เวลานี้สถานการณ์ โควิด-19 ในบ้านเราค่อยหายใจหายคอขึ้นมาได้บ้าง เมื่อจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศน้อยลงทุกวัน มาตรการหลายอย่างเริ่มผ่อนปรนเข้าสู่โหมด ฟื้นฟู ในขณะเดียวกันเพื่อนบ้านของเราอย่าง สิงคโปร์ จากเดิมที่ดีขึ้นตามลำดับ เวลานี้กลับมาระบาดในระยะที่ 2 ตัวเลขผู้ติดเชื้อกลับมาพุ่งแบบไม่หยุด มียอดสะสมรวม 35,292 คน* แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อ นั่นคือวิธีการช่วยเหลือธุรกิจในประเทศที่น่าสนใจเป็นกรณีศึกษาอย่าง Fintech เห็นเป็นศัพท์ธุรกิจแบบนี้ไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นเรื่องยาก ชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่าฟิน จึงขอไปทำความรู้จัก Fintech กันแบบ ฟิน ฟิน เข้าใจง่ายได้ความรู้กันเช่นเคย *ข้อมูลอัปเดต 1 มิถุนายน 2563 จาก ศูนย์ข้อมูลโควิดแห่งชาติสิงคโปร์ : co.vid19.sg ลำดับแรกต้องเข้าใจความหมายกันก่อน เกือบพาผู้อ่านออกทะเลกันแล้วเพราะคำว่า Fintech นี่ไม่ใช่ฟินที่หมายถึงความสุข แต่มาจากคำว่า Financial กับ Technology มารวมกันเป็นความหมายแบบตรงตัวนั่นคือ เทคโนโลยีทางการเงิน ไม่ใช่เรื่องใหม่นะเพราะมันอยู่รอบตัวเรามานานแล้วเช่นกดโอนเงินผ่านโทรศัพท์ E-Banking , กดจ่ายเงินเซเว่นผ่าน Wallet , กดเงินจากตู้ ATM หรือแม้แต่เติมเงินโทรศัพท์มือถือก็นับว่าเป็น Fintech เช่นกัน มีวิธีจำง่าย ๆ ว่าคำนี้เป็นคำจำกัดความของการเคลื่อนไหวของเงินจากแหล่งหนึ่ง ไปอีกแหล่งหนึ่งผ่านเทคโนโลยีที่สะดวกสบาย และรวดเร็ว ในสิงคโปร์มีการใช้ Fintech กันมานานแล้ว ใครไปเที่ยวสิงคโปร์คงจะคุ้นเคยกับเครื่องสแกนจ่ายเงินแค่เอาโทรศัพท์หรือบัตรเครดิตมาแตะ มีงานวิจัยจาก frost.com องค์กรด้านธุรกิจชื่อดังระดับโลกคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ.2022 ประเทศสิงคโปร์จะมีการใช้จ่ายแบบไม่ใช้เงินสดถึง 82 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ประเทศไทยของเราอยู่ที่ 17 เปอร์เซ็นต์** จึงเป็นคำตอบว่าทำไม Fintech จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของสิงคโปร์ และมีการดูแลโดยธนาคารกลาง หรือที่เรียกกันว่า MAS (The Monetary Authority of Singapore) ถ้าเป็นบ้านเราเทียบได้กับ ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ดูแลธุรกิจการเงินแบบออนไลน์ในภาพรวมทั้งหมด **อ้างอิงข้อมูลจาก frost.com : ww2.frost.com ธุรกิจเหล่านี้ไม่ได้มีแต่บริษัทยักษ์ใหญ่ แต่ยังมีธุรกิจที่เกี่ยวกับ Fintech เกิดใหม่มากมายในสิงคโปร์หรือที่เรียกกันว่า Startup ซึ่งทางรัฐบาลสิงคโปร์ได้มีมาตรการช่วยเหลือให้กับกิจการที่มีพนักงานไม่เกิน 200 คน และขึ้นทะเบียนจัดตั้งบริษัทเป็นเวลา 3 เดือนขึ้นไป มาตรการหลายอย่างที่ดูแล้วต้องบอกว่าน่าสนใจ เริ่มจากทุ่มเงินก้อนแรก 125 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือคิดเป็นเงินไทยตัวเลขกลม ๆ 2,800 ล้านบาท และล่าสุดเพิ่มเติมเข้าไปอีก 6 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (135 ล้านบาท) เพื่อช่วยเหลือในภาพรวมทั้งระบบ แต่สิ่งที่ดูจะน่าสนใจคือการตั้ง Training Allowance Grant (TAG) เป็นศูนย์ฝึกอบรบแห่งชาติ เวลาที่ธุรกิจปิดกิจการชั่วคราว พนักงานจากที่ต้องกักตัวอยู่บ้านเฉย ๆ เค้ามีคอร์สฝึกอบรมออนไลน์กว่า 400 คอร์สให้เลือกเรียน เพื่อพัฒนาทักษะความรู้ของพนักงาน โดยทางรัฐบาลทั้งเปิดการอบรมแบบออนไลน์ และสนับสนุนเม็ดเงินให้บริษัทนำไปพัฒนาพนักงานที่ต้องกักตัวอยู่กับบ้านให้มีความรู้เพิ่มขึ้น เมื่อกิจการกลับมาเปิดอีกครั้งพนักงานเหล่านี้จะมีทักษะความสามารถเพิ่ม เป็นการใช้ประโยชน์จากเวลาว่างที่คุ้มค่ามาก มาถึงมาตรการนี้จัดว่าเด็ด! ทางรัฐบาลสนับสนุนด้านเงินเดือนค่าฝึกงาน ให้กับนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่จบใหม่เพื่อแก้ปัญหาการว่างงาน แต่ก็ไม่ใช่ว่าใครจะมาทำงานที่บริษัทรัฐบาลจ่ายให้หมดนะ นักศึกษาจบใหม่จะต้องผ่านการทดสอบผ่านมาตรฐานเสียก่อนว่ามีความสามารถจริง รัฐบาลถึงจะให้เงินสนับสนุนช่วยเหลือ 1,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือ 22,500 บาท และรัฐบาลรับรองว่าเป็นตำแหน่งงานที่จำเป็นกับบริษัท ไม่สามารถมั่วนิ่มเอาใครก็ได้มากินเงินเดือนฟรี ๆ ถ้าทำแบบนี้ในสิงคโปร์ถือว่าโทษหนักมากเพราถือเป็นการโกงเงินรัฐ ไม่มีใครคิดจะเสี่ยงแน่นอน นอกจากนั้นในส่วนอื่น ๆ เป็นในรูปแบบเงินกู้ทั่วไปแบบบ้านเรา รวมถึงมีการกระตุ้นตลาด Fintech ให้คึกคัก เช่นฟรีค่าธรรมเนียมการใช้จ่าย หรือลุ้นแลกแจกของรางวัล สิ่งที่ได้กลับมาสู่ธุรกิจในภาพรวมก็คือเม็ดเงินมหาศาล ที่ไหลเวียนไปทุกธุรกิจผ่านการใช้จ่ายออนไลน์โดยอัตโนมัติ เหมือนประโยคโฆษณาที่คุ้นหูในอดีตว่าเงินกำลังจะหมุนไป กำลังจะหมุนไป ให้ชุมชน... ใครร้องตามได้สารภาพอายุมาซะดี ๆ ตัดกลับมาที่บ้านเรา Fintech ในช่วงของโควิด-19 ที่ผ่านมาเกิดการเติบโตที่สูงมาก ผ่านธุรกิจออนไลน์ประเภทต่าง ๆ เช่นสินค้าทั่วไป , ธุรกิจส่งอาหาร เราคุ้นเคยกับการใช้แอปพลิเคชัน Wallet ชำระค่าสินค้าในร้านสะดวกซื้อ หรือกดจ่ายบิลในแอป ได้ดูนโยบายของทางสิงคโปร์แล้ว หลายอย่างน่าสนใจ และสามารถนำมาใช้กับธุรกิจ Fintech ในประเทศไทยได้ เรามีสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานอยู่แล้ว สามารถให้เด็กจบใหม่อบรมหลักสูตรได้ใบรับรอง และสนับสนุนเงินเดือนเป็นการช่วยเหลือนักศึกษาจบใหม่ตกงาน และลดภาระการจ้างงานของธุรกิจ เรียกว่าได้รับประโยชน์ไปพร้อมกันทุกฝ่าย คนมีกำลังซื้อทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง สุดท้ายแล้วต้องไม่ลืมที่จะปฏิบัติตัวตามมาตรการป้องกัน โควิด-19 กันต่อไป ตามคำที่ว่า การ์ดอย่าตก เพราะเราจะเดินหน้าต่อไปไม่ได้เลยหากการระบาดกลับมาซ้ำอีกครั้ง หากพวกเราช่วยกันทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงแบบน่าชื่นใจ โอกาสที่จะได้กลับมาใช้ชีวิตแบบเดิมเป็นปกติสุข ได้ไปเที่ยว ได้กลับบ้านเกิดต่างจังหวัด คงดีกว่าการต้องกลับไปล็อคดาวน์แน่นอน อาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่เชื้อโรคกลัวที่สุดคือความร่วมมือร่วมใจของพวกเราทุกคนนี่เอง หากบทความนี้เป็นประโยชน์สามารถสามารถแชร์ให้เพื่อน ๆ ของเราผ่านสื่อออนไลน์ได้ทุกช่องทาง ขอให้ทุกคนผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ด้วยดีทุกคน และมาติดตามเรื่องราวดี ๆ แบบนี้กันใหม่ครับ... เนื้อหาในบทความ อ้างอิงข้อมูลจาก MAS Singapore : www.mas.gov.sg , www.mas.gov.sg/news ภาพประกอบจาก unsplash ภาพหน้าปก / ภาพที่ 1 / ภาพที่ 2 / ภาพที่ 3 / ภาพที่ 4