รีเซต

เร่งฟื้นฟู 'แม่สาย' หลังเผชิญน้ำท่วมหนัก ซากโคลนอื้อ คาด 2-3 สัปดาห์กว่าจะเรียบร้อย

เร่งฟื้นฟู 'แม่สาย' หลังเผชิญน้ำท่วมหนัก ซากโคลนอื้อ คาด 2-3 สัปดาห์กว่าจะเรียบร้อย
มติชน
16 สิงหาคม 2565 ( 12:52 )
94
เร่งฟื้นฟู 'แม่สาย' หลังเผชิญน้ำท่วมหนัก ซากโคลนอื้อ คาด 2-3 สัปดาห์กว่าจะเรียบร้อย

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ที่บริเวณลานด้านหน้าจุดผ่านแดนถาวรไทย-เมียนมา (สะพานข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 1) อ.แม่สาย จ.เชียงราย นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นายณรงค์พล คิดอ่าน นายอำเภอแม่สาย และนายชัยยนต์ ศรีสมุทร นายกเทศมนตรีตำบลแม่สาย นำจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ร่วมกันทำความสะอาดตามกิจกรรมบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ (Big Cleaning Day) โดยมีจิตอาสาจาก 8 ตำบลของอำเภอแม่สาย กำลังพลทหารจาก ฉก.ม.3 กกล.ผาเมือง และ มทบ.37 รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 500 คน

 

ภายหลังจากก่อนหน้านี้เกิดฝนตกหนักพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ส่งผลทำให้น้ำจากแม่น้ำสายไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่เป็นวงกว้าง กระจายครอบคลุมพื้นที่ 4 ชุมชน ประกอบด้วย ชุมชนดอยเวา ชุมชนเกาะทราย ชุมชนไม้ลุงขน และชุมชนเหมืองแดง มีผู้ได้รับผลกระทบกว่า 2,000 ครัวเรือน รวมถึงย่านเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างตลาดสายลมจอย โดยเจ้าหน้าที่กระจายกำลังกันออกทำความสะอาดตามถนนทุกสาย และบริเวณร้านค้า รวมถึงช่วยผู้ประกอบภัยในการทำความสะอาดเรือนบางจุดด้วย

 

นอกจากนั้น ยังมีอาจารย์และนักศึกษาจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงรายและวิทยาลัยเทคนิคลงพื้นที่ดูแลเครื่องใช้ไฟฟ้าให้กับประชาชนด้วย

นายชัยยนต์เปิดเผยว่า น้ำท่วมครั้งนี้ถือว่ารุนแรงกว่าทุกปี เนื่องจากปริมาณน้ำมากและพนังกั้นแม่น้ำขาดหลายจุด ทำให้เกิดน้ำท่วมชุมชนวงกว้างและปริมาณน้ำท่วมสูง นอกจากจะสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของชาวบ้านและสินค้าของผู้ประกอบการต่างๆ ได้รับความเสียหายจำนวนมาก ซึ่งยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจำนวนเท่าไหร่ เนื่องจากต้องระดมกำลังพื้นฟูช่วยเหลือชาวบ้านก่อน ยังทำให้ทรัพย์สินของทางการได้รับความเสียหายและมีดินโคลน เศษขยะตกค้างในพื้นที่จำนวนมาก

 

นายชัยยนต์กล่าวต่อว่า ในระยะสั้นจึงต้องเร่งพื้นฟูความสะอาดพื้นที่ให้กลับมาได้ทั้งหมดก่อน แต่ด้วยดินโคลนจำนวนมาก และน้ำประปาของพื้นที่ได้รับความเสียหาย เพิ่งจะซ่อมแซมให้กลับมาใช้ได้ อาจต้องใช้เวลาในการพื้นฟูไม่ต่ำกว่า 2-3 สัปดาห์ ส่วนการแก้ไขระยะยาวเพื่อไม่ให้เกิดน้ำท่วมทำได้ค่อนข้างยาก เพราะพื้นที่น้ำสายย่านชุมชนมีความแคบ เป็นคอขวด เพราะความเจริญทำให้เกิดการรุกน้ำสาย อีกอย่างเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศ จะดำเนินการอะไรต้องได้รับความเห็นชอบจากเมียนมาด้วย ที่ทำได้คือการป้องกันโดยที่ผ่านมาได้เสริมตลิ่งให้สูงและมีการเสริมกระสอบทรายเพื่อป้องกันในจุดเสี่ยงต่างๆ แต่เมื่อน้ำมามากก็ไม่สามารถกั้นอยู่

 

นายชัยยนต์กล่าวว่า ครั้งนี้มีตลิ่งขาดอย่างน้อย 2-3 จุด แต่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของเอกชน เทศบาลไม่สามารถนำงบประมาณเข้าไปซ่อมแซมได้ ตอนนี้ต้องอาศัยอำนาจด้านสาธารณภัยของสำนักงานป้องกันและสาธารณภัยเชียงรายในการนำงบประมาณเข้ามาจัดทำกระสอบทรายเพื่อกั้นน้ำในพนังช่วงที่ขาดไว้ก่อน เพื่อไม่ให้น้ำไหลทะลักเข้าชุมชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง