รีเซต

ฝนตกหนัก นาข้าวสามร้อยยอดน้ำท่วม เสียหาย 500 ไร่

ฝนตกหนัก นาข้าวสามร้อยยอดน้ำท่วม เสียหาย 500 ไร่
มติชน
18 กุมภาพันธ์ 2565 ( 10:43 )
141

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ นายชัยพร ศรีนวลจันทร์ ปลัดอำเภอสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายศิริ อินประสิทธิ์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่5 บ้านเกาะไผ่ ต.ไร่ใหม่ ลงพื้นที่สำรวจนาข้าว หมู่ 5 และ หมู่ 2 หลังจากมีฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้มีน้ำป่าจากเทือกเขาตะนาวศรีไหล่เข้าท่วมนาข้าวเสียหายกว่า 500 ไร่ รวมนาข้าวที่ชาวนาพึ่งหว่านเมล็ดไม่ถึง 20 วัน นาข้าวที่ต้นข้าวสูงประมาณ 30-50 เซนติเมตร จมน้ำเสียหายทั้งหมด จาการตรวจสอบพบว่านาข้าวในทุ่งสามร้อยอด ต.ไร่ใหม่ ต.ไร่เก่า จะประสบปัญหาน้ำท่วม เนื่องจากไม่มีทางระบายน้ำ

 

นายประสพโชค คงทอง ชาวบ้านที่ประสบภัย กล่าวว่า ขณะนี้น้ำท่วมนา 40 ไร่ ทำให้ต้นทุนเฉลี่ยไร่ละ 2 พันกว่าบาทเสียหายทั้งหมด ส่วนสาเหตุเกิดจากนาข้าวในหมู่บ้านสามร้อยยอดไม่มีทางระบายน้ำลงทะเล ขณะที่แต่ละครั้งน้ำจะท่วมขังนานกว่า 1 เดือน

 

นายศิริ อินประสิทธิ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 บ้านเกาะไผ่ กล่าวว่า หลังฝนตกหนักต่อเนื่องจะมีปัญหาน้ำท่วมทุกครั้ง จึงประสานฝ่ายปกครองสำรวจความเสียหาย เพื่อหาทางช่วยเหลือเกษตรกร ส่วนสาเหตุยอมรับว่าไม่มีร่องระบายน้ำ ที่ผ่านมาพยายามแจ้งหน่วยงานให้ช่วยขุดลอก เพื่อให้น้ำระบายลงทะเลให้เร็ว และคาดว่าหากฝนตกต่อเนื่องน้ำจะท่วมขยายวงกว้างกระทบไร่นาสวนผสม รวมไปถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ด้วย เบื้องต้นหลังการสำรวจประเมินความเสียหายใน หมู่ 5 บ้านเกาะไผ่ และหมู่ 2 บ้านสามร้อยยอด ยังมีปัญหาเกษตรกรบางส่วนยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับเกษตรอำเภอ

 

ด้านนายเสถียร เจริญเหรียญ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ลงเรือตรวจเยี่ยมพื้นที่ประสบอุทกภัยหลังมีฝนตกหนักในพื้นที่ช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา และรับฟังข้อมูลสถานการณ์น้ำในพื้นที่บ้านโคกตาหอม หมู่ 9 ต.อ่างทอง อ.ทับสะแก ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝนตกหนักและลมกระโชกแรง ทำให้พัดพาตะกอนทรายมาทับถมบริเวณปากคลองเป็นสาเหตุให้การระบายน้ำไม่สะดวก

 

จากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้เยี่ยมบ้านผู้ประสบอุทกภัยพร้อมมอบถุงยังชีพ และน้ำดื่ม จำนวน 2 ชุด ให้แก่ประชาชนในพื้นที่หมู่ 9 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น และได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจความเสียหายหลังสถานการณ์คลี่คลายสำหรับปัญหาตะกอนทรายทับถมปิดปากคลองในเบื้องต้น องค์การบริหารส่วนตำบลอ่างทอง ได้กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยได้ตั้งงบประมาณในการขุดลอกทางระบายน้ำลงสู่ทะเล ปีละ 2 ครั้ง และได้รับแจ้งจากสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาประจวบคีรีขันธ์ ได้เตรียมงบประมาณสำหรับการขุดลอกปากคลองดังกล่าว อีกปีละ 1 ครั้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง