ทบ.แจงยิบ จัดซื้อรถบัสมูลค่ากว่า 500 ล้าน เป็นความต้องการหน่วย ไม่มีล็อกสเปก
เมื่อวันที่ 22 ก.พ.ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ทีมโฆษกกองทัพบก พร้อมหน่วยทหารที่เกี่ยวข้อง แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ในประเด็นที่ฝ่ายค้านได้อภิปรายการทุจริตโครงการจัดหาในกองทัพบก โดย พล.ท.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ โฆษกกองทัพบก (โฆษกทบ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาญัตติ ขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีมีตั้งคำถามที่มีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของกองทัพบกหลายประเด็นด้วยกัน ทบ.ได้จัดเตรียมข้อมูลเพิ่มเติม เพื่ออธิบายในประเด็นที่อาจจะยังเป็นที่สงสัย พร้อมทั้งจัดการแถลงข่าวในวันนี้ เพื่ออธิบายสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องรวมทั้งตอบข้อซักถามต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข้อเท็จจริงจากกองทัพบกโดยตรง เพื่อจะได้ไม่ถูกนำไปบิดเบือนหรือใช้สร้างความสับสนต่อสังคม โดยในทุกเรื่องที่ถูกพาดพิงนั้นขอเรียนว่า กองทัพบกได้ดำเนินการทุกอย่างด้วยความถูกต้อง โปร่งใส เป็นไปตามกฎหมาย กฎระเบียบของทางภาครัฐทุกประการ และสามารถตรวจสอบได้ทุกเรื่อง ทั้งนี้ ขอขอบพระคุณท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ทรงเกียรติทุกท่านที่กรุณาให้ความสนใจ ตรวจสอบการดำเนินงานในหลายๆด้าน เพื่อให้ ทบ.ได้นำไปใช้พัฒนากองทัพบกต่อไป
พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษก ทบ. กล่าวว่า สำหรับโครงการจัดหารถยนต์โดยสารขนาดใหญ่ปรับอากาศในปีงบประมาณ 2563 สืบเนื่องจาก ทบ.ได้จำหน่ายรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานเกิน 25 ปี ไปจำนวน 661 คันจากทั้งหมด 1,175 คัน จึงต้องจัดหามาทดแทน โดย ทบ.ได้ทยอยจัดซื้อมาตั้งแต่ปี 57 และขยายมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งปีงบประมาณ 2563 ก็เป็นการจัดซื้อใน 2 โครงการ คือ โครงการจัดซื้อรถยนต์โดยสารขนาดใหญ่จำนวน 100 คัน วงเงิน 450 ล้านบาท และโครงการจัดซื้อรถยนต์โดยสารขนาดใหญ่ 12 คัน วงเงิน 54 ล้านบาท ปัจจุบันรอส่งมอบในช่วงกลางปี 64 จำนวน 112 คัน
พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าวอีกว่า 1.สาเหตุที่ต้องดำเนินการเป็น 2 โครงการควบคู่กันไปเพราะวัตถุประสงค์ของโครงการ, แหล่งที่มาของเงินงบประมาณ และรหัสงบประมาณที่แตกต่างกัน โดยโครงการที่จัดซื้อ 100 คัน เป็นการจัดซื้อรถยนต์โดยสารเป็นการเฉพาะเท่านั้น, ส่วนการจัดซื้ออีก 12 คัน เป็นหนึ่งในสิ่งอุปกรณ์ที่อยู่ในโครงการจัดหายุทโธปกรณ์เป็นส่วนรวมของกองทัพบก ซึ่งโครงการจัดหายุทโธปกรณ์เป็นส่วนรวมของ กองทัพบก มีการจัดซื้อสิ่งอุปกรณ์หลายประเภทเช่น รถยนต์นั่ง เครื่องมือสื่อสาร เครื่องมือช่าง และรถโดยสาร 12 คันนี้ด้วย
2.ทบ.ได้จัดทำคุณลักษณะเฉพาะ สิ่งอุปกรณ์ หรือเสปคของรถยนต์โดยสารขนาดใหญ่ไว้เป็นมาตรฐานกลางแล้ว และเพื่อให้มั่นใจมีข้อมูลครบถ้วนจึงขอรับข้อมูลทางเทคนิคของผลิตภัณฑ์จากผู้ประกอบการจากหลากหลายยี่ห้อ ซึ่งข้อมูลทางเทคนิคที่ได้รับมามีไม่น้อยกว่า 3 ยี่ห้อ ที่ผ่านคุณลักษณะเฉพาะ รวมทั้งนำความต้องการของหน่วยใช้งานมาใช้ในการปรับปรุงและแก้ไขให้ได้คุณลักษณะเฉพาะที่สมบูรณ์ ยืนยันว่าการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะสิ่งอุปกรณ์เป็นไปตามตาม พรบ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ในมาตรา 9 ระบุว่า “ให้หน่วยงานของรัฐ คำนึงถึงคุณภาพ เทคนิคและวัตถุประสงค์ และห้ามมิให้กำหนด คุณลักษณะเฉพาะของพัสดุใกล้เคียง ยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง”
3.ได้สืบราคาจากผู้ประกอบการจำนวน 3 รายที่มีความสนใจ และได้พิจารณาเลือกราคาต่ำที่สุดมากำหนดเป็นราคากลางรวมถึงดำเนินการตรวจสอบและเปรียบเทียบราคาจากหน่วยงานราชการอื่นๆ เพื่อให้ได้ราคากลางที่เหมาะสม และถูกต้องตาม พรบ. การจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ในมาตรา 4 ราคากลาง (4) เรื่องราคาที่ได้มาจากการสืบราคาจากท้องตลาด 4.การกำหนดให้มีศูนย์บริการไว้ในร่างขอบเขตของงาน (TOR) กองทัพภาคละ10 แห่ง เพื่อประโยชน์ของทางราชการ ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ และ สอดคล้องกับการแบ่งมอบความรับผิดชอบของหน่วยระดับมณฑลทหารบก การมีศูนย์บริการจะเป็นการประกันความสำเร็จในการปรณนิบัติบำรุงและการใช้งาน
พล.ต.อภิชาติ ปัตตะนุ เจ้ากรมการขนส่งทหารบก กล่าวว่า เมื่อการจัดซื้ออยู่ละแผนงาน และโครงการอยู่คนละที่กัน ทำให้งบประมาณก็แตกต่างกัน มันเดินคนละเส้นทาง โดยยืนยันว่า ไม่ใช่เป็นการซอยโครงการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ และไม่ได้เอื้อให้เอกชนรายใด เปิดกว้างให้ใช้การประมูลแบบอีบิ้ดดิ้ง ส่วนเอกสาร ขส.ทบ.มักหลุดบ่อยนั้น ตนก็ไม่รู้เหมือนกัน
ขณะที่ พ.ต.หญิง ปวีณา ศรีบัวชุม ผู้ช่วยโฆษก ทบ.กล่าวว่า สำหรับการจัดหากล้องตรวจการณ์เวลากลางคืน, บุคคล (แบบตาเดียว) แบบ 2 นั้น ทบ.จัดหามาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) จำนวน 3 สัญญา และในปีงบประมาณ 2563 ได้มีการจัดหากล้องฯ ดังกล่าวอีกจำนวน 64 ชุด โดยดำเนินกรรมวิธีจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง เพราะหน่วยทหารราบและหน่วยรบพิเศษมีความจำเป็นต้องใช้กล้องดังกล่าว ในภารกิจลาดตระเวนและเฝ้าตรวจในเวลากลางคืน โดยเฉพาะหน่วยที่ปฏิบัติภารกิจป้องกันประเทศตามแนวชายแดน ตลอดจนการเฝ้าตรวจและค้นหาการลักลอบขนยาเสพติด และการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ทำให้ ทบ.มีความต้องการใช้งานกล้องที่มีประสิทธิภาพสูง โดยกล้องที่ ทบ.คัดเลือกเป็นกล้องที่ใช้หลอดภาพ (ขาว-ดำ) ยี่ห้อ Photonis รุ่น XR5 ผลิตจากประเทศฝรั่งเศส มีความคมชัดมากกว่ากล้องตรวจการณ์กลางคืนที่แจกจ่ายให้หน่วยทั่วไป คือมีจำนวน Linepair หรือความละเอียดของภาพสูงกว่า ซึ่งมีระบบลดอัตราการขยายแสงแบบอัตโนมัติ (Auto Gating) ซึ่งจะไม่ตัดการทำงานเมื่อมีแสงจ้า
พ.ต.หญิง ปวีณากล่าวอีกว่า ส่วนระบุว่าจัดซื้อมีราคาเท่าปีงบประมาณ 2561 และ 2562 นั้น เนื่องจากเป็นราคาที่ได้จากการดำเนินกรรมวิธีจัดหาครั้งสุดท้ายและเมื่อสืบราคาจากผู้ประกอบการแล้ว มีราคาไม่ต่ำกว่าราคาจัดหาครั้งสุดท้าย จึงได้กำหนดเอาราคาจัดหาครั้งสุดท้ายเป็นราคากลางใน ปีงบประมาณ 2563 ส่วนเหตุผลที่กองทัพบกเปลี่ยนวิธีการจัดหาจากวิธี e-Bidding เป็นวิธีเฉพาะเจาะจง เนื่องจากหน่วยใช้ (นสศ.) ได้ยืนยันความต้องการกล้องแบบรุ่นเดิมที่ใช้หลอดภาพ (ขาว-ดำ) ยี่ห้อ Photonis รุ่น XR5 ซึ่งหน่วยเคยได้รับการแจกจ่ายมาแล้ว 3 ครั้ง ทำให้ง่ายต่อการปรนนิบัติบำรุงและการส่งกำลัง อีกทั้ง กำลังพลของหน่วยใช้ ได้รับการฝึกและใช้จนเกิดความชำนาญแล้ว ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า มีผู้แทนจำหน่ายที่ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัทผู้ผลิตเพียงรายเดียวในประเทศไทย