รีเซต

'หมอประสิทธ์' ยันโควิดตัวเลขจริง! พอใจผู้ป่วยโควิดอาการหนักลด ขอค่อยๆ ผ่อนมาตรการ

'หมอประสิทธ์' ยันโควิดตัวเลขจริง! พอใจผู้ป่วยโควิดอาการหนักลด ขอค่อยๆ ผ่อนมาตรการ
มติชน
28 กันยายน 2564 ( 14:42 )
19
'หมอประสิทธ์' ยันโควิดตัวเลขจริง! พอใจผู้ป่วยโควิดอาการหนักลด ขอค่อยๆ ผ่อนมาตรการ

‘หมอประสิทธ์’ ยันโควิดตัวเลขจริง! พอใจผู้ป่วยโควิดอาการหนักลด ขอค่อยๆ ผ่อนมาตรการ สถานบันเทิงรอก่อน ย้ำมาตรการส่วนบุคคล

 

 

เมื่อวันที่ 28 กันยายน ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า ตามที่เคยคาดการณ์ในช่วง 2-4 สัปดาห์ก่อน ซึ่งตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดใหม่ก็ลดลงตามนั้น ขณะที่ผู้ป่วยปอดอักเสบ ผู้ที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจก็ลดลงมาเรื่อยๆ จากสูงกว่าพันราย วันนี้ก็ลดลงเหลือ 738 ราย ผู้ป่วยที่ต้องเข้าโรงพยาบาลก็ลดลงเช่นกัน ซึ่งตามหลักการที่เคยเน้นย้ำ 3 มาตรการที่ต้องทำคู่กันไป คือ มาตรการวัคซีน มาตรการบุคคล และการบริหารจัดการ ขณะนี้มาตรการวัคซีนไปได้ดีมาก ต่อเนื่องเดือน ต.ค.64 เป็นต้นไป ก็จะมีวัคซีนเข้ามาทยอยฉีดได้เพียงพอแน่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็ต้องไม่ผ่อนการฉีด ต้องเร็วและมากเหมือนเดิม โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่ติดเชื้อแล้วอาการรุนแรง ที่บางจังหวัดอาจยังทำได้ไม่ดีนักก็ต้องเร่งขึ้นไป ต่อมามาตรการบริหารจัดการอาจผ่อนลงได้บ้าง เพื่อดึงเศรษฐกิจกลับมา ตนเห็นด้วยในการผ่อนคลายมาตรการ แต่สิ่งที่ต้องเน้นย้ำคือ มาตรการจะต้องดำเนินการตามที่กำหนด ผู้ประกอบการต้องทำตามข้อตกลง แต่ที่สำคัญและต้องเน้นย้ำมากๆ คือ มาตรการส่วนบุคคล เราทุกคนต้องช่วยกัน อันหนึ่งขึ้น อันหนึ่งลงก็ยังพอสมดุลกันได้

 

 

“ถ้าไปแบบนี้ได้ เราต้องติดตามอีก 2 สัปดาห์ที่เริ่มผ่อนคลาย เพราะผลไม่เกิดขึ้นทันที แต่เราต้องติดตาม 2 สัปดาห์ ขณะเดียวกันการฉีดวัคซีนเฉลี่ยวันละ 6 แสนโดส 14 วันก็จะเฉลี่ย 8 ล้านโดส หลังจากนี้ก็ต้องติดตามดู ส่วนตัวเลขผู้ป่วยใหม่จะกลับไปถึง 2 หมื่นรายหรือไม่ ตามหลักแล้ว ถ้าทุกคนทำตามที่ว่า ก็ไม่น่าจะกลับขึ้นไปอีก แต่ขอให้ทุกคนทำตามที่ตกลงเพราะถ้าไม่ทำตาม เราก็จะประเมินสถานการณ์ได้ยาก แต่ถ้าทำตามตกลง เราก็จะประเมินผ่อนกิจการ วางแผนต่อไปได้ดีขึ้น” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว

 

 

ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า การตรวจหาเชื้อด้วย ATK ในผู้ที่มีความเสี่ยงก็สำคัญ เพื่อป้องกันการกระจายเชื้อ โดยเฉพาะกิจกรรมที่มีคนรวมกันเยอะๆ เพราะตรวจ ATK ใช้เวลาสั้น และตอนนี้ราคาก็ถูกลง แต่เมื่อรู้ผลบวกแล้วก็ต้องทำตามมาตรการแยกกักตัวเอง (Home Iotation) ก็จะช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อได้ โอกาสติดเชื้อเสียชีวิตก็ลดลงเพราะกลุ่มเสี่ยงได้รับวัคซีนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ที่ต่ำกว่าหมื่นนั้น ไม่สำคัญเท่าจำนวนผู้ป่วยหนัก เพราะตรงไปตรงมาคือ การติดเชื้อ หากไม่ตรวจก็ไม่เชื้อตัวเลข ส่วนผู้ที่ตรวจ ATK บวก ตอนนี้ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำแล้ว แต่จำนวนที่เห็นชัดคือ ผู้ป่วยหนักที่ลดลงจริง ก็เชื่อได้ว่าเรากำลังอยู่ในขาลงจริงๆ

 

 

“ตอนนี้ผมพอใจมากว่า จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ อาการรุนแรงก็ลดลงมาก ตอนนี้ต้องรักษาสิ่งที่ทำไปเรื่อยๆ มาตรการบุคคลคงไว้ วัคซีนก็ระดมฉีดเรื่อยๆ มาตรการจัดการ ผู้ประกอบการก็ร่วมมือไปเรื่อยๆ ผมคิดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นไปเรื่อยๆ สถานการณ์ตอนนี้ยืนยันว่า ดีขึ้นจริง เห็นด้วยที่มีการผ่อนคลายไป ค่อยๆ ผ่อนไป แต่ย้ำว่า ทุกคนต้องไม่ผ่อนคลายมาตรการส่วนบุคคล ต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่างกันต่อ” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว

 

 

ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า ขณะนี้เรามีการผ่อนคลายค่อยข้างมาก ร้านอาหาร ร้านทำผม สถานที่ออกกำลังกาย ก็กลับมาเปิดได้แล้ว อย่างปี 2563 เราผ่อนคลายถึง 6 ระยะ ห่างกันระยะละ 14 วัน ใช้เวลา 3 เดือน แต่ผู้ติดเชื้อสูงสุดที่เคยเจอคือ 188 รายต่อวัน แต่ปีนี้เราเจอถึงหลัก 2 หมื่นกว่าราย ดังนั้น การผ่อนคลายก็น่าจะใช้เวลามากกว่าปีที่แล้ว แต่ข้อดีของปีนี้เรามีวัคซีนที่กำลังทำหน้าที่ของมันแล้ว ก็น่าจะช่วยลดเวลาส่วนนี้ได้บ้าง เราต้องเริ่มผ่อนคลายเป็นระยะไป เพื่อไม่ให้ต้องปิดซ้ำอีก เริ่มจากกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่ำก่อน และฉีดวัคซีนคู่กันไป ต่อไปก็จะเริ่มผ่อนคลายกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น ทั้งนี้ หากมีการผ่อนคลายแต่เราไม่ช่วยกัน ก็ต้องกลับมากระชับกันใหม่ อย่างเช่น สิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม ยังต้องเน้นย้ำสิ่งสำคัญต้องป้องกันตัวเอง เพื่อไม่ให้แพร่ถึงคนอื่นด้วย เป็นหน้าที่ของทุกคน หากทุกคนทำเช่นนี้ เราก็จะมีโอกาสไปกินข้าวนอกบ้านได้ ส่วนกิจกรรมที่เสี่ยงสูง เช่น สถานบันเทิง กิจกรรมที่มีคนรวมตัวเยอะๆ มีการตะโกน ตนยังไม่เห็นด้วยที่จะมีการเปิด ดังนั้น ขณะที่รอผ่อนกิจกรรมเราก็เร่งฉีดวัคซีน คู่ขนานกันไปอย่างนี้

 

 

“ปีนี้ไม่เหมือนปีที่แล้ว ตอนนี้ที่ลดลงจากคือ จาก 2 หมื่นมา 1 หมื่นเราใช้เวลานานเท่าไหร่ เชื่อว่าถ้าเราติดเชื้อน้อยกว่าพันต่อวัน เราจะหายใจคล่องขึ้น ถึงจะ 4-5 พันราย ผมก็ยังหายใจไม่ค่อยคล่อง เพราะต้องระวังอยู่ แต่ส่วนตัวไม่ได้ตั้งเป้าหมาย เพียงแต่ต้องเร่งมาตรการอื่นๆ ขณะที่ การเปิดประเทศ ที่เรามีแซนด์บ็อกซ์ เป็นการทดสอบอยู่ ก็ขอให้เป็นบทเรียน ตรงไหนต้องแก้ ก็แก้ หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ใช้ในจังหวัดที่ปลอดภัย และขยายไปเรื่อยๆ อาจจะช้านิดหนึ่ง แต่ปลอดภัย” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง