คร.แจงเด็ก 2 ขวบดับ อาจเกิดจากภาวะ MIS-C อักเสบหลายอวัยวะ ไม่ใช่ลองโควิด
ข่าววันนี้ 25 ก.พ.65 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) ให้ส้มภาษณ์กรณีข่าวเด็กอายุ 2 ขวบ เสียชีวิตจากภาวะลองโควิด ว่า เรามี 2 คำที่มีความแตกต่างกัน คือ "ลองโควิด" ซึ่งหายจากโรคโควิดแล้วเกิดอาการผิดปกติ เช่น อ่อนเพลีย อาการทางสมองอื่นๆ ซึ่งมีหลายอาการมาก เป็นภาวะใหม่ที่องค์การอนามัยโลกและผู้เชี่ยวชาญกำลังติดตามอย่างใกล้ชิด
เป็นได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก และ "ภาวะอักเสบหลายอวัยวะ (MIS-C)" เกิดขึ้นในเด็กและผู้ใหญ่ได้ เช่น อักเสบที่ไต สมอง ฯลฯ ตามแต่ละบุคคล เชื่อว่าเกิดจากเชื้อไวรัสโควิดกระตุ้นภูมิคุ้มกันมากเกินไป ทำให้เกิดการอักเสบขึ้น แต่ไม่ได้แปลว่าจะเกิดขึ้นในเด็กทุกคน อาจเกิดในเด็กบางคนแต่เกิดขึ้นไม่มาก วิธีป้องกันคือป้องกันการติดเชื้อ ส่วนหนึ่งคือการฉีดวัคซีน ซึ่งจะช่วยป้องกันการติดเชื้อ หรือหากติดเชื้อก็ลดความรุนแรง เข้าใจว่าข่าวที่ออกมาและมีเด็กเสียชีวิต น่าจะมีจากภาวะ MIS-C มากกว่า
สำหรับภาวะ MIS-C เนื่องจากเป็นการอักเสบในหลายอวัยวะ ทำให้มีอาการต่างกัน เช่น อักเสบที่ไตอาการแบบหนึ่ง อักเสบที่สมองหรือเส้นเลือดก็จะมีอาการแบบหนึ่ง ดังนั้น หากมีอาการผิดปกติหลังเป็นโควิดให้ไปพบแพทย์เพื่อดูแลรักษาต่อไป
ส่วนใหญ่มักเกิดหลังจากหายโควิด เพราะเกิดจากร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันมากเกินไป แต่ขึ้นกับร่างกายของแต่ละคน บางส่วนก็อาจเกิดขึ้นระหว่างยังติดโควิดได้ โดยภาวะนี้เป็นโรคใหม่ ยังไม่มียารักษา ภาพรวมหลังจากเด็กหายจากโควิดจะต้องมีการติดตามทุกราย อาจนัดเด็กเป็นรายๆ ไป ดูตามอาการไป ซึ่งหลังหายเราให้คำแนะนำ ถ้าอาการผิดปกติให้พบแพทย์ ซึ่งตามปกติเด็กเล็กจะมีการนัดไปพบแพทย์เป็นประจำอยู่แล้ว
"เด็กที่เป็นโควิดหายแล้วหรือยังเป็นโควิด หากมีภาวะแทรกซ้อนดูไม่ปกติให้ไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยจะดีที่สุด ซึ่งเด็กติดเชื้อไม่มีอาการก็อาจเกิดขึ้นได้ เพราะตอนติดเชื้ออาจไม่มีอาการ แต่พบว่าส่วนหนึ่งจะสัมพันธ์กับอาการที่รุนแรง การรักษาเจาะจงยังไม่มี โดยรักษาประคับประคองตามอาการหรือรักษาอวัยวะที่อักเสบ แต่ถ้ารักษาเร็วป้องกันภาวะแทรกซ้อนได้เร็ว ผลลัพธ์ก็น่าจะดีกว่า" นพ.โอภาสกล่าวและว่า ภาวะนี้ให้ระวังแต่อย่าตื่นตระหนกเกินไป เพราะไม่ได้เกิดบ่อยในเด็กติดเชื้อ เกิดได้แต่ไม่ใช่ทุกรายทุกคน หากเกิดผิดปกติหลังหายโควิดให้พบแพทย์เพื่อดูแลต่อไป
ถามว่าผู้ปกครองอาจกังวลจึงพยายามพาลูกไป รพ. ทั้งที่ช่วงนี้พยายามเน้นให้เด็กเข้า HI นพ.โอภาสกล่าว โรคโควิดและ MIS-C เป็นคนละโรคกัน แต่มีความเชื่อมโยง การทำ HI เอาไว้รักษาโควิด เพราะเชื้อกำจัดไปได้หมดเอง ส่วน MIS-C มักเกิดตามหลัง หากอาการผิดปกติก็ควรไปพบแพทย์
ถามว่าภาวะอักเสบหลายอวัยวะเกิดจากสาเหตุหรือโรคอื่นใดได้อีก นพ.โอภาสกล่าวว่า เกิดจากภูมิคุ้มกันตัวเอง ไวรัสหลายตัว หรือการกินยาบางอย่างก็กระตุ้นให้เกิดขึ้นได้
ซึ่งโรคที่ทำให้เกิดแน่ชัดจะมีชื่อเรียกเฉพาะ แต่โควิดเป็นโรคใหม่ จึงจัดชื่อกลุ่มอาการว่า MIS-C ไปก่อน จนกว่าจะรู้พยาธิสภาพหรือมีความรู้มากกว่านี้อาจเปลี่ยนชื่อโรคได้ แต่มีหลายโรคที่ทำให้เกิดอักเสบหลายอวัยวะ เช่น โรคพุ่มพวง
เมื่อถามว่า ต้องเฝ้าระวังนานภาวะ MIS-C ที่จะเกิดขึ้นไปอีกนานแค่ไหน เช่น 6 เดือน หรือ 1 ปี นพ.โอภาสกล่าวว่า 1 ปีอาจยังเร็วเกินไป แต่ขอให้หลังจากหายแล้วระยะหนึ่งหากผิดปกติไปพบแพทย์ ซึ่งโควิดเป็นโรคใหม่ MIS-C ก็ใหม่กว่า ต้องใช้เวลาอีกระยะที่จะเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ ว่าเกิดจากอะไร
ต้องติดตามอาการดูแลรักษารายบุคคล สำคัญคือไม่ติดเชื้อไม่ป่วยดีกว่า จึงเชิญชวนไปฉีดวัคซีน มีทั้งไฟเซอร์และซิโนแวค ซึ่งขณะนี้ฉีดในเด็กได้ 8 กว่า% ของกลุ่มเด็กที่ต้องรับวัคซีน ซึ่งไฟเซอร์เราเจรจาให้ส่งเพิ่มจาก 3 แสนโดสต่อสัปดาห์เป็น 5 แสนโดสต่อสัปดาห์