รีเซต

Editor’s Pick: ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แถลงข่าวต่อกองทัพสื่อมวลชนด้วยตัวเองครั้งแรก นับแต่ขึ้นรับตำแหน่ง

Editor’s Pick: ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แถลงข่าวต่อกองทัพสื่อมวลชนด้วยตัวเองครั้งแรก นับแต่ขึ้นรับตำแหน่ง
TNN World
26 มีนาคม 2564 ( 10:25 )
109
Editor’s Pick: ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แถลงข่าวต่อกองทัพสื่อมวลชนด้วยตัวเองครั้งแรก นับแต่ขึ้นรับตำแหน่ง

Editor’s Pick: นี่คือการแถลงข่าวต่อกองทัพสื่อมวลชนด้วยตัวเองครั้งแรก ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน นับแต่ขึ้นรับตำแหน่ง กับหลากหลายประเด็นที่เขาพูดถึง ตั้งแต่การเมืองในสหรัฐฯ การแก้ปัญหาโควิด-19 ไปจนถึงนโยบายต่างประเทศ


ทีมข่าว TNN World จึงอยากนำมาแจกแจง สำหรับคนที่ติดตามผลงาน 2 เดือนของไบเดนมาโดยตลอด ดังนี้ 

 

วิกฤตโควิด-19
ไบเดน ย้ำแล้วย้ำอีกถึงภารกิจขจัดโควิด-19 นับแต่ขึ้นรับตำแหน่ง และเหตุผลที่ต้องรอถึง 2 เดือน กว่าเขาจะมาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนด้วยตนเอง ก็เพราะ ‘งานเขาล้นโต๊ะ’ จนไม่มีเวลา


แต่ก็ถือว่าเขาเลือกจังหวะถูกมาก เพราะใช้โอกาสนี้ ประกาศเป้าหมายใหม่ คือ ‘100 วันแรก ฉีดวัคซีนให้ได้ 200 ล้านคน’ หรือเพิ่มขึ้น 100 ล้านคนจากเป้าหมายเดิม


“ประชาชนเลือกผมมาแก้ปัญหา” เขาตอบ


แต่พอสื่อมวลชนพยายาม ถามย้ำถึงเป้าหมายถัดไปของไบเดน หลังโควิด-19 อยู่ในการควบคุม รวมไปถึงการควบคุมปืน หลังเหตุกราดยิงอุกอาจ 18 ศพ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ไบเดนกลับเหมือนพยายามกลบเกลื่อนด้วยคำตอบ ‘ชักแม่น้ำทั้งห้า’


“ประธานาธิบดีที่ประสบความสำเร็จมากกว่าผม พวกเขาทำสิ่งที่ตั้งใจสำเร็จเป็นส่วนใหญ่ได้ ก็เพราะพวกเขารู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่”


คำตอบหลังจากนั้นยืดยาว ไม่ตรงประเด็น เราขอข้ามไปเลย

 

นโยบายต่างประเทศ
นโยบายต่างประเทศกับไบเดน คือ “รักแรกพบ” เขาเคยบอกอย่างนี้จริง ๆ แต่ช่วงรับตำแหน่งใหม่ ๆ ประเด็นต่างประเทศดูห่างไกลจากความสนใจของสื่ออเมริกัน เพราะมีเรื่องโควิด-19 เป็นปัญหาเร่งด่วน


แต่สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว โดยเฉพาะหลังเกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธ 2 ครั้งซ้อนในสัปดาห์นี้ ครั้งล่าสุดแบบสด ๆ ร้อน ๆ ก่อนที่ไบเดนจะขึ้นแถลงข่าวเลยทีเดียว


ไบเดนกล่าวว่า สหรัฐฯ ยังคงเปิดกว้างสู่การแก้ปัญหาทางการทูตกับเกาหลีเหนือ แต่ก็เตือนว่า สหรัฐฯ จะตอบโต้หากเกาหลีเหนือยังดื้อดึงที่จะยกระดับความตึงเครียด 

 

จุดยืนอเมริกาในเวทีโลก
ไบเดน ต้องการเชื่อมและพัฒนาความสัมพันธ์กับพันธมิตรของสหรัฐฯ หลัง 4 ปีที่ห่างเหินไปภายใต้โดนัลด์ ทรัมป์


แต่เขายอมรับว่า เผชิญความท้าทายบางประการ ที่คล้ายกับที่ทรัมป์เคยเผชิญเช่นกัน นั่นรวมถึง การถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน


เขายอมรับว่า อาจจะยากที่จะถอนทหารออกทันเดดไลน์ วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ แต่เขามั่นใจว่า ปีหน้า จะไม่เหลือทารอเมริกันอยู่ในอัฟกานิสถานแล้ว

 

 ‘ลุง’ จะลงเลือกตั้งอีกไหม
อีกคำถามที่ตามติดกันมา และน่าสนใจ คือ ไบเดนจะลงสมัครเลือกตั้งสมัยที่ 2 หรือไม่
ไบเดน ตอบแบบ ‘พาดพิง’ รีพับลิกันอย่างเจ็บแสบว่า ต้องถามว่าถึงตอนนั้น พรรครีพับลิกันจะยังมีอยู่หรือไม่ ในอีก 3 ปีครึ่งนับจากนี้


นี่เป็นความแค้นฝังใจ เพราะไม่มีพรรครีพับลกันในสภาคองเกรสที่สนับสนุนกฎหมายเยียวยาโควิด-19 ของไบเดนเลย ทั้งที่ ผลสำรวจพบว่า ผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกันจำนวนมากเห็นด้วยกับกฎหมายนี้
เขายอมรับ “ผมยังไม่สามารถสร้างเอกภาพในคองเกรสได้ แต่ผมสร้างความสมานฉันท์ในประเทศได้แล้ว ถ้ายึดตามผลสำรวจความคิดเห็น”


หลังลากยาว จนผู้สื่อข่าวต้องถามย้ำหลายรอบ โจ ไบเดน ก็ยอมรับว่า เขามีแผนจะลงเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2024 ซึ่งนี่เป็นครั้งแรกที่ไบเดน ประกาศแผนจะลงเลือกตั้งสมัยสอง
“ผมเป็นผู้เลื่อมใสในโชคชะตา ผมวางแผนล่วงหน้า 4 ปีครึ่ง หรือ 3 ปีครึ่งไม่ได้หรอก”

 

ลุง...จะไหวไหมตอนนั้น
CNN ระบุว่า คนที่ทำงานกับไบเดนบางครั้งบอกว่า เขาชอบอารมณ์ขึ้น เวลาเจอสถานการณ์ท้าทาย และท่านชอบพูดอะไรอ้อมค้อม


การแถลงข่าวครั้งนี้ก็เช่นกัน ผู้สื่อข่าวพยายามเค้นคำตอบถึงอนาคตทางการเมืองของไบเดนออกมาให้ได้ ไม่ใช่เพราะอะไร ก็เพราะอายุเขามากแล้ว


ไบเดน อายุ 78 ปีแล้ว เคยกระดูกขาร้าว หกล้มระหว่างขึ้นเครื่องบินแอร์ฟอร์ชวัน แล้วอีก 4 ปี เขาอายุ 82 ปี เขาจะลงเลือกตั้ง หรือแม้กระทั่งลงพื้นที่หาเสียงไหวไหม


“ผมตอบคำถามยาวไปไหม...บางทีผมควรจบแค่นี้” และก็จบประเด็นนี้ไปเลย

 

อภิปรายยาวยืด...จนกฎหมายไม่ผ่าน
ไบเดนยอมรับว่า เขาพร้อมที่จะพิจารณาการปฏิรูป เพื่อแก้ปัญหา ความพยายามขัดขวางการผ่านมติในวุฒิสภา ด้วยการอภิปรายแบบยืดยาวไม่รู้จบ หรือ Senate Fillibuster 


“เราต้องก้าวล้ำไปกว่าสิ่งที่ผมเคยพูดถึงไปแล้ว” ไบเดน สรุป หลังตอบคำถามยืดยาวถึงคำมั่นสัญญาที่เขาให้ไว้กับชาวอเมริกัน


เป็นพัฒนาการที่อย่างน้อยก็ดีขึ้นจากในอดีต รวมถึงสะท้อนความตั้งใจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะผ่านกฎหมายแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เขาให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ ตั้งแต่ การควบคุมปืน ผู้อพยพเข้าเมือง ปัญหาโลกร้อน เป็นต้น ซึ่งการผ่านกฎหมายในวุฒิสภา ที่เสียงเท่ากับ 50-50 เสียงนั้น ปัญหา Senate Fillibuster เป็นกระบวนการที่ขัดขวาง ‘คำมั่นสัญญา’ เหล่านี้ ที่ไบเดนเคยให้ไว้กับชาวอเมริกัน

 

คิดถึง...ทรัมป์ไหม?
“ประธานาธิบดีคนก่อนผมน่ะหรือ (โดนัลด์ ทรัมป์)...โอ้ พระเจ้า ผมคิดถึงเขา


—————


เรื่อง: ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล
ภาพ: Reuters

ข้อมูลอ้างอิง: TNN World

ภาพปกโดย BarBus จาก Pixabay 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง