รีเซต

องค์การอนามัยโลก (WHO) เรียกร้องให้ประเทศร่ำรวย บริจาควัคซีนโควิด-19 ให้กับประเทศยากจน

องค์การอนามัยโลก (WHO) เรียกร้องให้ประเทศร่ำรวย บริจาควัคซีนโควิด-19 ให้กับประเทศยากจน
TNN World
13 กรกฎาคม 2564 ( 10:20 )
82
องค์การอนามัยโลก (WHO) เรียกร้องให้ประเทศร่ำรวย บริจาควัคซีนโควิด-19 ให้กับประเทศยากจน
Covid-19: องค์การอนามัยโลก (WHO) เรียกร้องให้ประเทศร่ำรวย บริจาควัคซีนโควิด-19 ให้กับประเทศยากจน แทนที่จะเดินหน้าทำการฉีดวัคซีนกระตุ้น (Booster) ขณะที่ ผู้เชี่ยวชาญรายหนึ่งเตือนว่า การฉีดวัคซีนผสมสูตรนั้นอาจเป็นอันตรายต่อตัวผู้รับยาได้
 
 
วานนี้ (12 กรกฎาคม) ในระหว่างการแถลงข่าวรายวันที่นครเจนีวา นายแพทย์ เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ WHO รายงานว่า ตัวเลขผู้ป่วยโควิด-19 จากทั่วโลก กลับมาเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกันแล้ว ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตก็พุ่งสูงอีกครั้ง หลังลดลงมาตลอด 10 สัปดาห์ที่ผ่านมา
 
 
สาเหตุหลักของสถานการณ์ที่เลวร้ายลง เนื่องมาจากการแพร่กระจายของเชื้อโคโรนาไวรัสกลายพันธุ์สายพันธ์ Delta ที่ค้นพบครั้งแรกในประเทศอินเดีย และกลายเป็นสายพันธุ์หลักไปแล้ว อีกทั้ง โควิดสายพันธุ์ Delta แพร่ระบาดแล้วในพื้นที่กว่า 104 ประเทศทั่วโลก และหลายประเทศยังไม่ได้รับวัคซีนเพียงพอ ในการป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ของพวกเขาด้วยซ้ำ
 
 
เกเบรเยซุส กล่าวว่า รายงานจากสำนักงานองค์การอนามัยโลกจาก 6 ภูมิภาค ชี้ว่า โรงพยาบาลในหลายประเทศเริ่มขาดแคลนบุคลากรและเตียง เพื่อดูแลผู้ป่วยอีกครั้งแล้ว ซึ่งเชื้อไวรัสสายพันธุ์ Delta นั้น ยังแพร่กระจายไปยังพื้นที่ที่มีการฉีดวัคซีนสูง ส่งผลกระทบต่อผู้ที่ยังไม่ได้ฉีด และกลุ่มคนที่มีความเปราะบางด้วย
เกบรเยซุส ยังตำหนิประเทศร่ำรวยทั้งหลาย ที่มีการฉีดวัคซีนให้ประชากรในอัตราที่สูงแล้ว รวมทั้งบริษัทยา Pfizer และ Moderna ผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 ที่กำลังพิจารณาการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันอยู่ ในช่วงที่ประเทศอีกจำนวนมากยังขาดแคลนวัคซีน
 
 
เขากล่าวว่า ข้อมูลปัจจุบันแสดงให้เห็นว่า การฉีดวัคซีนครบโดสนั้น จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันต้านอาการป่วยโควิด-19 ที่รุนแรงและถึงแก่ชีวิต ให้กับตัวผู้รับไปได้อีกนาน ดังนั้น ความจำเป็นเร่งด่วนในตอนนี้ ต้องเป็นการฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดแม้แต่เข็มเดียวมากกว่า
 
 
ด้านไมค์ ไรอัน ผู้อำนวยการงานด้านสาธารณสุขฉุกเฉินของ WHO กล่าวเสริมว่า กิจกรรมขนาดใหญ่ที่จัดขึ้นในภูมิภาคที่มีการฉีดวัคซีนระดับหนึ่งแล้ว เช่น การแข่งขันฟุตบอลยูโร 2020 ที่อนุญาตให้มีผู้เข้าชมในสนามแบบไม่เต็มพื้นที่ เป็นตัวอย่างของความยากลำบากสำหรับรัฐบาล ที่ต้องดำเนินมาตรการจำกัดต่าง ๆ เพื่อควบคุมการระบาดที่เหมาะสม
 
 
ขณะเดียวกัน สำนักข่าว Reuters รายงานว่า โซมญา สวามินาธาน หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ของ WHO แนะนำว่า ไม่ควรมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ผสมสูตร จากผลิตภัณฑ์ต่างบริษัทให้กับประชาชน เนื่องจากจะเป็นการก่อ “เทรนด์อันตราย” (dangerous trend) เพราะยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพในการดำเนินการดังกล่าว
 
 
สวามินาธาน กล่าวว่า สถานการณ์ในบางประเทศอาจจะมีความวุ่นวายมากขึ้น หากประชาชนมีโอกาสที่จะเลือกว่าจะฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 หรือ 3 หรือ 4 ได้เมื่อไหร่ และจะใช้วัคซีนของผู้ผลิตรายใด ซึ่งต้องอาศัยหลักฐานและข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่บริษัทเอกชนจะประกาศได้เองว่า จำเป็นต้องฉีดวัคซีนของพวกเขาเป็นเข็มกระตุ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง