลังจับตามองไวรัสสายพันธุ์ย่อยของ Delta ที่ชื่อ AY.4.2 หรือ “Delta Plus“ ตแยังไม่พบหลักฐานว่า ไวรัสตัวนี้ต่อต้านวัคซีนแต่อย่างใด

—————

เรื่อง: ภัทร จินตนะกุล

ภาพ: Reuters

ข่าวที่เกี่ยวข้อง