ผู้รับเหมาก่อสร้าง พิจิตร ร้องมงคลกิตติ์ หลังไม่ได้รับความเป็นธรรมส่วนราชการ
เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 11 ตุลาคม ที่รัฐสภา นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ รับหนังสือร้องเรียนจากนายบุญลาภ ศรีบุญมาก ผู้รับเหมาก่อสร้างในพื้นที่ จ.พิจิตร กรณีผู้รับเหมาเคยร้องเรียนไปยังผู้ว่าราชการ จ.พิจิตร ในส่วนการดำเนินงานของส่วนราชการใน จ.พิจิตร ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พิจิตร และสำนักชลประทาน จ.พิจิตร
โดยนายมงคลกิตติ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า การดำเนินงานในปัจจุบันโดยงบประมาณปี 2564 มีการประมูลงานตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีปกติ ซึ่งมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดให้กรมบัญชีกลางไปทำกรณีการใช้ ว.89 คือ การส่งเสริมให้การจัดซื้อ จัดจ้าง โดยที่บริษัทใหญ่ต้องไม่แย่งงานบริษัทเล็ก แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น ว.845 คือแต่ละหน่วยราชการในปัจจุบัน ได้ดำเนินการตามมติครม. โดยมี 6 บริษัทเป็นคู่เทียบ ซึ่งแต่ละหน่วยงาน ผอ.สำนักหรือผู้มีอำนาจจะเลือก 6 บริษัท เพื่อให้มีการแข่งกันเสนอราคา กลายเป็นอำนาจของส่วนราชการว่าจะเลือกบริษัทใด แต่เท่าที่ได้รับเรื่องร้องเรียนจากหลายส่วน พบว่าปัจจุบันมีหลายส่วนราชการใช้อำนาจในการตัดสินใจ ว่าจะเลือกบริษัทใดเป็นคู่สัญญากับภาครัฐ ซึ่งบริษัทนั้นต้องจ่ายเงิน 15% ให้กับส่วนราชการที่เป็นคนเซ็นสัญญา
“เรื่องดังกล่าวจริงหรือเท็จต้องไปตรวจสอบ ทั้งในส่วนของกรมชลประทาน กรมทางหลวงชนบท และอบจ. นอกจากนี้ ยังมีบางส่วนราชการ เช่น กรมชลประทาน นำงบประมาณปี 2565 ที่แม้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว แต่กระทรวงการคลัง โดยสำนักงบประมาณ ยังไม่ได้ทำหนังสือแจ้งจัดสรรงบประมาณมา แต่กลับมีการดำเนินการก่อสร้างไปล่วงหน้า และมีส่วนราชการหลายส่วน นำงานให้ส่วนราชการตัวเองดำเนินการเอง หมายความว่าแย่งงานบริษัทเอกชนทำ ทั้งที่เครื่องจักรวัสดุอุปกรณ์ไม่เพียงพอ สุดท้ายต้องไปจ้างบุคคลภายนอกมาดำเนินการ โดยถือวิสาสะไม่นำงานมาประมูล หมายความว่าส่วนราชการทำตัวเป็นบริษัทเอกชน ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่เข้าข่ายผิดพ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาของรัฐ พ.ศ.2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้ว หรือไม่ เนื่องจากส่วนราชการจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนไม่ได้ ซึ่งรื่องนี้ต้องมีการตรวจสอบ”
นายมงคลกิตติ์ กล่าวต่อว่า ตนได้แจ้งไปยังอธิบดีกรมชลประทาน ให้ตรวจสอบเรื่องนี้แล้วว่าจริงเท็จอย่างไร รวมถึงเตรียมทำหนังสือไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ตรวจสอบด้วย ถ้าเป็นจริงอยากให้ใช้อำนาจแก้ไขปรับปรุงให้เรียบร้อบ ต้องไม่มีการแย่งงานเอกชน แต่ต้องกระจายงานไปยังเอกชนเพื่อความถูกต้อง พร้อมกำชับอย่าเก็บค่าคอมมิชชั่น 15% ถ้าไม่ปรับปรุงแก้ไข ตนจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพื่อเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตา 152 หลังเดือนพฤศจิกายนต่อไป