เป็น Freshy มือใหม่เตรียมตัวอย่างไร ให้รอดจากการสอบในมหาวิทยาลัย น้องๆFreshy ที่พึ่งก้าวเข้ามาในรั้วมหาวิทยาลัย คงจะเคยได้ยินคำล่ำลือถึงความหินของวิชาในตำนานของแต่ละมหาวิทยาลัยมาบ้าง พี่ก็เป็นหนึ่งในนั้น และรู้สึกกังวลว่าจะอ่านหนังสืออย่างไรให้ทัน ให้ได้เกรดดีๆ สิ่งแรกที่น้องๆต้องเข้าใจ และปลงกับมันเสียก่อนคือ ได้เกรดน้อยไม่ได้แปลว่าน้องไม่เก่ง แต่ยังพยายามไม่มากพอ มีเด็กเกรดสี่หลายคนที่เข้ามหาวิทยาลัยแล้วเกรดตก ถ้าน้องเป็นหนึ่งในนั้น อย่าพึ่งตกใจ ตั้งสติ แล้วพยายามอีกครั้ง วันนี้พี่จะมาแนะนำวิธีเอาตัวรอดจากการสอบในมหาวิทยาลัยฉบับ Freshy มือใหม่ ซึ่งเป็นประสบการณ์ตรงที่เคยใช้เมื่อสมัยยังเป็น Freshy มีด้วยกัน 5 ข้อหลักๆ คือ1. จดเลกเชอร์ และทำสรุปหลังเรียนทุกครั้ง ตั้งใจฟังที่อาจารย์สอนในห้อง พยายามคิดตามเรื่องที่กำลังเรียนอยู่ และเมื่อมีคำถามให้ถามทันที หากไม่มีเวลาพอที่จะถาม โดยส่วนมากอาจารย์ในมหาวิทยาลัย จะให้คอนแทคสำหรับติดต่อไว้ในเอกสารประกอบการเรียน หรือเอกสารที่ใช้ในคาบปฐมนิเทศ ในเอกสารดังกล่าวจะประกอบด้วย ชื่ออาจารย์ผู้สอน และอีเมล์ ซึ่งนักศึกษาสามารถส่งอีเมล์ไปสอบถามได้ ส่วนสิ่งที่จะต้องจดในห้องเรียนมี ดังนี้ - ตัวอย่างเพิ่มเติมจากเอกสารประกอบการเรียน - ทริคในการทำโจทย์ หรือสรุปกระบวนขั้นตอนต่างๆ ในการจดเลกเชอร์ที่เน้นจดเร็ว จดครบทุกประเด็น คือจดหัวข้อมาหาเพิ่มในกรณีที่อาจารย์พูดเร็วจดเนื้อหาไม่ทัน ส่วนตัวจะชอบใช้ดินสอในการจด เพราะถ้าใช้ปากกาเวลาเขียนผิดต้องใช้ทั้งลิควิด หรือขีดฆ่า ซึ่งทำให้ไม่เรียบร้อย แต่ถ้าเรียนสิ่งที่ต้องจำก็จะใช้สีเล็กน้อย เพื่อที่เวลากลับมาอ่านทำสรุปจะได้ไม่ต้องเสียเวลาไปนั่งอ่านทำความเข้าใจใหม่ อย่างไรก็ตามถ้าน้องๆถนัดจดด้วยปากกามากกว่าก็ใช้ได้ตามความชอบเลย แต่อีกดหตุผลที่ใช้ดินสอคือ “การทำสรุปหลังเรียน” น้องๆคงจะสงสัยแล้วใช่ไหมว่ามันเกี่ยวกันอย่างไร จริงๆแล้วเกี่ยวข้องกับโดยตรงเลย ต้องบอกก่อนว่า ตั้งแต่เกิดมาจนถึงม.ปลาย พี่ไม่เคยอ่านหนังสือ หรือทำโจทย์ซ้ำหลายๆรอบมาก่อน แต่พอเข้ามหาวิทยาลัย พี่ค้นพบว่าการอ่านแบบนี้ช่วยให้เข้าใจเนื้อหา และการนำไปใช้ได้ดียิ่งขึ้น การที่พี่จดเลคเชอร์ด้วยดินสอ ทำให้พี่สามารถอ่านหนังสือได้เพิ่มขึ้นอีก 1 รอบ คือ รอบที่ 1 : พี่จะลบส่วนที่จดด้วยดินสอออกให้หมด แล้วเขียนตามด้วยปากกาสีต่างๆ เน้นส่วนที่สำคัญ กรองว่าที่จดมาอะไรสำคัญ ไม่สำคัญก็ตัดออก รอบที่ 2 : จดสรุปลงในสมุด โดยต้องมีสมุดสำหรับจดแยกแต่ละวิชา รอบที่ 3 : รอบสุดท้ายก่อนสอบประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนสอบ สรุปคือ ถ้าสามารถอ่านได้ตามแผน จะอ่านได้ทั้งหมด 3 รอบ อย่างไรก็ตามน้องๆต้องไม่ลืมที่จะทบทวนบทเรียนนอกรอบ เพื่อให้เข้าใจบทเรียนได้มากยิ่งขึ้น2. ทำโจทย์ซ้ำ แม้ในที่นี้จะพูดถึงวิชาคำนวณเป็นหลัก แต่การทำโจทย์ซ้ำไม่ได้ใช้ได้กับวิชาคำนวณเท่านั้น ยังสามารถใช้กับวิชาอ่านบางวิชาอย่างวิชาเคมีได้อีกด้วย โดยโจทย์ในมหาวิทยาลัยจะเป็นโจทย์ที่เน้นกระบวนการ วิธีการ ดังนั้นน้องๆคนไหนที่ชอบใช้วิธีลัด กรุณารีบกลับไปศึกษาวิธีเต็มโดยเร็ว วิธีเต็มอาจจะยาว แต่ถ้าทำซ้ำบ่อยๆน้องๆก็จะสามารถเข้าใจได้เอง โดยที่ไม่ต้องท่องจำเลย ใกล้ๆสอบก็เอาแบบฝึกมานั่งทำวนไป พอครบ 1 รอบ ไปอ่านวิชาอื่นให้ลืมๆ แล้วมาทำอีกรอบ ทำไปเรื่อยๆ พี่นั่งทำจนถึงเวลาเข้าห้องสอบเลย คำถามคือแล้วจะเริ่มอย่างไร ต้องทำโจทย์แบบไหน ขอแบ่งออกเป็น 3 ขั้นดังนี้ ขั้นที่ 1 จะเริ่มจากการแยกประเภทโจทย์ แล้วเขียนวิธีทำโดยละเอียด เขียนละเอียดขนาดไหน เขียนโดยคิดว่าถ้าเราเป็นคนโง่ เมื่อมาอ่านสรุปนี้แล้วสามารถเข้าใจได้ ที่ต้องทำแบบนี้เพราะว่าเวลาสอบจะต้องเจอกับโจทย์มีหลายประเภท หากไม่รีบแยก และทำความเข้าใจกับโจทย์แต่ละแนว อาจทำให้สับสนตอนสอบได้ ขั้นที่ 2 เนื่องจากในแต่ละคณะต้องการความลึกของเนื้อหาเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ที่แตกต่างกันไป เช่น คณะสายวิทยาศาสตร์สุขภาพเรียน Calculus แบบพื้นฐานก็เพียงพอต่อการนำไปใช้แล้ว ในขณะที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ต้องเรียน Calculus แบบ Advance ดังนั้นอาจารย์จึงตัดปัญหานี้โดยการดึงเนื้อหาออกมาเรียบเรียงใหม่ให้เหมาะสมกับนักศึกษาแต่ละคณะ พร้อมระบุหนังสืออ้างอิงที่ใช้ในการสอน ภายในหนังสือก็จะมีแบบฝึกหัดท้ายบทให้ หากพื้นฐานไม่ดี ให้เริ่มจากโจทย์ง่ายๆก่อน แล้วค่อยไล่ทำโจทย์ที่เป็นการบ้าน หรือในแบบฝึกหัด และสุดท้ายทำโจทย์ตัวอย่างที่จดมาจากในห้อง และโจทย์ปีเก่าถ้ามี ขั้นที่ 3 ทำโจทย์ซ้ำไปมาหลายๆรอบ แต่ละรอบต้องทิ้งระยะเวลาให้ห่างกัน ในระหว่างนั้นอาจอ่านวิชาอื่ต่อ แล้วเมื่อผ่านไปสักพักค่อยกลับมาทำใหม่ ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆจนถึงสอบ3. จบเนื้อหาทั้งหมดก่อนประมาณ 1 สัปดาห์ ตอนนี้น้องๆอาจจะถามว่า “แล้วเราต้องเผื่อเวลาเท่าไหร่ในการอ่าน และทำโจทย์” ต้องบอกก่อนว่าในมหาวิทยาลัยเวลาสิ้นสุดการสอนจะเป็นอาทิตย์ก่อนสอบ ซึ่งในบางรายวิชาอาจจบคอร์สก่อนหน้านั้น 1 สัปดาห์ และส่วนมากสัปดาห์สุดท้ายของการเรียนจะมีไว้เก็บตกเรื่องเล็กๆเท่านั้น ดังนั้นเพื่อที่จะอ่านให้ทัน ต้องอ่านเนื้อหาตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบันให้จบภายในสัปดาห์ก่อนสัปดาห์สุดท้ายของการเรียน และเวลาที่เหลือให้ทำโจทย์ กับอ่านรีวิวเท่านั้น สรุปง่ายๆคือ สัปดาห์รองสุดท้าย : จบเนื้อหาทั้งหมดที่เรียน สัปดาห์สุดท้ายของการเรียน : ทำโจทย์ สัปดาห์สอบ : ทำโจทย์ + รีวิว4. มาถึงมหาวิทยาลัยก่อนสอบ น้องๆมีปัญหาเกี่ยวกับการตื่นสนามสอบกันบ้างไหม...พี่เป็นคนหนึ่งที่เคยมีปัญหานี้ วิธีแก้ง่ายๆของพี่คือ การมาถึงสนามสอบก่อนเวลา วิธีนี้เป็นวิธีที่เหมาะกับคนที่ชอบตื่นเช้า นอกจากจะได้ปรับตัวกับสภาพแวดล้อมของสนามสอบแล้วยังได้สูดอากาศสดชื่นยามเช้า เนื่องจากมหาวิทยาลัยที่พี่เรียนมีต้นไม้เยอะมาก พี่เลยชอบตื่นเช้าๆแล้วหนี PM. 2.5 ที่หอมานั่งอ่านหนังสือในมอ สำหรับคนที่ตื่นสายแนะนำว่าให้มาดูห้องสอบก่อนวันสอบจริง เนื่องจากถ้าตื่นสาย อย่างน้อยก็ไม่ต้องไปไล่เดินหาห้องสอบ แต่ต้องดูเลขห้องดีๆนะ ตอนสอบเพื่อนพี่ตื่นสาย แล้วรีบวิ่งไปสอบ แต่ไม่ได้ดูตารางเข้าไปในห้องสอบได้สักพัก เจ้าของที่เดินมานั่งแล้วไล่ไปไล่มาปรากฎว่า เพื่อนพี่จำห้องสอบจาก 102 เป็น 201 ตอนนั้นคืเข้าสอบได้ประมาณ 5 - 10 นาทีแล้ว ต้องระวังเลยนาทีเดียวก็มีค่า เพราะข้อสอบมหาวิทยาลัยส่วนมากก็จะเป็น Speed test กับ อัตนัยเติมคำและแสดงวิธีทำ5. ไม่ติวให้ใคร พูดให้น้อย ไม่ติวให้ใคร ไม่ได้หมายความว่ากั๊ก ไม่ติว การติวให้เพื่อนเป็นสิ่งที่ดี ไม่เพียงจะช่วยให้มีการจัดระบบความคิด และมีเข้าใจในเรื่องนั้นได้ดียิ่งขึ้นแล้ว ยังเป็นการช่วยเพื่อนในทางที่ถูก ดีกว่าจะให้เพื่อนลอกการบ้านเสียอีก แต่การติวให้เพื่อนในวันสอบเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เหตุผลที่สมเหตุสมผลมีด้วยกัน 2 ข้อใหญ่ ข้อที่ 1 อย่างที่กล่าวไปตอนแรกว่าแผนการอ่านหนังสือนี่ เราเริ่มอ่านเนื้อหาให้เสร็จก่อน 1 สัปดาห์ แล้วยังมีการทำ shortnote สรุปทุกวันหลังเลิกเรียน ซึ่งรวมๆแล้วเราจะได้อ่านถึง 3 รอบบวกๆเลยทีเดียว เมื่อเราอ่านหลายรอบ ความเข้าใจในเนื้อหาก็ต้องมีมากพออยู่แล้ว ขอให้มั่นใจในความรู้ของตัวเอง คิดเอาไว้ว่า “เราได้อ่านมากกว่าคนอื่น” ที่บอกว่าไม่ให้จับกลุ่มติวกันเป็นเพราะ แต่ละคนก็มีวิธีคิด วิธีจำที่แตกต่างกันออกไป รวมถึงจุดที่เน้น ไม่เน้นต่างกันออกไป ซึ่งสำหรับพี่ พี่จะจดเสมอว่าอาจารย์พูดเรื่องไหนบ่อย ให้เน้นตรงไหน ดังนั้นเวลาอ่านจะทำให้พี่เก็งข้อสอบได้ และเลือกอ่านเลือกเน้นในจุดๆนั้น ซึ่งเมื่อไปฟังเพื่อนคนอื่นๆ เพื่อนก็จะเก็งต่างออกไป ถ้าเราฟังแล้วรู้สึกคล้อยตาม เราก็จะพยายามจำ และท่องในสิ่งที่เพื่อนท่องทั้งที่บางทีท่องไปแล้วไม่ออก ตอนนั้นเป็นช่วงสอบกลางภาคครั้งแรกในมหาวิทยาลัย วิชาที่เครียดที่สุดคือ ชีววิทยา ส่วนตัวเป็นคนชอบชีววิทยา แต่ที่กังวลเพราะว่าเนื้อหามันเยอะมากๆ เยอะจนไม่รู้จะเริ่มอ่านจากตรงไหน แล้วตอนนั้นมีสอบเรื่องระบบประสาท เพื่อนๆท่องว่าเส้นประสาทสมอง ท่องทั้งชื่อ ทั้งหน้าที่ แต่พี่ท่องชื่อ กับเลขของทุกเส้นได้ แต่หน้าที่พี่เลือกท่องแค่บางเส้นที่สำคัญๆ อย่างเส้นที่ 10 Vagus ที่คุมทุกอวัยวะ แล้วระหว่างรอสอบก็ได้ยินเพื่อนท่องกัน ตัวเองก็เริ่มตระหนกแล้วว่าท่องแบบเพื่อนไม่ได้ แต่ลองคำนวณเฉลี่ยแล้ว แต่ละเรื่องออกได้ไม่กี่ข้อ เลยปล่อยเลยตามเลย สุดท้ายข้อสอบออก Vagus คือน้ำตาจะไหล ดีที่เชื่อเซ้นต์ตัวเอง ฟังบ้างก็ดี แต่ไม่ต้องพยายามทำตามเพื่อนทุกอย่าง จำมาเฉพาะสิ่งที่เราไม่รู้เท่านั้น สิ่งที่รู้อย่าไปฟังมาก ไม่อย่างนั้นสมองอาจรวนก่อนเข้าสอบได้ ข้อที่ 2 ไม่มีใครที่ไม่พร้อมในวันสอบ เหตุผลข้อนี้อาจจะฟังดูเห็นแก่ตัว แต่มันเป็นความจริงที่คนที่บอกว่าไม่รู้ไม่ได้อ่านมาเลย ช่วยติวให้หน่อย ตอนนาทีสุดท้าย ส่วนใหญ่ก็คือพวกเก่ง แต่กั๊ก ส่วนพวกที่ไม่เข้าใจจริง คนกลุ่มนี้จะถามแต่เนิ่นๆสัก 3-4 วัน หรือก่อนหน้านั้นมาก ซึ่ง 2 กลุ่มนี้จะมีลักษณะที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน คือ พวกกั๊ก โดยพื้นฐานจะเป็นคนที่ตั้งใจเรียน เข้าห้องเป็นประจำ อาจไม่เข้าทุกครั้ง แต่เข้าเป็นส่วนใหญ่ ส่วนพวกที่ไม่เข้าใจจริงๆจะชอบโดด ถ้าเจอเพื่อนกลุ่มหลัง หากสนิทจะช่วยก็เป็นเรื่องที่ดี ทำดี ทำได้ แต่ไม่ใช่ให้คนอื่นหลอก ดังนั้นสำหรับคนกลุ่มแรกการปฏิเสธไปตรงๆอาจไม่ใช่ทางออกที่ดีในกรณีที่เป็นเพื่อนกลุ่มเดียวกัน ให้บอกอ้อมว่า “ยังอ่านไม่จบเหมือนกัน” หรือ “ส่วนนี้เราก็ไม่ค่อยเข้าใจเช่นกัน”แทน หรือวิธีที่พี่ใช้คือ “หลบหน้า” ซึ่งกลุ่มพี่คุยกันแล้วว่าวันสอบจะแยกกันอ่าน เพราะรุ่นพี่เคยเล่าให้ฟังว่าติวให้เพื่อนแล้วคะแนนตัวเองลด ทำให้รู้สึกแย่กับตัวเอง กลุ่มพี่เลยลงความเห็นว่าจะไม่ติวกัน โดยในวันสอบพี่จะไปหาที่ที่คนน้อยๆ ไม่พลุกพล่านเพื่ออ่านหนังสือ ก่อนอื่นต้องสแกนดูก่อนว่าไม่มีคนที่เรารู้จัก แล้วค่อยเริ่มการรีวิวก่อนเข้าห้องสอบ การรีวิวก่อนสอบของพี่คือ พูดทุกสิ่งทุกอย่างที่อ่านมาออกมา และตั้งคำถามกับตัวเองแล้วตอบออกมาโดยพยายามไม่ดูสรุปที่จดมา อย่างไรก็ตามก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของแต่ละมหาวิทยาลัย และลักษณะของกลุ่มเพื่อนในคณะด้วย สิ่งที่เขียนในบทความนี้เป็นเพียงแนวคิดของผู้เขียน หวังว่าน้องๆจะสามารถนำไปใช้ในการเอาตัวรอดในการสอบของมหาวิทยาลัย สำหรับใครที่อยากได้ทริคในการจดโน้ต จดสรุป หรือสาระน่ารู้ต่างๆ สามารถติดตามได้ในบทความต่อๆไปของ Quinn_Rosalet ได้นะคะภาพประกอบจาก pixabay.com