สวัสดีครับท่านผู้อ่านทั้งหลายวันนี้ผู้เขียนมีสาระดีดีเกี่ยวกับเรื่องของกฎหมายมาแบ่งปันกันอีกเช่นเคยครับ...คำถาม พินัยกรรมคืออะไร...พินัยกรรมมีกี่แบบ...อย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ทำพินัยกรรมได้หรือไม่....การทำพินัยกรรมจำเป็นหรือไม่ว่าต้องมีทรัพย์สินกี่บาทขึ้นไปอย่างไร....ฟังดูแล้วอย่างเพิ่งงงครับ รับรองวันนี้มีคำตอบแน่นอนมาดูกันครับ 1. พินัยกรรมคืออะไร คำตอบ ในประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์กำหนดผู้เขียนนำมาสรุปได้ว่า พินัยกรรมคือ การแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องของทรัพย์สินหรือในการต่าง ๆ ของเจ้ามรดก ใช่ครับพินัยกรรมเป็นเหมือนการสั่งเสียไว้ก่อนตายเพื่อขจัดปัญหาที่จะเกิดขึ้นในเรื่องของทรัพย์สิน งานต่าง ๆ ไม่ให้มีปัญหาสำหรับคนข้างหลัง (ทายาท) ซึ่งมักจะเห็นข่าวอยู่เสมอ ๆ ในเรื่องของลูกหรือทายาทแย่งชิงมรดกกัน...แต่ปัญหาเหล่านี้จะหมดลงหรือเบาบางลงหากเจ้ามรดกมีการทำพินัยกรรมกำหนดไว้เผื่อตาย 2. พินัยกรรมมีกี่แบบ คำตอบ ในประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ ผู้เขียนสรุปได้ว่าพินัยกรรมมีอยู่ 5 แบบครับได้แก่ แบบธรรมดา, แบบเขียนเองทั้งฉบับ, แบบเอกสารฝ่ายเมือง, แบบเอกสารลับ, แบบวาจา ครับมีอยู่ 5 เท่านั้นนะครับซึ่งแต่ละแบบมีความแตกต่างกันตามกฎหมาย แต่ที่ง่ายที่สุดคือ แบบเขียนเองทั้งฉบับ (เขียนเองนะครับด้วยลายมือตนเองห้ามพิมพ์ ห้ามให้คนอื่นเขียนเด็ดขาด) และแบบธรรมดา (พิมพ์ได้ ให้ใครพิมพ์ก็ได้แต่ต้องมีพยานลงลายมือชื่อสองคน) ส่วนวิธีที่เหลือ 3 แบบค่อนข้างยุ่งยากเพราะต้องมีพยาน มีการไปทำที่อำเภอ/เขต มีการรับรองโดยผู้อำนวยการเขต/นายอำเภอ มีการประทับตรา เป็นต้น) 3. อย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ทำพินัยกรรมได้หรือไม่ คำตอบ ทำได้ครับใคร ๆ ก็ทำได้หากมีทรัพย์สิน เช่น นายเอก มีรถยนต์หนึ่งคัน มีวัวสองตัว มีบ้านหนึ่งหลัง นายเอกจะทำพินัยกรรมแบบธรรมดาโดยระบุวันเดือนปีที่ทำพินัยกรรม ระบุตัวทายาทผู้รับพินัยกรรม และนายเอกให้นายล้อม และนายเข้มเป็นผู้ลงลายมือชื่อในฐานะพยานแบบนี้ก็ถือว่าสมบูรณ์ และใช้เป็นพินัยกรรมแบบธรรมดาได้หรือในพินัยกรรมอาจจะกำหนดไว้ในเรื่องอื่น ๆ ของนายเอกด้วย เช่น มอบรถยนต์ และบ้านให้นายกโทซึ่งเป็นลูก และให้นายโทเป็นผู้จัดการงานศพนายเอกแต่ผู้เดียวเมื่อนายเอกตาย เช่นนี้ก็ได้ 4. การทำพินัยกรรมจำเป็นหรือไม่ว่าต้องมีทรัพย์สินกี่บาทขึ้นไป คำตอบ ผู้ที่ทำพินัยกรรมได้ต้องมีอายุ 15 ปีขึ้นไป ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ บุคคลผู้อยู่ในความปกครองจะทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกของตนให้แก่ผู้ปกครอง หรือคู่สมรส บุพการี หรือผู้สืบสันดาน หรือพี่น้องของผู้ปกครองไม่ได้จนกว่าจะเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด...(รายละเอียดขออธิบายในบทความต่อไป) ในเรื่องของทรัพย์สินที่ระบุไว้ในพินัยกรรมไม่กำหนดครับว่าต้องมีกี่บาทขึ้นไปเพียงแค่ขอให้มีทรัพย์สิน ( ทรัพย์สิน หมายความรวมถึงวัตถุมีรูปร่าง และไม่มีรูปร่าง) ได้หมด...ถ้าสดชื่น (อิอิ...) เช่น นายเอกมีทองเส้นเท่าหนวดกุ้ง 1 เส้น ทำพินัยกรรมแบบธรรมดาหรือเขียนเองทั้งฉบับมอบให้นางแนนน้องสาว อย่างนี้ก็ทำได้ครับแต่ข้อสำคัญว่าขอให้ชัดเจนว่าจะทำพินัยกรรมแบบใด และทำให้ถูกแบบเท่านั้น ในที่นี้ผู้เขียนขอยกตัวอย่างแบบฟอร์มการทำพินัยกรรมแบบธรรมดามาให้ท่านผู้อ่านได้เห็นพอสังเขปเพื่อความเข้าใจดังนี้ครับ (ที่ยกตัวอย่างแบบธรรมดาเพราะง่าย ไม่ยุ่งยาก และเป็นรูปแบบชัดเจนง่ายต่อความเข้าใจ) เห็นหรือไม่ครับว่าการทำพินัยกรรมไม่ใช่เรื่องยาก และไกลตัวเลยลองดูนะครับชีวิตนี้ไม่แน่นอนทำไว้ก่อน...เพื่อลดปัญหาที่จะตามมาทีหลัง...สำหรับวันนี้สวัสดีครับ... เคดิตภาพหน้าปกจาก pixabay / ภาพที่ 2 เครดิตภาพจาก ผู้เขียน / ภายพที่ 3 เคดิตภาพจาก pixabay / ภาพที่ 4 เครดิตภาพจาก pixabay / ภาพที่ 5 เครดิตภาพจาก ผู้เขียน