หมู่บ้านห้วยสะพาน ต.หนองโรง อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี มีประเพณีที่สืบทอดกันมานานนมนั่นคือการทำ “บุญลาน” ทุกปีหลังฤดูเก็บเกี่ยวก่อนจะนำข้าวขึ้นยุ้งฉาง จำได้ว่าเมื่อสมัยเด็ก ๆ จะต้องหอบฟ่อนข้าวมาวางซ้อนกันจนสูงเป็นกองพะเนิน บ้านไหนได้ข้าวดีก็จะเห็นฟ่อนข้าวท่วมหัว และกลายเป็นที่เล่นให้เด็ก ๆ ปีนอย่างสนุก เมื่อทุกครอบครัวนำข้าวมารวมกันก็จะร้องเพลงบ้าง เช่นรำเหย่ย เต้นกำรำเคียว ฉ่อย อีแซว เพื่อผ่อนคลายจากความเหนื่อยล้า สร้างขวัญและกำลังใจ ณ ที่ลานดินโล่ง ๆ พอฤกษ์ดี ก็จะนิมนต์พระมาสวดเจริญพระพุทธมนต์เสริมขวัญกำลังใจ อีกนัยหนึ่งยังเป็นการทำบุญถวายพระแม่โพสพอีกทางหนึ่งด้วยเมื่อวันเวลาผ่านไปบริบทหลายอย่างก็เปลี่ยน การทำนามุ่งเน้นเพื่อผลผลิต จึงนิยมใช้รถเกี่ยวข้าวแทนแรงงานคน ที่สามารถเกี่ยวและนวดข้าวในคราวเดียว หลายหมู่บ้านประเพณีเช่นนี้จึงหายไป แต่เป็นความโชคดีที่บ้านหนองกระจันทร์ที่ผู้เขียนอาศัยอยู่ยังคงสืบสานประเพณีดี ๆ นี้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าระบบกสิกรรมจะเปลี่ยนไปเช่นไรทุกอย่างเริ่มเมื่อผู้ใหญ่ตกลงฤกษ์ยามกับลูกบ้านพร้อมแล้วจึงนิมนต์พระสงฆ์ และก่อนหน้าวันงานจะมีการโยงสายสิญจน์ (จากเคยจัดที่ลานข้าวของหมู่บ้าน ตอนนี้เปลี่ยนมาจัดที่กลางหมู่บ้าน เพื่อความสะดวก) เส้นขาว ๆ ระโยงระยางเพื่อความเป็นสิริมงคล บ้านไหนยุ้งมากก็โยงผูกเยอะหน่อย ลัดเลาะบ้านต่าง ๆ จนทั่วทั้งหมู่บ้าน เป็นอันเสร็จขั้นตอนแรกขั้นต่อมาคือการสวดพระพุทธมนต์เย็น จะเริ่มในตอนค่ำ ๆ ก่อนวันงาน ทุกคนในหมู่บ้านจะพร้อมใจกันมานั่งฟังพระสงฆ์สวดอย่างตั้งใจ จนเช้าตรู่วันงานพี่ป้าน้าอา จะทยอยกันมาพร้อมกับข้าว ขนม ที่เตรียมไว้คนละอย่างสองอย่าง วางจัดเป็นชุด ๆ แยกกัน พระสงฆ์เดินทางมาถึง ก็จะช่วยกันลำเลียงกับข้าวถวายเป็นภัตตาหารเช้าเมื่อพระท่านสวดจนเสร็จพิธี และทำภัตกิจ ฉันอาหารเช้าเรียบร้อย บางทีก็จะมีการสนทนาเรื่องราวต่าง ๆ เหมือนเป็นการสื่อสารระหว่างคนกับวัด เชื่อมสายสัมพันธ์ไม่ให้ขาดจากกัน หลวงพ่อจะทำน้ำมนต์และเดินประพรมบรรดาทุกคนที่มา เลยไปตามยุ้งบ้างจนครบ หลังจากนั้น ทุกคนในหมู่บ้านจะล้อมวงกินอาหารเช้าด้วยกันอย่างมีความสุข ถามไถ่เรื่องนาบ้าง ผลผลิตบ้าง หลังจากที่ต้องต่างคนทำนาไร่ของตนมีเวลาพบปะกันน้อยลง (ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ร่วมด้วยช่วยกันมากกว่านี้ เพราะต้องเอาแรงลงแขกเกี่ยวข้าว ขุดมัน) นี่คือข้อดีอย่างหนึ่งของการทำบุญลานการทำบุญลาน จึงไม่ใช่เพียงพิธีกรรมแต่ยังแฝงไว้ด้วยกุศโลบาย หลายประการ ที่เห็นได้ชัดคือการสอนให้รู้จักคุณค่าของข้าว คุณค่าของธรรมชาติ และการสร้างความสามัคคีในชุมชน การช่วยเหลือเอื้ออาทรกัน ซึ่งเป็นส่วนพื้นฐานสำคัญให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้าได้อย่างยั่งยืนภาพทั้งหมดโดยชาตรี แก้วบุญเพิ่ม ผู้เขียน