10 วิธีรับมือกับปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 จากการจราจร ในช่วงฤดูฝน อ่านต่อเลย! เขียนโดย ภัคฒ์ชาลิสา จำปามูล หลายคนอาจคิดว่า PM2.5 เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะในฤดูแล้ง แต่จริงๆ แล้ว ฝุ่นละอองชนิดนี้ยังคงเป็นภัยเงียบที่เราต้องเจอแม้ในฤดูฝนค่ะ โดยเฉพาะฝุ่นที่มาจากการจราจร และยิ่งในช่วงที่มีฝนตก ถนนลื่น หรือรถติดหนัก ก็ยิ่งทำให้เกิดการสะสมของฝุ่นได้มากขึ้น ถึงแม้ว่าน้ำฝนจะช่วยชะล้างฝุ่นละอองในอากาศได้บ้าง แต่ในสภาพที่ถนนเปียก การเบรก หรือการออกตัวของรถยนต์ สิ่งเหล่านี้สามารถทำให้ฝุ่นละเอียดฟุ้งกระจายได้มากขึ้นค่ะ ยิ่งไปกว่านั้นในบริเวณที่มีการจราจรหนาแน่นเป็นเวลานานๆ เช่น แยกไฟแดง หรือช่วงเวลาเร่งด่วน ย่อมหมายถึงการสะสมของไอเสียและฝุ่นควันจากท่อไอเสียรถยนต์จำนวนมหาศาล จึงทำให้ปัญหาฝุ่น PM2.5 จากการจราจรยังคงอยู่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น และบางครั้งความชื้นในอากาศก็ทำให้ฝุ่นแขวนลอยอยู่ได้นานขึ้นด้วย ดังนั้นการรับมือกับฝุ่นในช่วงฤดูฝนจึงยังคงเป็นสิ่งสำคัญ และต่อไปนี้คือ 10 วิธีที่เราสามารถนำไปปรับใช้ได้ค่ะ 1. ปิดประตูและหน้าต่างให้สนิทเมื่ออยู่ในอาคาร หลายคนอาจคิดว่าฤดูฝนช่วยชะล้างฝุ่น PM2.5 ในอากาศให้เบาบางลง แต่ความจริงแล้วฝุ่นละอองจากท่อไอเสียรถยนต์ยังคงเป็นปัญหาสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการจราจรติดขัด ถึงแม้ว่าน้ำฝนอาจดึงฝุ่นบางส่วนลงมาก็จริง แต่ในบางสถานการณ์ ฝุ่นกลับถูกกักเก็บอยู่ในระดับใกล้พื้นดินมากขึ้น ทำให้เราสูดดมเข้าไปได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นการปิดหน้าต่างและประตูให้สนิทเมื่ออยู่ในอาคารจึงเป็นวิธีง่ายๆ ที่มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันตัวเองจากฝุ่นพิษ เพราะถึงแม้ฝนจะตก แต่ฝุ่นจากการจราจรยังคงอยู่ และพร้อมจะเข้ามาในบ้านของเราเสมอ การป้องกันไว้ก่อนจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อสุขอนามัยที่ดีของทุกคนค่ะ การจะปิดประตูและหน้าต่างนั้นให้สังเกตช่วงเวลาที่มีการจราจรหนาแน่น ถ้ามองออกไปนอกหน้าต่างแล้วเห็นเหมือนมีหมอกควัน หรือทัศนวิสัยไม่ดี ก็ควรปิดหน้าต่างทันที ถ้าฝนตกพรำๆ หรือตกไม่หนักมากพอ ฝุ่นจากการจราจรก็ยังคงอยู่ได้ ดังนั้นถึงแม้ฝนจะตก ก็ยังควรเช็กค่า PM2.5 ประกอบ ก่อนตัดสินใจเปิดประตูและหน้าต่างค่ะ 2. ใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีแผ่นกรอง HEPA เนื่องจากแผ่นกรอง HEPA (High-Efficiency Particulate Air) ถูกออกแบบมาเพื่อดักจับอนุภาคขนาดเล็กมากได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง ซึ่งรวมถึงฝุ่น PM2.5 ละอองเกสร เชื้อรา และแม้กระทั่งจุลินทรีย์บางชนิด การมีเครื่องฟอกอากาศ HEPA ในบ้าน โดยเฉพาะในห้องนอนหรือห้องนั่งเล่น จะช่วยให้เราได้หายใจเอาอากาศที่สะอาดเข้าไป ลดความเสี่ยงจากปัญหาสุขอนามัยที่เกิดจากฝุ่น PM2.5 ได้อย่างมาก ไม่ว่าจะฝนตกหนักหรือรถติดแค่ไหน อย่างน้อยที่สุดเราก็มีอากาศที่บริสุทธิ์ในพื้นที่ส่วนตัวของเราจากการทำงานของเครื่องฟอกอากาศค่ะ 3. ติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 อย่างสม่ำเสมอ การที่เราติดตามสถานการณ์ PM2.5 อย่างสม่ำเสมอ เป็นสิ่งสำคัญมากค่ะ เพราะจะช่วยให้เราประเมินความเสี่ยงและเตรียมพร้อมรับมือได้อย่างทันท่วงที เช่น หากรู้ว่าวันนี้ค่าฝุ่นสูง เราก็สามารถเลือกที่จะใช้ขนส่งสาธารณะ แทนการขับรถส่วนตัว หรือสวมใส่หน้ากากอนามัยชนิดพิเศษที่ป้องกัน PM2.5 ได้ เพื่อลดการสัมผัสโดยตรง อีกทั้งยังช่วยให้เราวางแผนการทำกิจกรรมกลางแจ้งได้อย่างเหมาะสม เช่น หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในบริเวณที่มีการจราจรหนาแน่น หรือเลือกทำกิจกรรมในร่มแทน การมีข้อมูลที่อัปเดตอยู่เสมอจะช่วยให้เราและคนที่เรารัก ปลอดภัยจากผลกระทบของ PM2.5 ได้ดียิ่งขึ้นนะคะ 4. ปลูกต้นไม้ที่ช่วยดักจับฝุ่นละอองในบริเวณบ้านหรือรอบอาคาร การปลูกต้นไม้รอบบ้านหรืออาคาร เป็นวิธีที่ช่วยลดปัญหาได้ค่ะ เพราะต้นไม้ทำหน้าที่เหมือนเครื่องฟอกอากาศจากธรรมชาติ ใบไม้สามารถดักจับฝุ่นละออง PM2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดปริมาณฝุ่นในอากาศที่เราหายใจเข้าไป นอกจากนี้ต้นไม้ยังช่วยสร้างความร่มรื่น ลดอุณหภูมิ และเพิ่มความชุ่มชื้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยให้คุณภาพอากาศโดยรวมดีขึ้นได้อีกด้วย การลงทุนเล็กๆ น้อยๆ ในการปลูกต้นไม้จึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพื่อสุขอนามัยที่ดีขึ้นของเราและคนที่เรารักในระยะยาวนะคะ 5. สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น PM2.5 ชนิด N95 หรือเทียบเท่า บางครั้งในฤดูฝนการจราจรที่ติดขัด สามารถทำให้เกิดการสะสมของฝุ่นได้มากขึ้น การสวมหน้ากากป้องกันฝุ่น PM2.5 ชนิด N95 หรือเทียบเท่า จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามค่ะ เพราะหน้ากากชนิดนี้ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษ ให้มีประสิทธิภาพในการกรองอนุภาคขนาดเล็กมาก อย่าง PM2.5 ได้สูง ซึ่งหมายความว่าช่วยป้องกันไม่ให้ฝุ่นเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจของเราได้โดยตรง ลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการระคายเคือง ภูมิแพ้ หรือแม้แต่ปัญหาที่คุกคามร่างกายได้ในระยะยาว แม้ว่าการจราจรจะเป็นต้นกำเนิดของฝุ่น แต่การป้องกันตัวเองด้วยหน้ากากที่เหมาะสมก็เป็นวิธีง่ายๆ ที่ช่วยให้เราสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ค่ะ 6. หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่นเป็นเวลานาน การที่เราพยายามหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่เหล่านี้เป็นเวลานาน ถือเป็นการป้องกันตัวเองจาก PM2.5 ได้โดยตรง เพราะจะช่วยลดปริมาณฝุ่นที่เราสูดดมเข้าไปในแต่ละวัน ลดความเสี่ยงต่ออาการระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจ หรือปัญหาด้านสุขอนามัยอื่นๆ ในระยะยาว การวางแผนการเดินทางล่วงหน้า หรือเลือกใช้เส้นทางที่การจราจรคล่องตัวกว่า จึงเป็นวิธีง่ายๆ ที่ช่วยให้เราห่างไกลจากภัยเงียบที่มองไม่เห็นนี้ได้ดียิ่งขึ้นค่ะ 7. เพิ่มความชื้นในอากาศภายในอาคารอย่างเหมาะสม หลายคนอาจสงสัยว่าการ เพิ่มความชื้นในอากาศภายในอาคาร จะช่วยรับมือกับฝุ่น PM2.5 จากการจราจรได้อย่างไร? โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนที่ดูเหมือนอากาศจะชื้นอยู่แล้ว แต่ความจริงคือแม้ฝนจะตก ฝุ่นจากท่อไอเสียรถยนต์หรือการสึกหรอของยางก็ยังคงฟุ้งกระจายในอากาศภายนอกได้ และอาจเล็ดรอดเข้ามาในอาคารได้เช่นกันค่ะ การรักษาความชื้นที่เหมาะสมภายในบ้านจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะละอองน้ำในอากาศจะช่วยให้อนุภาคฝุ่น PM2.5 มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นและตกลงสู่พื้นได้เร็วขึ้น แทนที่จะลอยฟุ้งอยู่ในอากาศให้เราสูดดมเข้าไป การเปิดเครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศ (humidifier) หรือแม้แต่การวางภาชนะใส่น้ำไว้ในห้อง ก็เป็นวิธีง่ายๆ ที่ช่วยเพิ่มความชื้นได้ นอกจากนี้ความชื้นที่เหมาะสมยังช่วยลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นจากแหล่งอื่นๆ ภายในบ้าน เช่น ฝุ่นผ้า หรือฝุ่นจากเครื่องปรับอากาศได้อีกด้วย การทำให้อากาศภายในอาคารมีความชื้นที่พอดี จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่มีประสิทธิภาพในการลดการสัมผัส PM2.5 และช่วยให้เราหายใจได้อย่างสบายใจขึ้นในทุกฤดูค่ะ 8. ทำความสะอาดบ้านอย่างสม่ำเสมอ การทำความสะอาดบ้านอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญมากค่ะ เพราะช่วยกำจัดฝุ่น PM2.5 ที่สะสมอยู่ตามพื้นผิว เฟอร์นิเจอร์ หรือแม้แต่ในผ้าต่างๆ การปัด กวาด เช็ดถู และการใช้เครื่องดูดฝุ่นที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยดักจับฝุ่นก่อนที่เราจะสูดดมเข้าไป นอกจากนี้การทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ ยังช่วยลดฝุ่นจากแหล่งอื่นๆ ภายในบ้าน เช่น ขนสัตว์เลี้ยง ใยผ้า หรือคราบสกปรกต่างๆ ซึ่งเมื่อรวมกับฝุ่น PM2.5 จากภายนอกแล้ว สามารถทำให้คุณภาพอากาศแย่ลงได้ การรักษาบ้านให้สะอาดอยู่เสมอจึงเป็นเหมือนปราการด่านสุดท้าย ที่ช่วยปกป้องเราจากภัยเงียบของฝุ่นละออง และทำให้เราหายใจได้อย่างเต็มปอดแม้ในวันที่ฝนตกหนักก็ตามค่ะ 9. หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งที่ใช้แรงมากในวันที่ค่าฝุ่นสูง การหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งที่ใช้แรงมากในวันที่ค่าฝุ่นสูง เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเมื่อเราออกกำลังกายหนัก ร่างกายจะหายใจเอาอากาศเข้าไปในปริมาณที่มากกว่าปกติ ทำให้เรามีโอกาสสูดดมฝุ่น PM2.5 เข้าไปในปอดได้มากขึ้น จึงส่งผลให้เกิดการระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจ หรืออาจกระตุ้นให้เกิดอาการต่างๆ กำเริบได้ ดังนั้นเพื่อสุขอนามัยที่ดีของเรา ควรตรวจสอบค่าฝุ่น PM2.5 จากแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือก่อนออกไปทำกิจกรรมเสมอ หากพบว่าค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน การเลือกออกกำลังกายในร่ม หรือเลื่อนกิจกรรมกลางแจ้งออกไปก่อน ย่อมเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพื่อให้เราสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องกังวลเรื่องปัญหาด้านร่างกายในระยะยาวค่ะ 10. ใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว คุณผู้อ่านรู้ไหมคะว่า การที่เราหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ แทนการขับรถยนต์ส่วนตัว เป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยลดปัญหานี้ได้อย่างมีนัยสำคัญ เพราะเมื่อมีคนจำนวนมากเลือกใช้บริการรถเมล์ รถไฟฟ้า หรือรถไฟ ก็จะช่วยลดจำนวนรถยนต์บนท้องถนนลงได้ ทำให้เกิดการเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิง และปล่อยไอเสียสู่บรรยากาศน้อยลงตามไปด้วย การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ของเราแต่ละคน เมื่อรวมกันหลายๆ คน ก็จะกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ ในการช่วยลดปริมาณฝุ่น PM2.5 ในอากาศที่เราหายใจ เพื่อให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่สะอาดขึ้นสำหรับชุมชนโดยรวม การใช้ขนส่งสาธารณะจึงไม่ได้เป็นแค่ทางเลือกที่สะดวกสบาย แต่ยังเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอีกด้วยค่ะ ก็จบแล้วนะคะ พอจะมองเห็นภาพกันบ้างไหม? ที่โดยสรุปแล้วเมื่อพูดถึงการรับมือกับ ฝุ่น PM2.5 โดยเฉพาะที่มาจากการจราจรในช่วงฤดูฝน เราจะเห็นว่ามีหลากหลายแนวทางที่ผู้เขียนแนะนำ ซึ่งคำถามที่ตามมาคือเราจำเป็นต้องทำทุกอย่างพร้อมกันเลยหรือไม่? ในความเป็นจริงแล้ว ไม่จำเป็นต้องทำทุกแนวทางในคราวเดียวค่ะ เพราะแต่ละคนมีข้อจำกัดและสภาพแวดล้อมที่ต่างกันไป ซึ่งการประยุกต์ใช้แนวทางในบทความนี้ ควรทำอย่างยืดหยุ่นและเป็นไปตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ของแต่ละบุคคลและแต่ละวัน โดยเน้นที่การป้องกันตัวเองและคนที่เรารักเป็นหลักก่อนนะคะ โดยในสถานการณ์จริง เราจะรู้ได้ยังไงว่าควรเริ่มต้นจากจุดไหน? สิ่งสำคัญที่สุดคือการติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 อย่างสม่ำเสมอ ผ่านแอปพลิเคชันหรือแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ค่ะ เพราะนี่คือจุดเริ่มต้นที่จะช่วยให้เราตัดสินใจได้ว่า ควรปรับใช้แนวทางใดในแต่ละวัน เช่น หากวันนี้ค่าฝุ่นสูงมาก การสวมหน้ากาก N95 เมื่อออกนอกบ้าน และหลีกเลี่ยงพื้นที่การจราจรหนาแน่น ก็เป็นสิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรกๆ หรือหากต้องขับรถเป็นประจำ การพิจารณาใช้ระบบขนส่งสาธารณะบ้าง ก็เป็นตัวช่วยที่ดีในระยะยาว ส่วนแนวทางอื่นๆ เช่น การปลูกต้นไม้ หรือการทำความสะอาดบ้านเป็นประจำ คือการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในระยะยาวนะคะ การค่อยๆ เริ่มต้นจากสิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุด และให้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนที่สุดก่อน จะช่วยให้เราสามารถรับมือกับปัญหา PM2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่รู้สึกเป็นภาระจนเกินไป เพราะการป้องกันที่ดีที่สุดคือการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมรอบตัวนั่นเองค่ะ เพราะโดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนก็เริ่มจากการรู้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพอากาศในตอนนั้นก่อนค่ะ ถึงแม้ว่าที่นี่จะยังไม่ได้เป็นเมืองใหญ่ ที่มีปัญหาในเรื่องการจราจรติดขัด ที่โดยภาพรวมแล้วการรับมือของผู้เขียนสำหรับที่นี่ เน้นในจุดที่เข้ากับสถานการณ์ของตัวเองเป็นหลักค่ะ คือ การทำความสะอาดบ้าน การปลูกต้นไม้ และการติดตามข่าวสารเกี่ยวกับ PM2.5 ยังไงนั้นคุณผู้อ่านลองอ่านทำความเข้าใจดีๆ อีกสักรอบก่อนก็ได้ค่ะ จากนั้นก็ค่อยๆ นำไปปรับใช้ทีละน้อยๆ ด้วยความตั้งใจ ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านไม่มากก็น้อย หากสนใจเนื้อหาเช่นนี้อีก อย่าลืมกดติดตามหรือบุ๊กมาร์กโปรไฟล์ไว้ เพื่อรับข้อมูลใหม่ๆ ในบทความต่อไป และถ้าต้องการอ่านบทความทั้งหมดโดยผู้เขียน ให้กดดูโปรไฟล์ได้เลยค่ะ เครดิตรูปภาพประกอบบทความ รูปภาพทำหน้าปก โดย Freepik จาก FREEPIK และออกแบบหน้าปกโดยผู้เขียน ใน Canva รูปภาพประกอบเนื้อหา: ภาพที่ 1 จากแอป Weather, ภาพที่ 2 โดย Jonathan J. Castellon จาก Unsplash, ภาพที่ 3 โดยผู้เขียน และภาพที่ 4 โดย Nopparuj Lamaikul จาก Unsplash เกี่ยวกับผู้เขียน ภัคฒ์ชาลิสา จำปามูล จบการศึกษา: พยาบาลศาสตรบัณฑิต จากวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม กระทรวงสาธารณสุข และสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (อนามัยสิ่งแวดล้อม) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความสนใจและประสบการณ์เกี่ยวกับ: สุขภาพ จิตวิทยาเชิงบวก การบำบัดน้ำเสียและกำจัดสิ่งปฏิกูล 9 แหล่งกำเนิด PM2.5 ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่สามารถคุกคามสุขภาพได้ 10 วิธีจัดการสิ่งแวดล้อมรอบบ้าน เพื่อลดการนำพาละอองเกสร ทำไง 9 วิธีกำจัดฝุ่นภายในบ้าน เพื่อลดความสกปรก จากมลพิษในอากาศ เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !