10 วิธีทิ้งยาหมดอายุในบ้าน ให้ปลอดภัยต่อผู้อื่นและดีต่อสิ่งแวดล้อมยา คือ สารที่ใช้ในการรักษาหรือป้องกันโรคหรือใช้ในการแก้ไขสภาวะทางกายหรือจิตใจที่ผิดปกติ โดยส่วนมากแล้วยามีส่วนผสมของสารเคมีที่มีผลต่อร่างกาย อาจเป็นสารสังเคราะห์จากธรรมชาติหรือสารที่สร้างขึ้นในห้องปฏิบัติการ ยามักถูกผลิตเพื่อทำหน้าที่ในการบำบัดหรือแก้ไขอาการที่ผิดปกติที่เกิดขึ้นในร่างกาย จากที่ยามีอายุในการใช้งานที่จำกัด อายุของยาชนิดหนึ่งจึงบ่งบอกถึงระยะเวลาที่ยาชนิดนั้นๆ ยังมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยในการใช้งานได้ค่ะ การหมดอายุของยาส่วนใหญ่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของส่วนผสมในยา สารเคมีในยาอาจเสื่อมสภาพหรือสลายตัวลงเมื่อเวลาผ่านไปค่ะ และทำให้ด้อยประสิทธิภาพในการรักษาหรือป้องกันโรคกว่าที่ควรจะเป็นดังนั้นเวลาต้องใช้ยาเราต้องตรวจสอบวันหมดอายุของยาทุกครั้งค่ะ การดูวันหมดอายุของยาสามารถทำได้โดยการตรวจดูที่ฉลากบนบรรจุภัณฑ์ของยา ซึ่งจะมีวันที่ๆ เขียนอยู่เพื่อแสดงถึงวันที่ยาหมดอายุ เป็นรูปแบบของวันที่ค่ะ เช่น 09/2023 หรืออาจใช้ตัวย่อ เช่น EXP 09/23 หรือ BBF 09/23 ซึ่งถ้าพบว่ายาหมดอายุแล้วก็ต้องทิ้งยาชนิดนั้นค่ะ เพราะยาที่หมดอายุอาจเป็นอันตรายเนื่องจากสามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์หรือมีผลกระทบที่อาจจะไม่คาดคิดต่อร่างกายของเราได้ค่ะ โดยมีหลายสาเหตุที่ทำให้ยาหมดอายุได้ ต่อไปนี้คือตัวอย่างของสาเหตุที่ทำให้ยาหมดอายุได้ที่นอกเหนือไปจากวันหมดอายุที่ระบุไว้บนฉลากค่ะ- การเสื่อมสภาพของส่วนผสม สารสำคัญในยาอาจสลายหรือเสื่อมสภาพได้เมื่อยาหมดอายุ ซึ่งอาจทำให้ยาไม่มีประสิทธิภาพในการรักษาหรือส่งผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์กับผู้ใช้ยาได้ค่ะ การเสื่อมสภาพบางครั้งอาจเกิดเนื่องจากการใช้งานที่ไม่ถูกต้องก็ได้ค่ะ เช่น วางยาไว้ในอุณหภูมิสูงเกินไป ยาถูกเก็บไว้ในระดับความเย็นที่ไม่เหมาะสม หรืทวางยาไว้ในที่ๆ แสงแดดสามารถส่องถึงได้ เป็นต้น ดังนั้นต่อให้ยายังมีอายุไม่ถึงตามวันหมดอายุที่กำหนด จึงจำเป็นต้องตรวจดูสภาพของยาร่วมกับวันหมดอายุของยาทุกครั้งค่ะ- การเปลี่ยนแปลงทางเคมีของยา ในบางครั้งยาที่หมดอายุอาจเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเคมีของตัวยาเอง ที่อาจเป็นได้ว่ามีเรื่องของความร้อนความเย็นเข้ามาเกี่ยวข้องค่ะ จึงทำให้สารสังเคราะห์ในสูตรยาเสื่อมสภาพลง ซึ่งถ้ายังใช้ยาชนิดนั้นอยู่อาจทำให้สารเคมีเหล่านั้นเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ยาได้ค่ะ- ยาเสื่อมสภาพจากการปนเปื้อนของแบคทีเรีย ในบางกรณียาที่หมดอายุอาจเป็นเพราะมีแบคทีเรียเนื่องจากการใช้งานที่ไม่ถูกต้องค่ะ เช่น การยกขวดยาดื่มโดยตรงแทนที่จะเทใส่แก้วยาหรือช้อนตวงยาค่ะ พอยาปนเปื้อนด้วยแบคทีเรียจึงทำให้แบคทีเรียทำงานและยาจึงเสื่อมสภาพตามมาค่ะเมื่อพบว่ามียาหมดอายุในบ้านเราก็ต้องทิ้งถูกต้องไหมคะ? และเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากยาที่หมดอายุ เราจึงต้องให้ความสำคัญกับการทิ้งยาที่หมดอายุอย่างถูกต้องเหมาะสมและสอดคล้องกับนโยบายการจัดการขยะในชุมชนของเราค่ะ โดยการจัดการขยะจากยาที่หมดอายุนั้นมีความสำคัญที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของคนอื่นด้วยค่ะ เนื่องจากว่าผู้เขียนเคยเห็นคนเอายาหมดอายุมาทิ้งแต่หลังจากนั้นก็มีคนอื่นมาเก็บยาเหล่านั้นกลับบ้านไป ก็ไม่รู้ว่าเอาไปใช้หรือทำอะไรค่ะ จากสถานการณ์นี้จึงมองว่าการทิ้งยาหมดอายุก็ต้องเรียนรู้กันค่ะ จึงอยากส่งต่อ 10 วิธีทิ้งยาหมดอายุในบ้าน ให้ปลอดภัยมากขึ้นทั้งต่อผู้อื่นและในขณะเดียวกันก็ดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วยไว้ในบทความนี้ค่ะ1. ทิ้งยาที่หมดอายุแล้วตามคำแนะนำบนฉลากยา ยาบางตัวอาจมีคำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการทิ้งยาที่เหมาะสมค่ะ ซึ่งอาจแนะนำให้ทิ้งในถังขยะทั่วไปหรือนำไปคืนที่ร้านขายยาหรือสถานที่ๆ จ่ายยามาให้กับเราค่ะ ต้องอ่านข้อมูลบนฉลากยาก่อนค่ะ2. ในกรณีที่สามารถทิ้งเป็นขยะทั่วไปได้ สำหรับยาเม็ดแนะนำให้ฉีกออกจากแผงยาหรือเทเม็ดยาออกจากกระปุกค่ะ เพราะจากที่ผู้เขียนเห็นมานั้นคนจะทิ้งยาหมดอายุมาทั้งแผง ทำให้คนอื่นสามารถเก็บไปต่อได้ค่ะ และนี่เองค่ะที่กลายเป็นความเสี่ยงและอันตรายด้านสุขภาพของคนในชุมชนจากที่เราทิ้งยาหมดอายุค่ะ3. ห้ามทิ้งยาในน้ำท่วมขังหรือแหล่งน้ำขัง เพราะยาก็คือสารอินทรีย์ชนิดหนึ่ง หากนำไปเทลงในแหล่งน้ำในลักษณะดังกล่าวจะทำให้เกิดน้ำเสียค่ะ และเมื่อน้ำเน่าเสียสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในแหล่งน้ำนั้นก็จะได้รับผลกระทบและตายลงค่ะ4. หากต้องการเทยาน้ำที่หมดอายุแนะนำให้เททิ้งในลักษณะการเจือจางกับน้ำเพื่อเป็นการลดความเข้มข้นของยาขนิดนั้นๆ ค่ะ ถึงแม้ว่าคนทั่วไปยาที่ใช้กันในบ้านจะไม่ได้มีเยอะหรือซับซ้อนมาก แต่การเทยาน้ำแบบเข้มข้นสามารถส่งผลต่อกระบวนการการย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำได้ค่ะ อย่างไรก็ตามจากที่ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับการดูแลระบบบำบัดน้ำเสียของโรงพยาบาลมานั้น ไม่พบว่ายาในโรงพยาบาลทำให้ระบบบำบัดน้ำเสียล่มค่ะ จึงสามารถคาดการณ์ต่อได้ว่ายาหมดอายุในบ้านก็ไม่สามารถส่งผลต่อการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสียในชุมชนได้ค่ะ 5. อย่าทิ้งยาในสถานที่ๆ เด็กหรือสัตว์เลี้ยงสามารถเข้าถึงได้ ยาที่หมดอายุควรเก็บไว้ในที่ปลอดภัยภายในบ้านค่ะ และควรทิ้งในถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิดและยกสูงมากพอที่หมาไม่สามารถคุ้ยเขี่ยได้ค่ะ 6. หากยาเป็นยาที่สั่งมาจากคลินิกเฉพาะทางหรือมีความจำเพาะเจาะจงในการใช้ ควรถามคำแนะนำจากเภสัชกรหรือแพทย์ว่าต้องใช้วิธีที่เหมาะสมในการทิ้งยาที่หมดอายุของยาชนิดนั้นอย่างไรค่ะ แต่จากประสบการณ์ของผู้เขียนมองว่ายาโดยส่วนใหญ่จากทุกที่ไม่ได้มีความแตกต่างจนต้องกังวลตอนทิ้งยาหมดอายุค่ะ โดยยังสามารถปรับใช้คำแนะนำทั่วๆ ไปในบทความนี้ได้ค่ะ7. ไม่ควรทิ้งยาน้ำลงในโถส้วมหรือชักโครกค่ะ แนะนำให้เทยาน้ำในอ่างชำระล้างโดยทั่วไปแล้วเปิดน้ำตามเพื่อความลดความเข้มข้นของยาค่ะ ปกติการย่อยสลายในถังเกรอะที่ใบ้กำจัดสิ่งปฏิกูลจากห้องส้วมใช้หลักการย่อยสลายสารอินทรีย์แบบไม่ใช้อากาศ การทิ้งยาหมดอายุจำนวนมากที่มีความเป็นกรดและด่างสูง อาจส่งผลต่อค่าความเป็นกรดและด่าง (pH) ภายในถังเกรอะและส่งผลต่อการทำงานของแบคทีเรียแบบไม่ใช้อากาศตามมาค่ะ8. ควรล้างบรรจุภัณฑ์ของยาให้หมดและนำขวดแก้วหรือขวดพลาสติกของยาน้ำชนิดนั้นไปขายเป็นขยะรีไซเคิลค่ะ ทั้งนี้เอกสารกำกับยา กล่องยาหรืออื่นๆ ที่เป็นกระดาษก็สามารถรวบรวมเอาไว้ขายเป็นขยะรีไซเคิลได้อีกเช่นเดียวกันค่ะ เพราะผู้เขียนทำประจำก็พบว่าขายได้ค่ะ9. ส่งคืนยาให้ร้านขายยาหรือศูนย์ที่รับทิ้งยาที่ไม่ได้ใช้แล้ว ในบางครั้งอาจโครงการหรือบริษัทห้างร้านต่างๆ ออกมารับทิ้งยาที่หมดอายุแล้วเพื่อการจัดการทิ้งยาอย่างปลอดภัย ก็ให้เข้าร่วมและไปติดต่อขอรับบริการค่ะ 10. หากไม่แน่ใจว่าจะทิ้งยาชนิดหนึ่งได้อย่างไร ผู้เขียนแนะนำให้ไปติดต่อสอบถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่หน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดการขยะในชุมชนค่ะ เช่น อบต เทศบาลหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากโรงพยาบาลใกล้บ้านค่ะอย่างไรก็ตามผู้เขียนมองว่ายาหมดอายุที่ใช้ตามบ้านเรือนโดยทั่วไปนั้นยังไม่ได้มีความซับซ้อนมากหากต้องจัดการทิ้งเพื่อให้ปลอดภัยต่อผู้อื่นและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมค่ะ เพราะจากทั้ง 10 วิธีทิ้งยาหมดอายุในบ้าน ให้ปลอดภัยต่อผู้อื่นและดีต่อสิ่งแวดล้อมนั้นค่อนข้างครอบคลุมหมดแล้วค่ะ เหลือก็เพียงว่าคุณผู้อ่านนำไปปรับใช้ค่ะ ปกติผู้เขียนตรวจดูยาหมดลดอายุประจำค่ะ ทุกๆ 3 เดือนหรือห่างออกไปอีกหน่อยตามเวลาว่างที่มีค่ะ ล่าสุดก็ทิ้งยาไปชุดใหญ่ค่ะ และนำขวดยาที่เป็นขวดแก้วและขวดพลาสติกเก็บสะสมเอาไว้ขายค่ะ และมองว่านอกจากจะรู้เรื่องเกี่ยวกับการจัดการยาที่หมดอายุแล้วเราควรซื้อยามาใช้เท่าที่จำเป็นค่ะ เพื่อลดความสิ้นเปลืองที่เกิดหลังพบว่ายาหมดอายุ แถมเป็นวิธีที่ช่วยลดการเกิดของขยะในสิ่งแวดล้อมจากยาที่หมดอายุในบ้านด้วยค่ะ จึงหวังว่าเนื้อหาในบทความนี้จะทำให้คุณผู้อ่านมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น และสามารถนำไปปรับใช้เพื่อจัดการยาหมดอายุในบ้านได้ค่ะเครดิตภาพประกอบบทความภาพหน้าปกออกแบบใน Canvaภาพประกอบเนื้อหาโดย ผู้เขียนบทความอื่นที่น่าสนใจ7 วิธีลดขยะภายในชุมชน ลดขยะในบ้าน ทุกคนทำได้ อ่านเลย5 ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมภายในบ้านที่สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้เก็บขยะในบ้านขายเฉลี่ยแล้วได้เดือนละกี่บาท ขยะขายที่ไหน แยกขยะขายยังไงดีเปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !