จิตอาสานครพนม ผนึกกำลังต้านภัยแล้ง แนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
นครพนม – นายชาตรี จันทร์วีระชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวว่าน้ำถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทุกคนต้องใช้ในการดำรงชีวิต และทุกปีเรามักจะเห็นว่ามีหลายพื้นที่ต้องประสบกับภัยแล้งเนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ และกลายเป็นที่มาของโครงการต่าง ๆ ที่เข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน
ดังนั้นโครงการจิตอาสาต้านภัยแล้ง เริ่มต้นมาจากศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทานได้มีการเรียกประชุมเรื่องจิตอาสาประสานความร่วมมือการบรรเทาภัยแล้งอย่างยั่งยืน โดยมีระยะดำเนินการกำหนดไว้ที่ ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2563
จากนั้นก็มีการจัดทำแผนฝึกอบรมเพื่อค้นหาวิธีการและรูปแบบการสร้าง แหล่งเก็บกักน้ำ น้ำกิน-ใช้ และน้ำเพื่อการเกษตร รวมถึงการรักษาระบบนิเวศเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน และก็มีการ Kick Off ในจังหวัดที่ประสบภัยแล้ง
“ในส่วนของนครพนมก็มีการระดมปล่อยแถวขบวนรถน้ำเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้ง แล้วก็มาสู่เรื่องของการขุดลอกหนองน้ำเดิม สร้างหนองน้ำใหม่ ขุดหลุมในคลอง การเชื่อมหนองน้ำแหล่งน้ำในครัวเรือนหรือที่เรียกว่าโคกหนองนา การสร้างแท็งค์น้ำขนาดใหญ่ การขุดเจาะบ่อบาดาล การแจกจ่ายน้ำ ก็จะเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม(นายสยาม ศิริมงคล) ได้มีการมอบหมายให้แต่ละอำเภอไปคิดกันว่าจะทำอะไร พอเสร็จแล้วทุกโครงการก็จะมีการปลูกหญ้าแฝก ปลูกอะไรต่างๆ ซึ่งบางแห่งก็มีการคิดว่าปลูกผลไม้ไว้กิน ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์ในอนาคตเพราะอยู่ใกล้แหล่งน้ำ ที่สำคัญคือถ้าทุกคนมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำตั้งแต่ต้น เขาก็จะรู้ว่าปัญหาอยู่ตรงไหน การแก้ไขปัญหาก็จะมีการแก้ไขได้ในระยะยาวและยั่งยืน และทุกคนก็จะรักโครงการที่ทำขึ้นเพราะทำขึ้นมาเองกับมือและมีส่วนร่วม” รอง ผวจ.นครพนม กล่าว
ด้าน นายจีรยุทธ สมรฤทธิ์ ผู้ใหญ่บ้านบ้านเหล่า หมู่ที่ 4 ตำบลนาคำ อำเภอศรีสงคราม เปิดเผยว่า บึงนี้เป็นบึงวังสิ้วของชาวบ้านตำบลนาคำ เดิมคลองนี้เป็นของเก่าประมาณ 100 กว่าปี และเมื่อประมาณสัก 10 ปีที่ผ่านมา คลองตรงนี้มีหญ้าขึ้นตื้นเขินจนคลองแทบจะหายไปเลย ถึงต้นปี 2563 ทางจิตอาสาพระราชทาน 904 ก็ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ พร้อมให้ผู้ใหญ่บ้านทำประชาคมเป็นโครงการจิตอาสาต้านภัยแล้ง เป็นโครงการที่พี่น้องจิตอาสาทั้งหมดร่วมกันทำ โดยบางส่วนใช้แรงงานจิตอาสา บางส่วนก็ใช้เครื่องจักรคือรถแบ็คโฮของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งทุกคนมีส่วนร่วมในการทำคลองไส้ไก่เส้นนี้ ที่มีความยาว 3,000 เมตร ทำให้พี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ ประกอบไปด้วย บ้านเหล่า หมู่ที่ 4,14,15 และหมู่ที่ 9 บางส่วน ประมาณ 500 ครัวเรือน ได้รับผลประโยชน์ ได้รับน้ำในปีถัดไป จึงขอเป็นตัวแทนทุกคนกล่าวขอขอบมา ณ โอกาสนี้
จึงเห็นว่าโครงการจิตอาสาต้านภัยแล้ง จะเน้นการดำเนินงาน ที่ให้ทุกคนมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อที่จะได้มีความรัก ความหวงแหนในโครงการ และกลายเป็นพลังแห่งความสามัคคีที่พร้อมขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้หมดไปจากประเทศไทยอย่างยั่งยืน