รีเซต

ทรัพยากรทางทะเลถูกทำลายไปเพียงไร เมื่อสหรัฐฯ ทดสอบความแกร่งของเรือด้วยระเบิดใต้น้ำ

ทรัพยากรทางทะเลถูกทำลายไปเพียงไร เมื่อสหรัฐฯ ทดสอบความแกร่งของเรือด้วยระเบิดใต้น้ำ
ข่าวสด
26 มิถุนายน 2564 ( 02:03 )
81

 

ในคลิปเผยให้เห็นผิวน้ำทะเลกลายเป็นวงกลมสีขาวและเกิดระลอกคลื่นกระจายออกไป จากนั้นสายน้ำก็พวยพุ่งขึ้นกลางท้องฟ้าก่อนจะตกลงมา เมื่อแพนกล้องไปรอบ ๆ เห็นเรือรบขนาดมหึมาปรากฏอยู่จากระยะไกล

 

เมื่อ 18 มิ.ย. กองทัพเรือสหรัฐฯ ทดสอบความแข็งแกร่งของ ยูเอสเอส เจอรัลด์ ฟอร์ด เรือบรรทุกเครื่องบินที่ก้าวหน้าที่สุดและใหม่ที่สุดของสหรัฐฯ ว่าจะสามารถทนทานต่อแรงระเบิดที่เกิดขึ้นใกล้เคียงได้ดีเพียงไร

 

US Navy
กองทัพเรือสหรัฐฯ ระบุว่า ได้วางมาตรการด้านความปลอดภัยหลายชนิดก่อนทดสอบระเบิด

สหรัฐฯ ใช้วัตถุระเบิด 18 ตัน หรือประมาณสองเท่าของระเบิดที่เรียกว่า "แม่ของระเบิดทั้งมวล" (Mother of All Bombs--MOAB) ซึ่งเป็นอาวุธที่ไม่ใช่นิวเคลียร์ที่ทรงพลังที่สุดในคลังอาวุธของสหรัฐฯ

 

แรงระเบิดที่เกิดขึ้นมีพลังสูงถึง 3.9 ตามหน่วยวัดแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวของหน่วยสำรวจธรณีวิทยาของสหรัฐฯ (US Geological Survey)

 

ภาพที่มีการส่งต่อกันอย่างแพร่หลายทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมาในโซเชียลมีเดียในสัปดาห์นี้ ผู้คนพากันตั้งคำถามว่า "แรงระเบิดขนาดนั้นทำให้สิ่งมีชีวิตในทะเลที่อยู่ใกล้เคียงได้รับผลกระทบอย่างไร"

 

รัศมีสังหาร

 

US Navy
แรงระเบิดมหาศาล น่าจะทำให้สัตว์ทะเลที่อยู่ใกล้เคียงตาย

"ถ้าแรงระเบิดมีขนาดใหญ่พอที่จะทำลายเรือรบได้ มันก็คงจะทำให้สิ่งมีชีวิตในทะเลตายได้แน่นอน" เดวิด ชุกแมน บรรณาธิการข่าวสิ่งแวดล้อมของบีบีซี กล่าว "ชาวประมงใช้ไดนาไมต์ในการจับปลา เรารู้ว่า ระเบิดทำให้สิ่งมีชีวิตในทะเลตายได้ และระเบิดขนาดใหญ่จะทำให้สัตว์จำนวนมากในทะเลล้มตาย"

 

ไมเคิล แจสนี ผู้อำนวยการด้านคุ้มครองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลของสภาปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Resources Defense Council) เห็นด้วย เขากล่าวกับบีบีซีว่า "สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กบางชนิดที่อยู่ภายในรัศมี 1-2 กิโลเมตรของแรงระเบิดน่าจะตาย และที่อยู่ภายในรัศมีราว 10 กิโลเมตร คาดว่าจะบาดเจ็บถาวร รวมถึงการสูญเสียการได้ยินเป็นการถาวร"

 

ความเสียหายต่อโสตประสาทส่งผลกระทบอย่างมากต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลบางชนิด

 

"ใต้น้ำ คลื่นเสียงสามารถเดินทางได้ไกล และวาฬก็ใช้คลื่นเสียงในการสื่อสารกันเป็นระยะทางหลายร้อยไมล์" ชุกแมนกล่าวเพิ่มเติม "ดังนั้นลองนึกดูว่า แรงกระแทกที่เกิดจากเสียงดังสนั่นของระเบิดจะส่งผลกระทบต่อต่อการได้ยินของพวกมันอย่างไร"

 

Getty Images
วาฬสามารถสื่อสารกันในระยะทางที่ไกล และการได้ยินมีส่วนสำคัญต่อการอยู่รอดของวาฬ

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลเป็นสัตว์ที่ดำน้ำเก่งอย่าง วาฬจงอย สามารถดำน้ำลึกลงไปใต้ผิวน้ำถึง 2,000 เมตร

ความสามารถในการมองเห็นใต้น้ำลดน้อยลงอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่ 1 กิโลเมตรใต้ผิวน้ำ ก็มีแต่ความมืด

ที่ระดับความลึกขนาดนั้น วาฬต้องอาศัยเสียงในการนำทาง ซึ่งก็คือเหตุผลว่า ทำไมนักวิทยาศาสตร์บางส่วนบอกว่า วาฬที่หูหนวกเท่ากับวาฬที่ตายแล้ว

 

คลื่นกระแทก

 

การระเบิดใต้น้ำส่งผลให้เกิดคลื่นกระแทกและพลังงานเสียงขึ้น มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ในทะเลจำนวนมากที่มีหลักฐานว่าได้รับอันตรายจากการทดสอบ

โลมาอย่างน้อย 8 ตัว หูหนวกและตายในเดือน ส.ค. 2019 หลังจากมีการระเบิดในทะเลบอลติกเพื่อกำจัดกับระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

 

10 ปีที่แล้วในสกอตแลนด์ วาฬนำร่องครีบยาว 39 ตัว เกยตื้นที่อ่าวช่วงน้ำขึ้น แล้วตายไป 19 ตัว รายงานของรัฐบาลสหราชอาณาจักรพบว่า ปฏิบัติการกำจัดระเบิดที่เกิดขึ้นในพื้นที่ใกล้เคียงในช่วงไม่กี่วันก่อนหน้านั้นทำให้เกิดโศกนาฏกรรมนี้ขึ้น มัน "เป็นเหตุภายนอกเพียงเหตุการณ์เดียวที่อาจเป็นสาเหตุ" ให้วาฬเกยตื้น

 

Getty Images
กองทัพเรือทั่วโลกยิงระเบิดหลายร้อยตันในแต่ละปี ในช่วงที่มีการฝึกซ้อมตามปกติในทะเล

ในปี 2013 กองทัพเรือสหรัฐฯ ยอมรับเองว่า การฝึกซ้อมและการทดสอบอาจทำให้วาฬและโลมาหลายร้อยตัวตายลง และ อีกหลายพันตัวบาดเจ็บในช่วงเวลา 5 ปีนับจากนั้น ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการจุดชนวนระเบิดใต้น้ำ

 

ขนาดของสัตว์ มีผลต่อการรอดชีวิต

 

แม้เรามีตัวอย่างมากมายให้เห็นว่าสัตว์น้ำขนาดใหญ่หลายประเภทต้องจบชีวิตลง แต่เป็นเรื่องที่ยากกว่าในการคำนวณหาความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อสัตว์น้ำที่ขนาดเล็กกว่า ซึ่งเราเชื่อว่าสัตว์พวกนี้ต้องพบกับความเสี่ยงมากกว่า

ปีเตอร์ วอร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านเสียงใต้น้ำ ศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของการระเบิดใต้น้ำและได้เขียนรายงานในเรื่องนี้เมื่อปี 2015

 

ในการศึกษาดังกล่าว เขาได้จำลองความเสียหายของการทำลายกับระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

"กับระเบิดทะเลโดยปกติจะมีวัตถุระเบิดหนัก 450-680 กิโลกรัม ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตได้ในระยะ 300-630 เมตร ระเบิดที่ขนาดใหญ่กว่านั้นก็จะยิ่งมีระยะที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตที่ไกลออกไปอีก"

 

แต่เขาตั้งข้อสังเกตว่า "ยิ่งสัตว์มีขนาดใหญ่ขึ้น ก็ยิ่งมีโอกาสในการรอดชีวิตจากแรงระเบิดมากขึ้น"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง