รีเซต

กูเกิลเผยการเปลี่ยนแปลงของโลก ผ่าน"กูเกิล เอิร์ธ"กับอัพเดตครั้งใหญ่

กูเกิลเผยการเปลี่ยนแปลงของโลก ผ่าน"กูเกิล เอิร์ธ"กับอัพเดตครั้งใหญ่
มติชน
18 เมษายน 2564 ( 15:37 )
57
กูเกิลเผยการเปลี่ยนแปลงของโลก ผ่าน"กูเกิล เอิร์ธ"กับอัพเดตครั้งใหญ่

 

ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ผู้คนหลายพันล้านคนหันมาใช้ กูเกิล เอิร์ธ (Google Earth) ซอฟต์แวร์ที่พัฒนาโดยกูเกิล (Google) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำรวจโลกของเราในตำแหน่งที่ต่างกันไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด คุณอาจเคยเห็นยอดเขาเอเวอเรสต์หรือบินผ่านบ้านเกิดของคุณมาแล้ว นับตั้งแต่กูเกิลเปิดใช้กูเกิล เอิร์ธ ทีมงานก็มุ่งที่จะสร้างแบบจำลองของโลกในรูปแบบ 3 มิติที่สะท้อนให้เห็นถึงโลกของเราที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา พร้อมด้วยฟีเจอร์ต่างๆ ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เพลิดเพลินไปกับการสำรวจพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกและส่งเสริมให้ทุกคนสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก

 

การที่กูเกิลได้อัพเดตกลไกของกูเกิล เอิร์ธ ครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2560 ทำให้ตอนนี้คุณสามารถมองเห็นโลกของเราในมิติใหม่ได้ในรูปของเวลา ด้วยฟีเจอร์ Timelapse ใน กูเกิล เอิร์ธ ภาพถ่ายดาวเทียม 24 ล้านภาพตลอดช่วง 37 ปีที่ผ่านมา ได้ถูกรวบรวมเป็นประสบการณ์อินเตอร์แอ๊กทีฟแบบ 4 มิติ ตอนนี้ไม่ว่าใครก็สามารถเฝ้าดูเวลาที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปในทั่วทุกมุมโลก และรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ทศวรรษที่ผ่านมา

 

สภาพแวดล้อมของโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา โดยมีการเปลี่ยนแปลงมากกว่าช่วงเวลาอื่นๆ ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ หลายๆ คนได้สัมผัสกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ในชุมชนของตัวเอง บางคนอาจไม่รู้สึกถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลออกไป เช่น การละลายของน้ำแข็ง และการลดลงของพื้นที่ธารน้ำแข็ง Timelapse ใน กูเกิล เอิร์ธ ทำให้เรามองเห็นการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ชัดเจนขึ้นเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส ซึ่งไม่เพียงแสดงให้เห็นถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงวิธีแก้ปัญหาเหล่านั้น ตลอดจนปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่สวยงามชวนให้หลงใหลซึ่งเกิดขึ้นในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

 

เข้าใจปัจจัยที่ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไป

 

กูเกิลทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญที่ CREATE Lab ของมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon เพื่อสร้างเทคโนโลยีสำหรับ Timelapse และได้ร่วมงานกับพวกเขาอีกครั้งเพื่อทำความเข้าใจกับสิ่งที่เห็น

 

หลังจากที่ได้ทำการสำรวจความเป็นไปบนโลกใบนี้ ทีมงานได้พบปัจจัยหลักๆ 5 ประการด้วยกัน นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่าไม้ การเจริญเติบโตของชุมชนเมือง อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น แหล่งพลังงานต่างๆ และความงามที่เปราะบางของโลกเรา กูเกิล เอิร์ธ จะพาคุณไปร่วมสำรวจแต่ละปัจจัยเพื่อให้คุณเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลกและสิ่งที่พวกเราต้องเผชิญได้ดีขึ้น

 

ย่อส่วนเวลาบนโลกนี้มาอยู่ในมือของเรา

 

การทำวิดีโอแบบไทม์แลปส์สำหรับดาวเคราะห์ทั้งดวงจำเป็นต้องใช้วิธีการที่เรียกว่า “การบีบอัดพิกเซล” จำนวนมากใน Earth Engine ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มบนระบบคลาวด์ของกูเกิล สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่กูเกิล ทำการเพิ่มภาพ Timelapse แบบเคลื่อนไหวลงไปในกูเกิล เอิร์ธ ด้วยการรวบรวมภาพถ่ายดาวเทียมมากกว่า 24 ล้านภาพ ตั้งแต่ปี 2527 ถึง 2563 โดยรวมแล้วต้องใช้เวลาในการประมวลผลมากกว่า 2 ล้านชั่วโมงด้วยเครื่องจำนวนหลายพันเครื่องในกูเกิล คลาวด์ เพื่อรวมภาพดาวเทียมขนาด

 

20 เพตาไบต์ให้เป็นชุดภาพวิดีโอเดียวที่มีขนาด 4.4 เทราพิกเซล ซึ่งเทียบเท่ากับ 530,000 วิดีโอที่ความละเอียด 4K! และการประมวลข้อมูลทั้งหมดนี้ทำขึ้นภายในศูนย์ข้อมูลของ กูเกิล ที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% และปลอดคาร์บอน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพันธสัญญาของกูเกิล ที่มุ่งมั่นที่จะสร้างอนาคตที่ปราศจากคาร์บอน

 

เท่าที่กูเกิลรู้ Timelapse ในกูเกิล เอิร์ธ ถือเป็นวิดีโอขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และการที่จะสามารถเห็นภาพของโลกได้นั้นต้องอาศัยความร่วมมือที่พิเศษสุด งานนี้สำเร็จได้ด้วยความช่วยเหลือของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปที่ยึดถือเรื่องข้อมูลที่เปิดเผยและเข้าถึงได้เป็นสำคัญ นอกจากนั้นยังมีความพยายามอย่างยิ่งยวดในการส่งจรวด ยานสำรวจ ดาวเทียมและนักบินอวกาศขึ้นสู่อวกาศด้วยจิตวิญญาณแห่งการเรียนรู้และสำรวจ Timelapse ในกูเกิล เอิร์ธ จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยหากไม่มี NASA และโครงการ Landsat ของสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นโครงการสำรวจโลกของพลเรือนแห่งแรกในโลก และโครงการ Copernicus ของสหภาพยุโรปโดยใช้ดาวเทียม Sentinel

 

คุณจะใช้ Timelapse ทำอะไรได้บ้าง

 

กูเกิลขอเชิญชวนให้ทุกคนหันมาลองใช้ Timelapse และแบ่งปันต่อๆ กันไป ไม่ว่าคุณจะทึ่งไปกับรูปทรงของแนวชายฝั่งที่เปลี่ยนแปลงไปตามการเติบโตของมหานคร หรือติดตามสถานการณ์การตัดไม้ทำลายป่า Timelapse ใน กูเกิล เอิร์ธแสดงให้เห็นว่าโลกที่เราอาศัยอยู่ทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องมือในการให้ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจต่อไปอีกด้วย

 

หลักฐานทางภาพสามารถสื่อถึงสาระสำคัญของการอภิปรายในลักษณะที่คำพูดไม่สามารถทำได้ และเป็นตัวช่วยในการสื่อสารประเด็นที่ซับซ้อนกับทุกคน ตัวอย่างเช่น ผลงานของ ลิซ่า โกลด์เบิร์ก (Liza Goldberg) ซึ่งวางแผนที่จะใช้ภาพ Timelapse เป็นสื่อในการสอนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือสารคดี “Nature Now” ที่ได้รับรางวัลในปี 2563 ซึ่งใช้ภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อแสดงให้เห็นร่องรอยของมนุษยชาติที่แผ่ขยายออกไปบนโลกใบนี้

 

Timelapse ในอีกทศวรรษข้างหน้า

 

กูเกิลจะทำงานร่วมกับพันธมิตรต่างๆ เพื่ออัพเดตภาพ Timelapse ในกูเกิล เอิร์ธ เป็นประจำทุกปีตลอดทศวรรษหน้า และหวังว่ามุมมองของโลกใบนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการอภิปรายในประเด็นต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมการค้นพบและเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับปัญหาระดับโลกที่เร่งด่วนที่สุดที่ทุกฝ่ายต้องหาแนวทางการแก้ไขร่วมกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง