รีเซต

กรมชลฯ วอนงดทำนารอบ 3 แม้ภาพรวมน้ำปีนี้มากกว่าปีก่อน หลังต้องสำรองน้ำ 1.55 หมื่นล้าน ลบ.ม.

กรมชลฯ วอนงดทำนารอบ 3 แม้ภาพรวมน้ำปีนี้มากกว่าปีก่อน หลังต้องสำรองน้ำ 1.55 หมื่นล้าน ลบ.ม.
มติชน
18 มีนาคม 2565 ( 14:30 )
73

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ผลการปลูกพืชฤดูแล้งทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2565 มีการทำนารอบ 2 หรือนาปรังรอบที่ 1 จำนวน 7.40 ล้านไร่ สูงกว่าแผน 15.33% จากแผนการเพาะปลูก 6.41 ล้านไร่ ลุ่มเจ้าพระยา ทำนา 4.39 ล้านไร่ เกินแผน 56% จากแผนที่กำหนด 2.81 ล้านไร่ ภาคเหนือทำนา 0.75 ล้านไร่ เกินแผน 64.88% จากแผนที่กำหนดไว้ 0.45 ล้านไร่ ภาคตะวันออก ทำนา 0.51 ล้านไร่ เกินแผน 4.33% จากแผนที่กำหนดไว้ 0.49 ล้านไร่ ภาคอีสาน ทำนา 1.23 ล้านไร่ หรือ 89.07% ของแผนที่ 1.38 ล้านไร่ ภาคกลางทำนาตามแผนคือ 0.02 ล้านไร่ และภาคตะวันตกทำนา 0.51 ล้านไร่ หรือ 48.62% ของแผนที่ 1.04 ล้านไร่ แม้ภาพรวมของการปลูกข้าวนาปรังสูงกว่าแผนที่วางไว้ และขณะที่เริ่มมีการเก็บเกี่ยวแล้วจำนวน 0.51 ล้านไร่ ข้าวของชาวนาได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำไม่มากนัก เพราะชาวนามีการใช้น้ำค้างทุ่ง และน้ำในแหล่งน้ำต้นทุนของตนเองเพื่อทำการเกษตร ทำนา

 

 

นายประพิศ กล่าวว่า ขณะเดียวกัน ปริมาณน้ำต้นทุนยังมีเพียงพอที่จะใช้ในทุกกิจกรรมการใช้น้ำช่วงต้นฤดูฝนด้วยเช่นกัน ภาครัฐจึงต้องขอความร่วมมือเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว ควรงดการทำนารอบที่ 3 เพราะมีความเสี่ยงสูงที่ผลผลิตจะได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำได้ โดยเฉพาะลุ่มเจ้าพระยา ปริมาณน้ำต้นทุน 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่มีการจัดสรรน้ำมากกว่าแผนสะสมอยู่ 427 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)

 

สำหรับปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ 35 แห่งทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2565 มีปริมาณน้ำในเขื่อน 47,349 ล้าน ลบ.ม. หรือ 67% ของความจุอ่าง ซึ่งมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 9,505 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้การได้ 23,807 ล้าน ลบ.ม. หรือ 50% ของความจุอ่าง ซึ่งมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 9,506 ล้าน ลบ.ม.ในจำนวนนี้ มีการสำรองน้ำ 3 เดือน เผื่อรองรับฝนทิ้งช่วง หรือ จนกว่าฝนใหม่จะมา เป็นการบริหารความเสี่ยงที่ในช่วงฤดูแล้งก่อนฝนใหม่จะมาจำนวน 15,577 ล้าน ลบ.ม.

 

นายประพิศ กล่าวว่า แม้ว่าสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ภาพรวมทั้งประเทศจะดีกว่าปีที่ผ่านมา แต่ปริมาณน้ำต้นทุนใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยาก็ยังมีอยู่อย่างจำกัด แต่กรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำ เพื่อจะสงวนน้ำต้นทุน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยาไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบได้ตลอดแล้งนี้ ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน ให้มีน้ำเพียงพอที่จะใช้ในทุกกิจกรรมการ ได้แก่ เพื่ออุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศในช่วงฤดูแล้ง สำรองน้ำสำหรับใช้ในช่วงต้นฤดูฝน เพื่อทำการเกษตร และอุตสาหกรรม

 

สำหรับ 4 เขื่อนหลัก เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565 มีปริมาณน้ำทั้งหมด 11,905 ล้าน ลบ.ม. หรือ 48% ของความจุอ่าง น้ำใช้การได้ 5,209 ล้าน ลบ.ม. หรือ 29% ของความจุอ่าง โดย เขื่อนภูมิพล มีน้ำใช้การได้ 2,854 ล้าน ลบ.ม.หรือ 30% ของความจุอ่าง เขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำใช้การได้ 1,223 ล้าน ลบ.ม.หรือ 18% ของความจุอ่าง เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีน้ำใช้การได้ 577 ล้าน ลบ.ม. หรือ 64% ของความจุอ่าง และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีน้ำใช้การได้ 556 ล้าน ลบ.ม. หรือ 50% ของความจุอ่าง 

 

อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานได้เตรียมวางแผนรับฤดูฝนปี 2565 โดยปรับปฏิทินการเพาะปลูกในพื้นที่ลุ่มต่ำ 11 ทุ่ง เพื่อให้เกษตรกรเพาะะปลูกได้ก่อน และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทันก่อนน้ำหลาก ดังนี้ ทุ่งบางระกำ เริ่มส่งน้ำ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 เก็บเกี่ยวได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2565 ทุ่งเจ้าพระยาตอนล่าง 10 ทุ่ง เริ่มส่งน้ำ ในวันที่ 15 เมษายน 2565 เก็บเกี่ยวได้ภายในวันที่ 15 กันยายน 2565 รวมพื้นที่ทำนาประมาณ 1.2 ล้านไร่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง