รีเซต

กาฬสินธุ์ชาวนาเสียดายน้ำขอเสี่ยงดวงทำนาปรังแม้ขาดทุน

กาฬสินธุ์ชาวนาเสียดายน้ำขอเสี่ยงดวงทำนาปรังแม้ขาดทุน
มติชน
29 มกราคม 2565 ( 17:12 )
16

ชาวนาที่จังหวัดกาฬสินธุ์ อยู่ที่ในพื้นที่ใช้น้ำชลประทาน ลงมือทำนาปรังเต็มพื้นที่ ถึงแม้ต้นทุนการผลิต ปุ๋ยเคมีและค่าเก็บเกี่ยวสูงลิ่ว ระบุหากไม่ทำนาก็ไม่รู้จะทำอะไร เสียดายน้ำที่ไหลผ่านพื้นที่นา หวังลึกๆเผื่อโชคเข้าข้างเสี่ยงดวงขายข้าวนาปรังได้ราคาสูงกว่าข้าวนาปี

เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพของเกษตรกร ชาว จ.กาฬสินธุ์ พื้นที่ใช้น้ำชลประทาน อ.ยางตลาด อ.เมือง และ อ.กมลาไสย หลังทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว หรือเขื่อนลำปาว ได้ระบายน้ำลงมาวันละ 4 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อการอุปโภค บริโภค และการประกอบอาชีพเกษตรกรรม เลี้ยงกุ้งก้ามกรามอย่างทั่วถึง ทั้งนี้ ได้พบว่าในส่วนของผู้ประกอบอาชีพทำนา ทั้งในเขตต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ได้ลงมือทำนาปรังกันเป็นบริเวณกว้าง

นายศิริลักษณ์ ภูอาจสูง อายุ 49 ปี ชาวนาบ้านหนองขาม หมู่ 2 ต.ดอนสมบูรณ์ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตนมีที่นา 3 แห่ง รวม 18 ไร่ ทุกปีที่ผ่านมาจะทำทั้งนาปีและนาปรัง โดยทำนาหว่านทั้งหมด เพื่อประหยัดค่าจ้างแรงงานถอนกล้าและปักดำ แต่ต้นทุนการทำนายังสูง เนื่องจากค่ารถไถพรวนไร่ละ 500 บาท ค่ารถเกี่ยวข้าวไร่ละ 900 บาท ปุ๋ยเคมีถุงละ 1,300 บาท ซึ่งต้องหว่านไร่ละ 2 ถุง ทั้งปุ๋ยแตกกอและปุ๋ยรับรวง อย่างไรก็ตาม สำหรับนาปีที่ผ่านมา ชาวนาหลายคนขายข้าวเปลือกขาดทุน เพราะราคาเริ่มต้นที่ ก.ก.ละ 5 บาท หรือถึงแม้ปัจจุบันราคาจะขยับสูงขึ้นเป็น ก.ก.ละ 10 บาท ก็ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ต่ำ สำหรับตนคิดว่าราคา ก.ก.ละ 15 บาท พอจะคุ้มทุนและมีกำไร

นายศิริลักษณ์ กล่าวอีกว่า อาชีพทำนาเป็นอาชีพที่ลำบาก และกว่าจะได้ผลผลิตต้องใช้เวลานานหลายเดือน ต้องคอยดูแลเรื่องน้ำให้เพียงพอ ควบคุมวัชพืชและป้องกันศัตรูข้าวรบกวนให้ได้ นอกจากนี้ยังจะต้องบำรุงด้วยปุ๋ยเคมีเพื่อเร่งการเจริญเติบโตและเพิ่มผลผลิต ซึ่งทุกขั้นตอนต้องลงทุนลงแรงทั้งนั้น หากตลาดรับซื้อให้ราคาสูงก็พอจะมีกำไร หากราคาต่ำเหมือนปีที่ผ่านมาขาดทุนแน่นอน ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นชาวนา หากไม่ทำนาก็ไม่รู้จะทำอะไร แม้จะต้นทุนสูงและเสี่ยงขาดทุน ก็ยังต้องเสี่ยงทำนาปรังต่อไป ถือเป็นเงินฝาก ทำนาเสร็จก็ไปหารับจ้างเป็นอาชีพเสริม รอขายผลผลิตได้ทุนคืนมาบ้างก็ยังดี

อย่างไรก็ตาม ในส่วนเหตุผลของชาวนา ที่ลงมือทำนาปรังหลายราย ยังให้เหตุผลว่าขายข้าวเปลือกนาปีหมด เพื่อนำเงินชำระหนี้ ธ.ก.ส. และจ่ายค่ารถเกี่ยวข้าว ค่าปุ๋ยเคมี จึงต้องทำนาปรัง เพื่อเป็นอาหารในครัวเรือน และหากมีกำไรบ้าง ก็เป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในครัวเรือน นอกจากนี้ หากไม่ทำนาก็รู้สึกเสียดายน้ำ ที่ทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนลำปาวระบายลงมาผ่านพื้นที่นา จึงต้องใช้ประโยชน์จากน้ำให้เต็มที่ หรือหากจะให้ปลูกพืชอย่างอื่น เช่น พืชตระกูลแตง ข้าวโพด และอื่นๆ ก็เห็นปลูกกันมากแล้ว กลัวจะล้นตลาดและไม่มีที่ขาย สู้ทำนาปรังไม่ได้ โดยหวังลึกๆเผื่อโชคเข้าข้างได้ราคาสูงกว่าขายเปลือกข้าวนาปีจึงขอเสี่ยงดวงขอทำดู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง