17 ผักปลูกในกระถางได้ ดูแลง่าย ได้ผลดี มีอะไรบ้าง | บทความโดย Pchalisa ปัจจุบันการปลูกผักยังถือว่าเป็นกิจกรรมที่คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจ จากที่คนเราโหยหาธรรมชาติมากขึ้น ประกอบกับการดูแลเรื่องสุขภาพกลายมาเป็นประเด็นหลักในชีวิตของคนยุคข้อมูลข่าวสาร โดยผู้เขียนพบว่าการปลูกในกระถางมักเป็นทางเลือกที่คนนิยม จากที่รูปแบบของพื้นที่อยู่อาศัยเปลี่ยนไป กับการปลูกผักในกระถางมีข้อดีหลายอย่างมากค่ะ ที่รู้เพราะว่าผู้เขียนเองก็มีโอกาสได้ปลูกผักแบบนี้เหมือนกันค่ะ ดังนั้นในบทความนี้เป็นความตั้งใจเลยค่ะ ที่ผู้เขียนอยากมาส่งต่อให้ได้รู้ว่า ผักอะไรบ้างนะ ถ้าอยากปลูกในกระถาง ต้องไปหาซื้อต้นพันธุ์มา โดยผักที่จะพูดถึงต่อไปนี้นอกจากจะปลูกง่าย หาง่ายแล้ว ต้นพันธุ์ยังราคาถูก และการปลูกในกระถางทำให้ผักต่อไปนี้เกิดงามและได้ผลผลิตจริงค่ะ งั้นอ่านต่อกันเลยดีกว่าค่ะว่ามีผักอะไรน่าสนใจ ดังต่อไปนี้ 1. ผักแพว ผักชนิดนี้ใช้ทานบ่อยกับแหนมเนืองค่ะ การปลูกผักแพวใช้ดินร่วนปนทรายหรือดินผสมปุ๋ยคอกค่ะ ซึ่งการทำแบบนี้จะช่วยให้ผักแพวเจริญเติบโตได้ดีขึ้น แนะนำให้เลือกกิ่งผักแพวที่สมบูรณ์ ไม่เป็นโรค ตัดกิ่งให้ยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตรนะคะ จากนั้น ปักกิ่งผักแพวลงในกระถางที่เตรียมไว้ รดน้ำให้ชุ่ม โดยให้วางกระถางในที่ร่มรำไร มีแสงแดดส่องถึงบ้างเล็กน้อย ในระหว่างนั้นก็ให้รดน้ำสม่ำเสมอ อย่าให้ดินแห้งจนเกินไป หมั่นพรวนดินเบาๆ เพื่อให้อากาศถ่ายเทค่ะ และการตัดแต่งกิ่งที่แห้งหรือใบเหลืองออกเป็นประจำยังจำเป็นนะคะ เพราะจะช่วยให้ผักแพวแตกกิ่งก้านสาขาได้ดีขึ้นค่ะทุกคน 2. ผักแขยง ผักแขยงเป็นพืชผักสวนครัวที่ปลูกง่าย นิยมนำมาประกอบอาหารหลากหลายชนิด การปลูกผักแขยงในกระถางเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่มีพื้นที่จำกัดค่ะ เพียงเตรียมดินปลูกที่ร่วนซุย ที่มีการระบายน้ำดี เลือกกิ่งพันธุ์ที่สมบูรณ์ นำมาปักชำในกระถางวางไว้ในที่ร่มรำไร รดน้ำสม่ำเสมอ ไม่ให้น้ำขัง และหมั่นตัดแต่งกิ่งที่ไม่แข็งแรงออก ผักแขยงก็จะเจริญเติบโตและให้ใบอ่อนๆ ไว้ทานได้อย่างต่อเนื่องได้แล้วค่ะ 3. สะระแหน่ การปลูกสะระแหน่ให้เลือกกระถางที่มีขนาดพอเหมาะกับต้นสะระแหน่ที่ต้องการปลูก และควรมีรูระบายน้ำด้วยนะคะ โดยควรใช้ดินร่วนปนทรายหรือดินผสมปุ๋ยหมัก เพื่อเพิ่มธาตุอาหารให้กับต้นสะระแหน่ค่ะ แลละให้ปักชำกิ่งที่สมบูรณ์ ไม่เป็นโรค และมีใบเขียวเข้มค่ะ ตัดกิ่งสะระแหน่ให้ยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ที่ต้องตัดใบล่างออกด้วย ให้วางกระถางในที่ร่มรำไร ได้รับแสงแดดอ่อนๆ ประมาณ 4-6 ชั่วโมงต่อวัน รดน้ำสม่ำเสมอให้ดินชุ่มชื้น แต่ไม่แฉะ ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกเดือนละครั้ง ตัดแต่งกิ่งที่แห้งหรือใบเหลืองออกเป็นประจำ เพื่อให้ต้นสะระแหน่แตกกิ่งก้านสาขาค่ะ 4. กะเพรา การปลูกกะเพราะนั้น แนะนำว่าให้ใส่ดินปลูกที่เตรียมไว้ลงไปในกระถาง กดให้แน่นเล็กน้อย ตัดกิ่งกะเพราให้ยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ตัดใบล่างออก แล้วนำไปปักชำในดินปลูก แต่ถ้าเป็นการปลูกจากต้นกล้าก็ให้ขุดหรือถอนต้นกล้ามาจากแปลงเพาะค่ะ วางกระถางในที่ที่มีแสงแดดส่องถึงโดยตรง หรืออย่างน้อย 6 ชั่วโมงต่อวัน รดน้ำให้สม่ำเสมอ และหมั่นสังเกตอาการของโรคและแมลงศัตรูพืช หากพบให้รีบกำจัดค่ะ 5. ขึ้นฉ่าย การปลูกขึ้นฉ่ายง่ายมากค่ะ เพียงเตรียมกระถางที่มีรูระบายน้ำ ดินปลูกที่ร่วนซุย และต้นกล้าหรือเมล็ดขึ้นฉ่าย ซึ่งส่วนมากคนแถวนี้ใช้ต้นกล้าค่ะ เพราะไม่ไกลจากที่นี่มีแหล่งที่ขายต้นกล้าผัก จากนั้นให้นำต้นกล้าลงปลูกในกระถาง หรือหว่านเมล็ดแล้วกลบดินบางๆ วางกระถางในที่ที่มีแสงแดดรำไร รดน้ำสม่ำเสมอให้ดินชุ่มชื้น แต่ไม่แฉะ หมั่นกำจัดวัชพืช และใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกเดือนละครั้ง ขึ้นฉ่ายจะเจริญเติบโตและให้ใบอ่อนๆ ไว้ปรุงอาหารได้อย่างต่อเนื่อง เพียงเท่านี้คุณผู้อ่านก็มีขึ้นฉ่ายสดๆ ไว้ทานเองได้แล้วค่ะ 6. ผักชีจีน สำหรับผักชีผู้เขียนเคยปลูกจากสองลักษณะค่ะ คือ การปลูกด้วยเมล็ดกับต้นกล้า ซึ่งแบบต้นกล้าย่นระยะเวลา และลดปัญหาความสงสัยเรื่องการงอกของเมล็ดผักชีไปได้ โดยการปลูกผักชีให้หว่านเมล็ดลงในดินที่เตรียมไว้ กลบดินบางๆ รดน้ำให้ชุ่ม วางกระถางในที่ที่มีแสงแดดรำไร รดน้ำสม่ำเสมอ เมื่อต้นกล้าแข็งแรงขึ้นค่อยๆ เพิ่มปริมาณแสงแดด หมั่นกำจัดวัชพืช และใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกเดือนละครั้งค่ะ 7. ชะพลู ต้นชะพลูปลูกง่ายมากค่ะ โดยสามารถทำได้ทั้งการปลูกด้วยไหลของชะพลู การแยกหน่อจากต้นเดิม และการปักชำด้วยกิ่งที่แข็งแรงดี การปลูกชะพลูทั้งสามแบบทำให้รอดได้ง่ายๆ ค่ะ ยิ่งปลูกในช่วงเย็น จากนั้นรดน้ำอย่างต่อเนื่อง ถ้าดินชื้นอยู่ให้ข้ามการรดน้ำครั้งนั้นไป ใส่ปุ๋ยคอกเมื่อจำเป็นและตัดใบที่เหลืองและแก่ทิ้งเป็นระยะๆ คะ 8. กุยช่าย การปลูกกุยช่ายทำง่ายถ้าเริ่มต้นด้วยการปลูกด้วยการแยกหัวหรือหน่อค่ะ โดยกรปลูกจะคล้ายการปลูกหอมหรือกระเทียม คือกดหัวของกุยช่ายลงไปในดินที่ร่วนซุย จากนั้นรดน้ำและใส่ปุ๋ยคอกและพรวนดินด้วยค่ะ โดยหน่อกุยช่ายที่เราแยกออกมามีข้อสังเกตนิดหนึ่งคะว่า ต้องตัดใบทิ้งก่อนปลูกเพื่อลดการคายน้ำในระหว่างที่กุยช่ายจะรอดค่ะ 9. ผักสลัดชนิดต่างๆ ได้หมดค่ะ ไม่ว่าจะเป็นเรดคอส กรีนคอส บัตเตอร์เฮดหรือผักกาดหอมธรรมดาค่ะ โดยการปลูกที่ผู้เขียนได้เคยทำมา คือ การปลูกจากต้นกล้าค่ะ ที่เริ่มจากซื้อดินปลูกเป็นถุงมาเติมลงไปในกระถางปูน เฉพาะส่วนด้านหน้าดินนะคะ จากนั้นรดน้ำให้ชุ่ม และย้ายต้นกล้าผักสลัดไปปลูกค่ะ ที่จะทำในช่วงบ่ายแก่ๆ ซึ่งการปลูกผักสลัดนี้สามารถใส่ปุ๋ยคอกก็ได้ หรือจะเป็นปุ๋ยน้ำชีวภาพก็ได้นะคะ และการเก็บผักสลัดสามารถทำได้ทั้งแบบเด็ดเฉพาะใบที่ต้องการไปทาน กับถอนทั้งต้นออกจากกระถางไปเลยก็ได้ค่ะ 10. กวางตุ้งฮ่องเต้ กวางตุ้งแบบนี้ใช้เมล็ดแบบซองมาปลูกก็สามารถเกิดได้ค่ะ โดยให้หว่านแบบสุ่มกระจายไปเลย พอต้นกล้าโตพอที่สามารถย้ายไปปลูกได้ ก็ให้ถอนย้ายไปปลูกในกระถางที่เราเตรียมไว้อีกทีค่ะ การรดน้ำสม่ำเสมอคือสิ่งที่จำเป็นค่ะ การใส่ปุ๋ยแบบชีวภาพดีที่สุดค่ะ และต้องกำจัดโรคพืชด้วย เพราะจากที่ผู้เขียนเจอาคือจะมีเพลี้ย โดยตอนนั้นได้นำน้ำส้มสายชูมาฉีดพ่นค่ะ 11. กวางตุ้ง ผักชนิดนี้นอกจากปลูกเกิดได้ดีในดินที่ทำเป็นแปลงแล้วนะคะ การปลูกกวางตุ้งในกระถางคืออีกหนึ่งทางเลือกค่ะ เพราะปลูกง่ายมาก ใช้ได้ทั้งแบบหว่านด้วยเมล็ดกับการปลูกด้วยต้นกล้าค่ะ การหว่านทำให้บางคนมีผักกวางต้นอ่อนเอาไว้ทานกับน้ำพริกได้ค่ะ จากนั้นก็ถอนย้ายต้นกล้าไปปลูกต่อที่กระถางอื่น แบบนี้เราก็จะได้กวางตุ้งที่ต้นใหญ่ๆ เหมือนที่เขาวางขายที่ตลาดเลยค่ะ ดินร่วนคือสิ่งที่ดีสำหรับปลูกผักชนิดนี้นะคะ ใส่ปุ๋ยคอก พรวนดินและกำจัดวัชพืช คือสิ่งที่ต้องทำประจำที่ก็คล้ายกับการปลูกผักชนิดอื่นในกระถางค่ะ 12. คะน้า จากที่ผู้เขียนได้ปลูกผักคะน้ามานั้น อาศัยการหวานจากเมล็ดแบบซองค่ะ เราหว่านเมล็ดลงไปก่อน พอเกิดแล้วก็ถอนย้ายต้นกล้าไปปลูกต่อในกระถางอื่น และก่อนหน้านั้นเราสามารถทานต้นอ่อนคะน้าได้ด้วยค่ะ คะน้ำเกิดได้ดีในดินร่วนค่ะ ที่ต้องรดน้ำแบบมากเกินไป รดปุ๋ยน้ำชีวภาพได้ มีหญ้าต้องถอนทิ้งเหมือนกันค่ะ และมีหนอนมากัดกินใบด้วยนะคะ 13. ต้นหอม ต้นหอมปลูกง่ายๆ จากการใช้หัวหอมค่ะ เพียงเตรียมดินให้ร่วนซุย ที่อาจมีการเติมแกลบดิบหรือแกลบดำลงไป ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยจากใบไม้อื่นๆ ก็สามารถทำได้ค่ะ จากนั้นรดน้ำให้ชุ่มก่อน และกดหัวหอมลงไปในดินที่รดน้ำแล้ว โดยไม่ต้องกลบดินนะคะ รดน้ำให้สม่ำเสมอ วางกลางแดดได้ค่ะ จากนั้นไม่นานต้นหอมจะเกิดมีใบอ่อยโผล่ออกมาค่ะ ในระหว่างนี้ก็รดน้ำต่อไป ใส่ปุ๋ยได้ตามปกติ โดยการใช้ประโยชน์จากการปลูกหอมในกระถางสามารถทำได้สองแบบนะคะ คือ ถอนต้นหอมออกจากกระถางกับสุ่มเด็ดใบล่างสุดในแต่ละต้นไปใช้งานค่ะ 14. ผักชีฝรั่ง ผักชีชนิดนี้ถ้าจะปลุกในกระถางแนะนำให้แยกหน่อหรือใช้รากของต้นผักชีฝรั่งที่เราซื้อมาจากตลาดได้ค่ะ ก็เหมือนกันนะคะเตรียมดินร่วน จากนั้นปลูกต้นกล้าผักชีฝรั่งลงไปในกระถาง รดน้ำ ใส่ปุ๋ย พรวนดินและกำจัดวัชพืชค่ะ เมื่อผักชีฝรั่งโตเต็มที่จะถอนออกมาทั้งต้นหรือจะเด็ดเฉพาะใบล่างออกมาก็ได้ค่ะ 15. ปูเล่ ปูเล่ต้องการแดดค่ะ เพราะผู้เขียนเจอว่าพออยู่ในร่มมักมีเพลี้ย ดินต้องร่วนซุย การปลูกแบบใช้ต้นกล้าคือสิ่งที่ผู้เขียนทำค่ะ เกิดรอดและเด็ดใบมาทานได้ค่ะ แต่ต้องใส่ปุ๋ยประจำถ้าเราอยากให้ต้นปูเล่อยู่แบบยาวๆ ในกระถาง วัชพืชไม่ค่อยมีค่ะ แต่การพรวนดินยังจำเป็น อีกทั้งต้องรดน้ำให้สม่ำเสมอค่ะ แต่ไม่ต้องแฉะมากเพราะรากจะเน่าและตาย 16. กะหล่ำปลี กระถางที่ใช้ปลูกกะหล่ำปลีแนะนำว่าให้ใหญ่ไว้เลยตั้งแต่วันแรกเค่ะ โดยการปลูกใช้แบบต้นกล้าดีสุด และเราไม่ต้องย้ายกระถางจนถึงวันเก็บกะหล่ำค่ะ ดินต้องร่วนซุย รดน้ำประจำ กับให้ระวังโรคพืช ปุ๋ยคอก ปุ๋ยน้ำชีวภาพและปุ๋ยเคมีแบบบางเบาใส่ได้ค่ะ แนะนำให้ปลูกกะหล่ำปลีในกระถางช่วงหน้าหนาวค่ะ เพราะงามมากและได้ผลจริง 17. ผักเคล ผักชนิดนี้ปลูกคล้ายกันกับคะน้าเลยค่ะ ใช้ต้นกล้าเกิดรอดง่ายมาก ดินร่วนซุยใส่ลงไปในกระถางก่อน รดน้ำประจำ ใส่ปุ๋ยเป็นระยะๆ พรวนดินด้วยนะคะ มีนมบูดเอารดได้ค่ะ งามและไม่ตายแน่นอนเพราะผู้เขียนทำมาแล้วค่ะ พอโตสักหน่อยเด็ดใบล่างมาทานแบบสดก็ได้ หรือจะนำไปปั่นเป็นน้ำผักหรือผัดใส่หมูก็ได้ค่ะ ว้าว! มีผักหลายชนิดมากที่สามารถปลูกได้ในกระถางค่ะ ที่ผู้เขียนขอยืนยันอีกครั้งว่า ผักเหล่านี้สามารถปลูกได้จริง จะว่าไปยังมีผักอีกหลายชนิดมากที่ผู้เขียนยังไม่ได้พูดถึง เพราะโดยภาพรวมของตัวอย่างผักในบทความนี้ พอจะเป็นแนวทางให้กับคุณผู้อ่านได้บ้างแล้วค่ะ อีกทั้งหากคุณผู้อ่านได้ลองนึกภาพของผักในกลุ่มเดียวกันของชนิดผักตามที่ผู้เขียนได้พูดมานั้น จะทำให้เรารู้เพิ่มไปอีกว่ามีผักอย่างอื่นอีกด้วยที่สามารถนำมาปลูกในกระถางได้นะคะ ยกตัวอย่างเช่น ผู้เขียนได้แนะนำว่าต้นกะเพราะสามารถปลูกในกระถางได้ โดยที่โหระพาและแมงลักมีลักษณะคล้ายกะเพรา แบบนี้ก็สามารถนำมาปลูกในกระถางได้เช่นเดียวกันค่ะ ยังไงนั้นลองหาผักที่เป็นไปได้มาปลูกในกระถางกันค่ะ ซึ่งผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หากชอบบทความแบบนี้อีก ก็อย่าลืมกดติดตามหรือกดบุ๊กมาร์กหน้าโปรไฟล์ไว้นะคะ เพราะจะได้ไม่พลาดบทความใหม่ๆ ที่จะได้นำมาเผยแพร่ในเร็วๆ นี้ค่ะ เครดิตภาพประกอบบทความ ภาพหน้าปกและภาพประกอบเนื้อหาโดยผู้เขียน ออกแบบภาพหน้าปกใน Canva เกี่ยวกับผู้เขียน ภัคฒ์ชาลิสา จำปามูล จบการศึกษา : พยาบาลศาสตรบัณฑิต (B.N.S.) จากวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม กระทรวงสาธารณสุข และสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (อนามัยสิ่งแวดล้อม); M.P.H. (Environmental Health) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความสนใจและประสบการณ์เกี่ยวกับ : สุขภาพ จิตวิทยาเชิงบวก การจัดการน้ำเสียและสิ่งปฏิกูล บทความอื่นที่น่าสนใจโดย Pchalisa https://news.trueid.net/detail/O0VM3KgWd5yN https://food.trueid.net/detail/xdgVNW9AXKN1 https://news.trueid.net/detail/palJKZbyoYGx เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !