คนทำงานประจำสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจ มันไม่ง่ายเลย แม้คุณพ่อของ พูนลาภ อุทัยเลิศอรุณ ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ We Learn จะเป็นเจ้าของธุรกิจและคลุกคลีกับการเห็นอะไรแบบนี้มาบ้าง ก็ต้องยอมรับว่าการเบิกทางใหม่ในธุรกิจสำนักพิมพ์ มีอะไรที่ต้องลองผิดลองถูกไม่น้อยเลย นี่คือที่มาของชื่อหนังสือ"วิชาคนตัวเล็ก" พร้อมกับ 33 วิธีคิดในการเอาชนะอุปสรรคที่ใหญ่เกินตัว โดยผู้เขียนอย่างคุณพูนลาภ ได้ออกมาถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตจริงด้วยตัวเอง ความรู้ความประทับใจในมุมมองครีเอเตอร์ 1."เพราะหนึ่งในความจริงอันโหดร้ายของวงการหนังสือคือ หนังสือขายดีไม่ใช่เพราะมีเนื้อหาดี แต่เพราะมันมีหน้าตาดีต่างหาก แน่นอนว่าหนังสือจำเป็นต้องมีเนื้อหาดี ถึงจะสามารถยืนระยะ สร้างกระแสปากต่อปาก และทำยอดขายที่น่าพอใจ แต่หากหน้าตาไม่ดี ก็ย่อมไม่มีใครหยิบมาอ่าน และนั่นก็ย่อมไม่ทำให้เกิด "ประกายไฟ" ที่จะสร้างโมเมนตัมจนส่งผลต่อยอดขายได้ ดังนั้น ในการทำธุรกิจ "เปลือกนอก" นี่แหละที่จะช่วยจับความสนใจแรกของลูกค้าได้อยู่หมัด" 2.บนหน้าปก อะไรที่มี impact ต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้ามากที่สุด (ดีไซน์ปก ชื่อหนังสือ หรือคำโปรย? คำตอบที่มาเป็นอันดับหนึ่งคือ ดีไซน์ปก แต่จริงๆ แล้วชื่อหนังสือสำคัญที่สุด...สำคัญมากถึงขั้นที่ว่าทิ้งอันดับสองกับสามแบบไม่เห็นฝุ่นเลยทีเดียว อธิบายให้เห็นภาพก็คือ ถ้าคิดชื่อหนังสือที่ทรงพลังที่สุดในสามโลกขึ้นมาได้ คุณไม่ต้องออกแบบปกอะไรมากมาย แค่วางชื่อตัวโตๆ บนปกสีขาว พิมพ์ด้วยฟอนต์ Angsana UPC หนังสือของเราก็มีโอกาสขายดีแล้ว 3.ที่วีเลิร์นเวลาคิดคอนเซปต์ จะวางไว้อย่างชัดเจนว่าหนังสือแต่ละเล่มมีเป้าหมายการขายแบบไหน โดยอิงจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของหนังสือ -ลูกค้าตลาดบนคือลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงและตัดสินใจซื้อด้วยเหตุผลที่ค่อนข้าง subjective -ลูกค้าตลาดแมสคือลูกค้าทั่วไปที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวันไล่ตั้งแต่วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง พนักงานขับรถเมล์ ไปจนถึงแม่ค้าขายหมูปิ้งหน้าเซเว่น - ลูกค้าตลาดกลางคือคนที่อยู่ตรงกลางระหว่างทั้งสองกลุ่ม ส่วนใหญ่จะเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ไม่ถึงขั้นหาเช้ากินค่ำ แต่ก็ไม่ได้มีกำลังซื้อสูงเหมือนลูกค้าตลาดบน ลูกค้าสามกลุ่มนี้ตอบสนองต่อการขายที่แตกต่างกัน การขายอารมณ์ความรู้สึกเหมาะกับลูกค้าตลาดบน ส่วนการขายอรรถประโยชน์เหมาะกับลูกค้าตลาดแมสและตลาดกลาง 4.ความสำเร็จ = ความสามารถ x ความพยายาม x โชค “โชค” มีผลต่อความสำเร็จจริงๆ ตอนที่ยังเป็นพนักงานประจำตัวเล็กๆ เราอาจไม่รู้สึก เพราะปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จมันมีอยู่เพียง น้อยนิด แค่ทำงานให้ดีก็ก้าวหน้าได้ เพื่อนร่วมงานและหัวหน้าอาจมีส่วนบ้าง แต่ก็ไม่มากนัก แต่เมื่อเราเติบโตในหน้าที่การงาน มีตำแหน่งสูงขึ้น จะสัมผัสได้ว่าโชคเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณออกมาทำกิจการของตัวเอง เมื่อนั้นโชคจะเข้ามามีบทบาทมากอย่างคาดไม่ถึง เพราะในการทำธุรกิจ ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จนั้นมีอยู่มากมายจนเราไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด 5.ริชาร์ด ไวส์แมน ศาสตราจารย์สาขาจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์ตฟอร์ดเชียร์ที่อังกฤษ ได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง 'โชค' อย่างจริงจัง และพบว่าคนโชคดีมีเงื่อนไข 4 ประการด้วยกัน ได้แก่ 1. คนโชคดีจะออกไปหาโอกาส 2. คนโชคดีจะเชื่อสัญชาตญาณของตัวเอง 3. คนโชคดีคาดหวังว่าตัวเองจะโชคดี 4. คนโชคดีมองเห็นสิ่งดีๆ ในเรื่องร้ายๆ ข้อแรกนั้นชัดเจน ถ้ามัวแต่เก็บตัวก็จะไม่เจอโอกาส ถ้าไม่เจอโอกาสแล้วจะโชคดีได้อย่างไร แต่ข้อ 2-4 เป็นเรื่องภายในจิตใจ เป็นเรื่องของความคาดหวัง ตรงนี้เองที่ทำให้เรื่อง 'ความเชื่อและความศรัทธา' เข้ามามีบทบาทสำคัญ เพราะมันทำให้เกิดปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริง (self-fulfilling prophecy) เมื่อเรามีความเชื่อที่ออกมาจากจิตใจอย่างแรงกล้า จะเกิดพลังทางจิตวิทยาที่ขับเคลื่อนพฤติกรรมของเราให้ทำสิ่งนั้นให้กลายเป็นจริง" 6.ในการประชุมทุกครั้ง ถ้าไม่คิดเผื่อมาก็จะถูกไล่ให้กลับไปคิดมาใหม่ ถ้าแผนการตลาดนี้ไม่เวิร์ก แผนสองและสามคืออะไร ถ้านักเขียนคนนี้ตอบปฏิเสธโปรเจกต์นี้ นักเขียนคนที่สองและสามคือใคร คนวิเคราะห์จะมีวิธีคิดแบบนี้ติดตัวเสมอ เรื่องนี้อาจเป็นเรื่องง่าย เพราะผู้เขียนถูกฝึกให้คิดแบบนี้มาตลอดทั้งชีวิต แต่สำหรับคนส่วนใหญ่ไม่ใช่เรื่องง่ายขนาดนั้น เท่าที่สังเกตคิดว่าคนทั่วไปมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์มักคิดแบบ "ไม่มีแผนสำรอง" เลยด้วยซ้ำ ถ้าแผนเดียวที่วางไว้ล้มก็จบ เทคนิคหนึ่งที่พอช่วยได้คือ "การฝึกจำลองสถานการณ์" ตัวผมเองจะจำลองสถานการณ์ในงานสำคัญๆ เสมอ" 7."ตัวอย่างเช่น เมื่อต้องไปบรรยาย ขณะเตรียมสไลด์แต่ละแผ่น จะนึกภาพตัวเองกำลังบรรยายในวันรุ่งขึ้น จินตนาการว่าหลังจากพูดสไลด์แผ่นนี้จบ ผู้ฟังในห้องจะสงสัยอะไร จะถามตรงไหน จากนั้นจึงเตรียมคำตอบเอาไว้ล่วงหน้า เวลาเจรจาธุรกิจ ก็จะจินตนาการว่าผลลัพธ์จะเป็นไปในทางไหนได้บ้าง แล้วเตรียมการรับมือเอาไว้ให้พร้อม การฝึกจำลองสถานการณ์ เมื่อทำซ้ำบ่อยครั้งเข้าก็จะกลายเป็นนิสัย เราจะกลายเป็นคนที่มีมาพร้อมกับแผนสองและสามเสมอ" 8.หลักการของ Dialogue นั้นดูเรียบง่าย ไม่มีอะไรซับซ้อนแต่กลับทำได้ยากมากสำหรับมนุษย์ที่มีอีโก้อยู่เต็มเปี่ยม นั่นคือ "การเป็นผู้ฟังที่ดี" เปิดใจฟัง ไม่ตั้งแง่ ไม่ตัดสิน ไม่พูดแทรกแม้จะรู้สึกขัดใจเพียงใดก็ตาม พยายามทำความเข้าใจในสิ่งที่อีกฝ่ายพูดอย่างแท้จริง ไม่ใช่เลือกฟังแต่สิ่งที่ตัวเองอยากฟัง แต่เราจะทำทุกอย่างที่ว่ามานั้นไม่ได้เลย ถ้าเราไม่ "ทำตัวให้เล็กลง" 9.สัจธรรมที่สำคัญที่สุดข้อหนึ่งสำหรับชีวิตและธุรกิจนั่นคือ "โลกนี้มันกลมกว่าที่คุณคิด" คนที่เราทำแย่ๆ ด้วยในวันนี้เพราะคิดว่าจะไม่มีวันเจอกันอีก สุดท้ายก็อาจต้องเจอกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ "ถ้าสร้างมิตรไม่ได้ ก็อย่าสร้างศัตรู" จงทำดีกับทุกคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ✓ สำหรับคนที่เริ่มต้นชีวิตการทำงาน ทำวันนี้ให้ดีที่สุด ถึงแม้เราจะอยู่ในช่วงค้นหาตัวตน ยังไม่แน่ใจว่างานสายไหน อาชีพอะไรที่เหมาะกับเราจริงๆ แต่เราก็สามารถทำเต็มที่กับทุกงานที่ได้รับมอบหมาย ✓ สำหรับเด็กจบใหม่ สิ่งที่หัวหน้ามองเห็นไม่ชัดนักคือความสามารถ มันเป็นสิ่งที่ต้องพิสูจน์ด้วยเวลาและประสบการณ์ แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนทันทีคือความทุ่มเทและความพยายาม 10.“ศาสตร์แห่งนพลักษณ์” ระบุว่าคนเราทำงานบนพื้นฐานของศูนย์ที่แตกต่างกัน ได้แก่ ศูนย์หัว ศูนย์ใจ และศูนย์กาย ศูนย์หัวจะให้ความสำคัญกับความคิด ศูนย์ใจจะให้ความสำคัญกับอารมณ์ความรู้สึก ศูนย์กายจะให้ความสำคัญกับสัญชาตญาณ จึงไม่แปลกที่ตัวผู้เขียน(ศูนย์หัว) จะมีปัญหาในการสื่อสารกับพนักงานส่วนใหญ่ในบริษัท (ศูนย์ใจ) เพราะเราให้ความสำคัญคนละเรื่องกัน จะเห็นได้ว่าการทำธุรกิจในฐานะของผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยกว่าจะจุดได้ว่าทำอย่างไรให้หนังสือหมวด Non fiction ขายได้ดี ตรงใจลูกค้า ถึงขั้นเห็นปกและชื่อหนังสือก็หยิบไปซื้อกลับบ้านแล้ว ทั้งหมดผ่านกระบวนการวางแผน ลองผิดลองถูก และประสบการณ์อันยาวนาน แม้จะยังไม่ใช่สูตรสำเร็จของการทำธุรกิจ เพราะมันต้องปรับตัวไปตามยุคสมัยของลูกค้าตลอดเวลา แต่มันให้แนวคิดสำคัญต่อการแก้ปัญหาทั้งเรื่องธุรกิจและเรื่องส่วนตัว เครดิตภาพ ภาพปก โดย wirestock จาก freepik.com ภาพที่ 1 และ 2 โดยผู้เขียน ภาพที่ 3 โดย jcomp จาก freepik.com ภาพที่ 4 โดย jcomp จาก freepik.com บทความอื่นๆที่น่าสนใจ รีวิวหนังสือ How to Make Work not Suck เมื่อเส้นทางการทำงานโรยไปด้วยเปลือกทุเรียน รีวิวหนังสือ The Rules of Management เก่งเรื่องคน เข้มเรื่องงาน บาลานซ์เรื่องชีวิต รีวิวหนังสือ เมื่อการทำงานหนัก ไม่ใช่คำตอบของความก้าวหน้า รีวิวหนังสือ ทำงานยังไงให้คุณมีมูลค่าสูงสุดในองค์กร รีวิวหนังสือ คิด ทำอย่างฉลาด สู่โอกาสรุ่งในองค์กร (The Rules of Work) เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !