ศก.ไทยอ่วม! สภาพัฒน์ห่วงหนี้ครัวเรือนพุ่ง 80% หนี้เสียทะลุ 1.5แสนล้านบ. จีดีพีติดลบ12.2%
ศก.ไทยอ่วม คนไทยว่างงานไตรมาส2 กว่า 7.5 แสนคน มากสุดรอบ 11 ปี สภาพัฒน์ห่วงหนี้ครัวเรือนพุ่ง 80% หนี้เสียทะลุ 1.5แสนล้านบ. จีดีพีติดลบ12.2%
เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่าผลพวงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกรวมทั้งเศรษฐกิจไทย ล่าสุดนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการกีดกันทางการค้าตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2561 จนถึงปัจจุบัน
ประกอบกับเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ส่งผลให้เศรษกิจไทยในไตรมาส 2 ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ติดลบ 12.2% ส่วนเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2563 คาดว่าจะปรับตัวลดลงในช่วงติดลบที่ 7.8% ถึง 7.3% ซึ่งถือเป็นการปรับตัวลดลงจากเดิมที่คาดไว้ว่าจะติดลบในช่วงลบ 6.0% ถึง 5.0% เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากต่างชาติที่ลดลงมาก ภาวะความถดถอยรุนแรงของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก รวมถึงผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ในประเทศ และปัญหาภัยแล้งด้วย
ตกงานไตรมาสสองสูงสุด11ปี
นายทศพรกล่าวว่า ภาวะสังคมไทยในไตรมาส 2 ยังมีความน่ากังวลอยู่มาก เนื่องจากพบว่าการจ้างงานลดลงถึง 1.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยตัวเลขการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 7.5 แสนคน ถือเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 11 ปี นับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2552 โดยขณะนี้มีจำนวนผู้ว่างงานสะสมในปัจจุบันกว่า 2 ล้านราย ในจำนวนนี้แบ่งเป็น ผู้ว่างงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม 400,000 คน ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 1.7 ล้านคน แม้จะว่างงาน แต่ยังมีสถานะของการจ้างงานอยู่ เพียงแต่ไม่ได้รับเงินจากนายจ้าง เนื่องจากธุรกิจได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ต้องหยุดกิจการหรือปิดตัวชั่วคราว
โดยคาดว่าหากสถานการณ์กลับมาคลี่คลายได้ปกติแล้ว กลุ่มนี้ก็จะมีสถานะการจ้างงานกลับเข้ามาตามเดิม เพราะขณะนี้หลังจากมีการคลายล็อกดาวน์ มีธุรกิจกลับมาดำเนินการได้อีกครั้งก็เริ่มเห็นการจ้างงานและการมีรายได้ของแรงงานมากขึ้นแล้ว จึงเชื่อว่าตัวเลขการว่างงานในปี 2563 คงไม่ได้สูงถึง 7-8 ล้านคน อย่างที่หลายฝ่ายกังวล เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้แล้วบางส่วน การป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ของประเทศไทยก็ทำได้ดีกว่าหลายประเทศ แต่ยังเป็นห่วงแรงงานในกลุ่มอาชีพอิสระอีก 16 ล้านคน เนื่องจากกลุ่มนี้มีความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจ หากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็วโอกาสเสี่ยงของผู้ว่างงานในอาชีพอิสระก็จะลดลง
หนี้ครัวเรือนพุ่ง80.1%สูงสุด4ปี
นายทศพรกล่าวว่า มีความกังวลด้านหนี้สินในภาคครัวเรือนที่เริ่มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยขยายตัวกว่า 3.9% ซึ่งเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นที่ลดลงตามสถานการณ์ของเศรษฐกิจ และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีความไม่แน่นอนสูง ส่งผลให้ความต้องการอุปโภคและบริโภคของครัวเรือนปรับตัวลดลง รวมถึงความต้องการสินเชื่อของครัวเรือนในเกือบทุกประเภทเพิ่มขึ้น ส่งผลให้หนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีไทย ขยับขึ้นมาที่ 80.1% ซึ่งเป็นระดับที่ถือว่าสูงสุดในรอบ 4 ปี ทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) มีมูลค่ากว่า 1.5 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม มองว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ถือว่าได้ผ่านจุดต่ำสุด และจะเริ่มฟื้นตัวไตรมาส 3 และ 4 ส่วนจะฟื้นตัวได้เร็วมากน้อยเท่าใด ขึ้นอยู่กับการพัฒนาวัคซีน ซึ่งหากเป็นไปตามคาด จะมีวัคซีนออกมาใช้รักษาคนได้ภายในกลางปี 2564 ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นชัดเจนช่วงครึ่งปีหลังปี 2564 ตอนนี้จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการต่างๆ เพื่อประคองเศรษฐกิจ ทั้งการใช้จ่ายภาครัฐ การสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ การออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของกลุ่มผู้ที่ยังมีกำลังซื้ออยู่ ซึ่งเชื่อว่ายังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังมีกำลังซื้อ สะท้อนได้จากยอดจองรถยนต์รุ่นใหม่ที่มีมากกว่า 6,000 คัน
ห่วงม็อบลุกลามกระทบศก.
“ในส่วนของสถานการณ์ทางการเมือง ที่มีการชุมนุมแสดงออกทางการเมือง และลงถนนกันมากขึ้นนั้น ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่หากสถานการณ์ขยายตัวและลุกลามรุนแรงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในระยะถัดไป เนื่องจากขณะนี้นักลงทุนมีความกังวลในการลงทุนอยู่แล้ว หากมีความไม่แน่นอนหรือขาดเสถียรภาพทางการเมืองขึ้นอีก อาจทำให้คนยิ่งกลัวในการบริโภคและการลงทุนมากขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบแน่นอน แต่ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะส่งผลกระทบมากหรือน้อยเท่าใด คงต้องประเมินตัวเลขต่อไป” นายทศพรกล่าว
นายทศพรกล่าวว่า สำหรับการบริโภคภาคเอกชนติดลบอยู่ที่ 6.6% เทียบกับการขยายตัว 2.7% ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา สอดคล้องกับฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจและการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคในช่วงการระบาดของโควิด-19 ด้านการใช้จ่ายของรัฐบาลเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.4% เทียบกับการปรับตัวลดลง ติดลบ 2.8% ในไตรมาสแรก ด้านการลงทุนรวมปรับติดลบ 8.0% เทียบกับการติดลบ 6.5% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลงอยู่ที่ ติดลบ 15.0 ต่อเนื่องจากการติดลบ 5.4% ในไตรมาสก่อนหน้า การลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 12.5% เทียบกับการปรับตัวลดลง ติดลบ 9.3% ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการลงทุนของภาครัฐบาลที่เพิ่มขึ้น 21.0% ขณะที่การลงทุนรัฐวิสาหกิจติดลบอยู่ที่ 0.8%
บัญชีเดินสะพัดขาดดุล0.8%/จีดีพี
นายทศพรกล่าวว่า ในด้านภาคต่างประเทศ การส่งออกมีมูลค่า 49,797 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 17.8% เทียบกับการขยายตัว 1.4% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามภาวะถดถอยรุนแรงของเศรษฐกิจและการค้าโลก โดยปริมาณการส่งออกติดลบ 16.1 และราคาส่งออกติดลบ 2.0% ด้านการนำเข้าสินค้ามีมูลค่า 41,746 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 23.4% เทียบกับการติดลบ 1.0% ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงของการส่งออก อุปสงค์ในประเทศและราคาการนำเข้าสินค้า
โดยปริมาณการนำเข้าติดลบ 19.3% ส่วนราคานำเข้าติดลบ 5.1% ในส่วนของภาคการท่องเที่ยวในไตรมาส 2 มีรายรับรวมจากนักท่องเที่ยว 0.019 ล้านล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 97.1% โดยรายรับรวมจากนักท่องเที่ยวชาวไทยอยู่ที่ 0.019 ล้านล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 92.7% ขณะที่รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงทั้งหมด
ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั่วไปลดลง 2.7% บัญชีเดินสะพัดขาดดุล 0.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 0.8% ของจีดีพี เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน มิถุนายน 2563 อยู่ที่ 241.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือน มิถุนายน 2563 มีมูลค่า 7,433.1 พันล้านบาท คิดเป็น 44.8% ของจีดีพีรวม