รีเซต

วัดฝีมือ 'ครูเหน่ง' ห้องเรียนยุคโควิด 'เปิดปุ๊บ-ติดปั๊บ'

วัดฝีมือ 'ครูเหน่ง' ห้องเรียนยุคโควิด 'เปิดปุ๊บ-ติดปั๊บ'
มติชน
23 มิถุนายน 2564 ( 06:58 )
72
วัดฝีมือ 'ครูเหน่ง' ห้องเรียนยุคโควิด 'เปิดปุ๊บ-ติดปั๊บ'

 

เปิดเทอมไปแล้วกว่า 10 วัน ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะเบาบางลง… แน่นอนว่า หลังเปิดเทอมได้ไม่ถึงสัปดาห์ พบนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาติดเชื้อโควิด-19 ในหลายจังหวัด

 

 

ล่าสุด โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ประกาศปิดสถานที่ทำการชั่วคราว เนื่องจากพบครูซึ่งมาปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียนติดโควิด-19

 

 

ทั้งนี้ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดช่องให้โรงเรียนแต่ละแห่งจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละแห่ง โดยไม่กำหนดรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เพื่อให้ทุกโรงเรียนจัดการเรียนการสอนเหมือนกันทั้งหมด ต่างกับปี 2563 ที่เจ้ากระทรวงสั่งการให้เรียนออนไลน์ 100% เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาด…

 

 

โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้วิเคราะห์ และกำหนดรูปแบบการเรียนการสอน 5 รูปแบบ คือ 1.On-site เรียนที่โรงเรียน โดยมีมาตรการเฝ้าระวังตามประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) จังหวัด 2.On-air เรียนผ่านมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ DLTV 3.On-demand เรียนผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ 4.On-line เรียนผ่านอินเตอร์เน็ต และ 5.On-hand เรียนที่บ้านด้วยเอกสาร เช่น หนังสือ แบบฝึกหัดใบงาน ในรูปแบบผสมผสาน หรืออาจใช้วิธีอื่นๆ เช่น วิทยุ เป็นต้น

 

 

คำถามคือ หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ หน่วยงานหลักอย่าง ศธ.จะปรับแผนการจัดการเรียนการสอนหรือไม่ โดยเฉพาะโรงเรียนที่ตัดสินใจเปิดสอนในสถานศึกษา ปัจจัยหลัก เพราะอุปกรณ์การเรียนการสอนช่องทางอื่นที่ไม่พร้อม!!

 

 

ศ.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา วิเคราะห์ทางออกของสถานการณ์นี้ไว้น่าสนใจว่า การเปิดเทอมเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน โดยให้แต่ละโรงเรียนจัดการเรียนการสอน โดยยึดอยู่กับความพร้อมของแต่ละแห่ง และให้สอดคล้องกับสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในแต่ละพื้นที่ จะทำให้การเรียนรู้ในช่วงวิกฤตเป็นไปอย่างดียิ่งขึ้น แต่การเปิดช่องทางการเรียนที่หลากหลาย อาจจะยังไม่เพียงพอ ศธ.ต้องเตรียมมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไว้ด้วย เพราะหากให้เด็ก ครู ผู้ปกครองเข้ามาในโรงเรียน แน่นอนว่าการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ต้องตามมาแน่นอน

 

 

เข้าใจว่าบางโรงเรียนจำเป็นต้องปิดเพื่อลดความเสี่ยง แต่หากให้เรียนออนไลน์ 100% ก็จะเกิดภาวะถดถอยทางการศึกษาเหมือนที่ผ่านมา ดังนั้น การเตรียมมาตรการป้องกัน จึงเป็นเรื่องสำคัญ ศธ.ต้องเร่งดำเนินการ ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในการกำหนดมาตรการหาทางออก ไม่ให้เกิดคลัสเตอร์โรงเรียน เอาให้ชัดเจน จำลองโมเดล กรณีมีเด็ก หรือครู ติดเชื้อโควิด-19 จะดำเนินการอย่างไร และรุนแรงระดับใด จำเป็นต้องปิดเรียน เป็นการเรียนรู้ในรูปแบบที่ไม่ตายตัว สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ ศธ. กำลังไล่ตามปัญหา ไม่ได้มองไปข้างหน้า ศ.สมพงษ์กล่าว ขณะที่ความไม่พร้อมด้านต่างๆ มีหลายปัจจัยหลัก ที่ต้องคำนึงถึง…

 

 

นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ระบุว่า ความไม่พร้อมสำหรับการเรียน มีอย่างน้อย 7 เรื่องที่ต้องคำนึงถึง คือ 1.อุปกรณ์การเรียนการสอนไม่พร้อม และขาดแคลน ทั้งระดับสถานศึกษา ครูผู้สอน ผู้เรียน และผู้ปกครอง 2.เทคนิคการสอนแบบ On-line, On- air, On-demand ซึ่งครูยังทำเหมือนสอนในห้องเรียน ซึ่งอาจไม่ใช่วิธีที่ถูก 3.ผู้ปกครองไม่พร้อมดูแลบุตรหลานในการเรียนออนไลน์ เพราะต้องทำงานนอกบ้าน โดยระดับอนุบาล หรือประถมศึกษา จะเป็นภาระและความกังวลของผู้ปกครองอย่างมาก

 

 

4.การจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะผู้เรียนบางอย่าง ไม่สามารถทำได้เต็มที่ด้วยการเรียนระบบออนไลน์ 5.การประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนแบบองค์รวม ด้วยระบบ On-line, On-air หรือ On-demand ทำได้ยาก เพราะครูอาจจะเน้นแต่วิชาที่ตนเองรับผิดชอบ 6.การปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ทัศนคติต่างๆ ที่ดี มีเหตุผล ครูจะต้องเป็นต้นแบบพฤติกรรมให้ผู้เรียนเห็น ซึ่งการสอนแบบ On-line, On-air หรือ On-demand ไม่สามารถทำได้เต็มที่ และ 7.ผู้เรียนระดับมัธยม หรือประถมปลาย หากขาดทัศนคติ หรือแนวทางนำตนเองในการเรียนรู้ Self-Directed Learner หรือ SDL จะไม่สนใจการเรียนรู้ด้วยตนเอง

 

 

ดังนั้น ทางแก้ปัญหาคือ ต้องเร่งให้ผู้เรียนมีโอกาสพบครูมากที่สุด เสี่ยงน้อยที่สุดจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ครูต้องได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก 100% ทั้งโรงเรียนของรัฐและเอกชน ลดความหนาแน่นจำนวนนักเรียนในโรงเรียน ให้แต่ละระดับสลับมาเรียน แต่ต้องจัดให้ระดับอนุบาล และประถม มาให้มากที่สุด ที่สำคัญทุกคนต้องเข้มงวดปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยของ สธ.อย่างเคร่งครัด ถือเป็นงานหินต่อเนื่องที่ ศธ.ต้องเร่งแก้ไข ทั้งมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และการพัฒนาการเรียนการสอนในช่วงสถานการณ์วิกฤต ที่ดูทีท่าไม่หายไปง่ายๆ แน่นอน

 

 

ต้องจับตามดูว่า ครูเหน่ง ตรีนุช เทียนทอง ในฐานะเสมา 1 จะปรับแผน แก้ปัญหานี้อย่างไร!?

ข่าวที่เกี่ยวข้อง