รีเซต

'ปธ.สภาสตรีแห่งชาติฯ' เปิดงานวันสตรีสากล ประจำปี 65 จ.ขอนแก่น ปลุกทำหน้าที่ให้สมบูรณ์

'ปธ.สภาสตรีแห่งชาติฯ' เปิดงานวันสตรีสากล ประจำปี 65 จ.ขอนแก่น ปลุกทำหน้าที่ให้สมบูรณ์
มติชน
12 มีนาคม 2565 ( 17:00 )
51

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ที่ขอนแก่นฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาช่าขอนแก่น อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นประธานเปิดกิจกรรมเนื่องในวันสตรีสากล จังหวัดขอนแก่น ปี 2565 ภายใต้แนวคิด “รวมพลังสตรี ศรีขอนแก่น สืบสาน สร้างสรรค์ แบ่งปันชุมชน” โดยมีนางสิริพร จังตระกุล นายกเหล่ากาชาดจังหวัดขอนแก่นและประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดขอนแก่น นางสาวธนียา นัยพินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ นางสุกัญญา ประจวบเหมาะ รองประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ หัวหน้าส่วนราชการ นางทัศนีย์ ศรีโสภา รองประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดขอนแก่น และผู้นำสตรีจาก 26 อำเภอในจังหวัดขอนแก่น ร่วมในพิธี

 

โอกาสนี้ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ พร้อมด้วย นางสิริพร จังตระกุล นายกเหล่ากาชาดจังหวัดขอนแก่นและประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดขอนแก่น มอบใบประกาศเกียรติคุณและช่อดอกไม้แสดงความยินดีให้แก่สตรีที่มีผลงานดีเด่น ได้แก่ ผู้นำสตรีดีเด่นด้านการปกครอง จำนวน 6 รางวัล ผู้นำสตรีพิการดีเด่น จำนวน 1 รางวัล ผู้นำสตรีดีเด่นด้านการพัฒนาชุมชน จำนวน 26 รางวัล ผู้นำสตรีดีเด่นด้านการปกครองท้องถิ่น จำนวน 4 รางวัล พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการ ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนของผู้นำสตรีและภาคีเครือข่ายทั้ง 26 อำเภอในจังหวัดขอนแก่น

 



ดร.วันดี กล่าวว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทาน “หน้าที่สตรีไทย 4 ประการ” เป็นแนวปฏิบัติให้กับพวกเราสตรีไทย ได้แก่ 1) พึงทำหน้าที่เป็น “แม่ที่ดีของลูก” ดูแลให้ลูกหลานของเราได้เติบโตมีคุณภาพ ได้รับการศึกษา เป็นคนดีของสังคม 2) พึงเป็น “แม่บ้าน” ทำหน้าที่ดูแลบ้านของเราให้อยู่เย็นเป็นสุข ทำให้บ้านมีความน่าอยู่ของสมาชิกในครอบครัว ช่วยเก็บออมและเพิ่มพูนทรัพย์สินให้ครอบครัว รวมทั้งให้ความช่วยเหลือแก่คนรอบข้างตามสมควร 3) พึงพัฒนาตนเองให้มีความทันสมัย เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง 4) สืบสาน อนุรักษ์วัฒนธรรมของชาติไทยของเราให้สืบสานส่งต่อไปยังลูกหลานต่อไป ซึ่งทั้ง 4 ประการนี้ ล้วนเป็นหน้าที่สำคัญของสตรีทุกท่าน ซึ่งทุกท่านล้วนเป็นสตรีที่ทรงเกียรติ โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดในวันนี้ คือ การพัฒนาตนเองให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อที่เราจะได้ช่วยกันสร้างชุมชนเล็ก ๆ สร้างบ้านของเรา สร้างชุมชนของเราให้เข้มแข็ง


ดร.วันดี กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ที่องค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย ได้มีการจัดงานวันสตรีสากล ประจำปี 2565 ซึ่งตนได้บรรยายพิเศษถึงสิทธิความเท่าเทียม (Equality) ของสตรีในหลายมิติ ซึ่งในส่วนของสตรีไทยเรานั้นได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ได้พระราชทานแนวพระราชดำริอันล้ำค่าให้แก่พวกเราทุกคนที่ในชีวิตนี้ไม่รู้จะอีกกี่ชาติถึงตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทรงรื้อฟื้นส่งเสริมงานหัตถศิลป์ภูมิปัญญาการทอผ้าในประเทศไทย มีจุดเริ่มต้นที่ที่อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม โดยอาศัยหลักการที่ว่า “ฟื้นฟูการทอผ้าไหมในช่วงว่างจากการประกอบอาชีพทำนา” เพื่อเสริมรายได้ให้แก่ราษฎร ด้วยการเน้นการทอลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์พื้นบ้านอย่างแท้จริง จนกระทั่งต่อมามีราษฎรสนใจทอผ้าไหมมากขึ้น จึงได้จัดตั้งกลุ่มทอผ้าไหมในพระบรมราชินูปถัมภ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งถือว่าเป็น “กลุ่มทอผ้าไหมแห่งแรกของประเทศ” และได้โปรดพระราชทานจัดให้มีการอบรมสมาชิกกลุ่มทอผ้าไหม เพื่อเพิ่มพูนความรู้ในเรื่องการทอผ้าไหมให้ได้มาตรฐาน ตลอดจนอุปกรณ์ในการทอผ้าไหมให้แก่สมาชิก พร้อมกับโปรดรับซื้อผ้าไหมที่สมาชิกทอขึ้นทุกปี และทรงรับสั่งให้จัดตั้งเป็น “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” นอกจากนี้ พระองค์ท่านยังทรงส่งเสริมบทบาทของสตรีไทยให้มีความเท่าเทียมกับผู้ชายและได้มีโอกาสขึ้นมาเป็นผู้นำในครอบครัวร่วมกับผู้ชาย รวมถึงในด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

“บทบาทสตรีอยู่ที่พวกเราสตรีไทยทุกคน เราต้องทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์ เมื่อมีสุภาพบุรุษต้องมีสุภาพสตรี เมื่อมีสุภาพสตรีที่ไหน ก็จะเกิดชุมชนที่เป็นบรรยากาศแห่งความเป็นแม่ ดังนั้น สตรี จึงมีความสำคัญกับสังคมไทย และสังคมโลกเป็นอย่างมาก”ดร.วันดี กล่าว



ประธานสภาสตรีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอฝากผู้นำสตรีจังหวัดขอนแก่นทุกท่านในเรื่องกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ซึ่งจากข้อมูลปี 2562 กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีมีหนี้เสียถึงร้อยละ 53 และต่อมาในปี 2564 สามารถลดหนี้เสียลงไปมากถึงร้อยละ 40 คงเหลือเพียงร้อยละ 13 ด้วยความมุ่งมั่นของสตรีทั้งประเทศที่ต้องการรักษากองทุนนี้ โดยในเดือนกันยายน 2565 นี้ พวกเราสตรีไทยทุกคนได้ให้คำมั่นสัญญากันว่า จะลดหนี้เสียทั้งหมดลงเหลือไม่เกินร้อยละ 5 เพื่อให้กองทุนนี้เป็นกองทุนหลักที่สตรีไทยทุกคนที่ประสงค์จะประกอบอาชีพ ได้มีเงินทุน จึงถือเป็นความสำเร็จอย่างนึงของพวกเราสตรีไทยในการรักษากองทุนนี้ให้ยั่งยืนไว้ให้กับลูกหลานของเราสืบไป

“ประเทศไทยของเราโชคดี ที่วันสตรีไม่ได้มีเพียงวันสตรีสากล แต่เรามีวันสตรีไทย ในวันที่ 1 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานให้เป็น “วันสตรีไทย” โดยสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์จะได้มีการจัดงานวันสตรีไทยเป็นประจำทุกปี และขอเชิญชวนพี่น้องสตรีไทยจังหวัดขอนแก่นได้ไปร่วมงานโดยพร้อมเพรียงกัน” ดร.วันดี กล่าว

นางทัศนีย์ ศรีโสภา รองประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า จังหวัดขอนแก่น โดยคณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดขอนแก่น (กพสจ.) ขอรับการสนับสนุนเงินทุนประเภททุนอุดหนุนจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดขอนแก่น เพื่อเสริมสร้างศักยภาพ ในการพัฒนาตนเองของเป็นที่ยอมรับของสังคม เป็นการเชื่อมโยงเครือข่าย สมาชิกพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดขอนแก่น คณะกรรมการพัฒนาสตรีระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และคณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีตำบล อาสาสมัครกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีหมู่บ้าน สมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีทุกอำเภอ ทั้ง 26 อำเภอ โดยจังหวัดขอนแก่นมีสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ประเภทองค์กร จำนวน 1,435 องค์กร และประเภทบุคคล จำนวน 429,421 ราย เนื่องในโอกาสวันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี ได้กำหนดให้เป็นวันสตรีสากล และเพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติและประกาศเกียรติคุณสตรี บุคคล และหน่วยงานองค์กรดีเด่น เนื่องในวันสตรีสากล คณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดขอนแก่น ร่วมกับสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดขอนแก่น ได้กำหนดจัดกิจกรรมเนื่องในวันสตรีสากล ประจำปี พ.ศ. 2565 ในวันนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง