รีเซต

ตรัง ตรวจสอบทน.ตรังจัดซื้อเครื่องพ่นเคมีโควิดแพงเกินจริง

ตรัง  ตรวจสอบทน.ตรังจัดซื้อเครื่องพ่นเคมีโควิดแพงเกินจริง
77ข่าวเด็ด
8 พฤษภาคม 2563 ( 08:12 )
281

 

ตรัง – โควิด 19 “พ่นพิษ” เทศบาลนครตรัง ถูกร้องเรียนกล่าวหาจัดซื้อเครื่องพ่นเคมีฝอยละออง(ULV)ยี่ห้อ STIHL ราคาเกินจริง หลังตรวจสอบพบจัดซื้อในราคาตัวละกว่า 7 หมื่น ขณะที่ปลัดเทศบาลนครตรังแจง เทศบาลจัดซื้อตามราคาของกระทรวงสาธารณสุข ด้วยเหตุผลราคากลางไม่มีในกรมบัญชีกลาง ท้ายสุดประกาศยกเลิกการจัดซื้อเรียบร้อยแล้ว

 

วันที่ 7 พฤษภาคม 2563 สำนักป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.)ได้ดำเนินการตรวจสอบการจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องพ่นเคมีฝอยละออง(ULV) ยี่ห้อSTIHL จำนวน 5 เครื่องๆละ 75,000บาท วงเงินงบประมาณ 370,000 บาท โดยที่มีเอกชนบางรายเสนอการขายในราคาเครื่องละ 6,700บาท โดยที่ทางเทศบาลนครตรังจัดซื้อเพื่อนำมาใช้ในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ในช่วงที่ผ่านมา กระทั้งนำไปสู่การตั้งข้อสังเกตว่าเทศบาลนครตรังจัดซื้ออุปกรณ์ดังกล่าวแพงเกินจริงส่งผลให้เทศบาลนครตรังได้รับความเสียหาย

 

ล่าสุด ที่เทศบาลนครตรัง นายวัลลภ ช่วยบำรุง ปลัดเทศบาลนครตรัง ปฏิบัติราชการแทนนายกเทศมนตรีนครตรัง กล่าวชี้แจงว่า การจัดซื้อเครื่องพ่นละอองฝอยทางเทศบาลนครตรังได้ดำเนินการจัดซื้อจำนวน 5 เครื่องๆละ 74,000บาท ตามโครงการกองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลนครตรัง กิจกรรมที่ 3 คือ กิจกรรมสนับสนุนการดำเนินงานเฝ้าระวังสอบสวนและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ( COVID-19) ประกอบด้วย ฉีดพ่นสารเคมีฆ่าเชื้อในพื้นที่เสี่ยงการเกิดโรค และการคัดกรองประชาชนที่มารับบริการ ด้วยการตรวจวัดอุณหภูมิเบื้องต้น

 

ซึ่งขณะนั้นการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 กำลังเริ่มระบาดและเป็นเรื่องเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างของเทศบาลดำเนินการไปจนมีการส่งมอบและตรวจรับสินค้าเป็นที่เรียบร้อย ต่อมาปรากฏข่าวเกี่ยวกับกรณีเดียวกันของเทศบาลตำบลหลักหก จ.ปทุมธานี มีการจัดซื้อเครื่องละ 85,000 บาท แต่ราคาตลาดโดยทั่วไปขายกันในราคาเครื่องละหมื่นกว่าบาท จากนั้นตนได้เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องมาสอบถามโดยมีบันทึกกันประชุมเรียบร้อย

 

โดยให้กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมไปตรวจสอบรายละเอียดดูอีกครั้ง ซึ่งได้รับคำตอบว่ามีการตั้งราคาเป็นไปตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขตั้งไว้ในราคาตัวละ 75,000 บาท ซึ่งเป็นราคามาตรฐานกลาง เนื่องจาราคากลางของกรมบัญชีกลางไม่ได้ตั้งไว้ จึงตั้งไปตามราคามาตรฐานของกรทรวงสาธารณสุข


 

นายวัลลภ กล่าวอีกว่า แต่เมื่อตรวจสอบดูพบว่าราคาสูงจริงๆ ตนเองจึงตัดสินใจยกเลิกการจัดซื้อในครั้งนี้ทั้งหมด และมีหนังสือส่งไปให้กับกองคลังเทศบาลนครตรัง เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 ให้ดำเนินการยกเลิกการจัดซื้อ โดยต้องผ่านขั้นตอนตามระเบียบที่เสนอขึ้นมา ตนเองจึงยอมรับว่าการดำเนินการไม่ถูกต้องบ้าง แต่ขณะนี้ก็ได้มีการสั่งยกเลิกแล้ว อย่างไรก็ตาม การจัดซื้อได้ผ่านการตรวจรับจากคณะกรรมการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีการนำเครื่องดังกล่าวไปใช้แล้วประมาณ 6 -7 ครั้ง เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่ยังอยู่ระหว่างการตั้งฏีกาเบิกเงินงบประมาณ

 

โดยยืนยันยังไม่ได้มีการเบิกงบประมาณ ทั้งนี้ หากรอการเบิกจ่ายเงินไปก่อนจะไม่ทันกับการใช้ในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด19 เป็นความเร่งด่วนจริงๆจึงต้องใช้ไปก่อน โดยความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้น น่าจะเป็นเรื่องของราคากลาง ซึ่งราคากลางของกรมบัญชีกลางไม่มี จึงจำเป็นต้องยึดของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ เมื่อไม่มีราคากลาง และงบประมาณไม่เกิน 500,000 บาท ทางเทศบาลจึงต้องใช้วิธีตรวจสอบราคาจากผู้จำหน่ายสินค้าประเภทดังกล่าวประมาณ 3 -4 บริษัท เพื่อนำมาเปรียบเทียบ

 

จากนั้นจึงตกลงซื้อของบริษัทที่มีราคาใกล้เคียงกับที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ โดยเป็นการจัดซื้อ/จัดจ้าง ด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง ตามพระราชบัญญัติ การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 แต่เมื่อมีการตรวจสอบพบว่าราคาแพงเกินจริงๆ จึงได้ยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าว โดยยืนยันไม่ทางเทศบาล โดยเฉพาะตนเองไม่มีเจตนาที่จะทุจริตอย่างแน่นอน แต่เพราะราคากลางไม่มี จึงจัดซื้อด้วยวิธีการเปรียบเทียบราคา จึงทำให้เกิดความผิดพลาดขึ้นได้

 

อย่างไรก็ตาม ในการยกเลิกสัญญาจัดซื้อ/จัดจ้างในกิจกรรมครั้งนี้ ประกอบด้วย ครุภัณฑ์ และวัสดุภัณฑ์ ชนิดอื่นๆ ที่อยู่ในกิจกรรมเดียวกันถูกยกเลิกด้วย ประกอบด้วย ค่าครุภัณฑ์ คือ เครื่องพ่นสารเคมีฝอยละออง (ULV) ใช้เครื่องยนต์ ชนิดสะพายหลัง จำนวน 5 เครื่องๆละ 75,000 บาท รวม 375,000 บาท ,ค่าวัสดุ คือ น้ำยาทำความสะอาดฆ่าเชื้อไวรัส แบคทีเรียขนาดบรรจุ 1 ลิตร/ขวด จำนวน 240 ขวดๆละ 950 บาท , ชุดป้องกันสารเคมี จำนวน 15 ชุดๆละ 1,200 บาท ,แว่นตานิรภัยป้องกันสารเคมี เลนส์ใส จำนวน 15 อันๆละ 600 บาท ,เจลล้างมือแอลกอฮอล์ ขนาด 320 มล.จำนวน 400 ขวดๆละ 200 บาท ,ถุงมือสำหรับการตรวจโรค จำนวน 100 กล่องๆละ 130 บาท ,เครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรด จำนวน 65 เครื่องๆละ 3,500 บาท รวมเป็นเงินทั้งกิจกรรมทั้งสิ้น 950,500 บาท

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง