"การยอมรับความจริง" คำที่ฟังดูเหมือนง่าย แต่สำหรับใครหลายๆคน คำนี้อาจจะดูยาก และดูเป็นเรื่องไกลตัว เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น...... ในแต่ละวัน เราใช้ชีวิตไปแบบเรื่อยๆ ตื่นเช้า ไปเรียน ไปทำงาน กลับมากินข้าว พักผ่อน นอน บางคนช่วงเวลาของการพักผ่อนยังไม่มีเลย การใช้ชีวิตของเราวนเวียนแบบนี้ไปเรื่อยๆ เมื่อไหร่ก็ตามที่มีปัญหาระหว่างทาง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเรียน ปัญหาการทำงาน ปัญหากับคนรอบตัว รวมถึงปัญหากับสุขภาพของตนเอง เมื่อเกิดปัญหาขึ้น เราก็มักจะจัดการไปแบบที่เราคุ้นชิน เช่น บางคนถนัดที่จะไม่สนใจ ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้น จะอยู่เหนือปัญหา ไม่แตะปัญหา ปล่อยมันไป ชั้นไม่สนใจ บางคนถนัดที่จะจมกับปัญหาและตั้งคำถาม เช่น ทำไมมันต้องเกิดขึ้น ทำไมต้องเกิดขึ้นกับชั้น ทำไมๆ ๆ ๆ ๆๆ ๆ แต่เรามักจะไปไม่ถึงคำว่า "ยอมรับความจริง" น้อยคนนักที่จะยอมรับกับปัญหาได้ตั้งแต่ต้น สาเหตุเป็นเพราะอะไร เนื่องจากกลไกทางจิตใจของคนเราจะมีการทำงานไปเป็นขั้นตอน เพื่อปกป้องใจของตนเองไม่ให้เจ็บหรือบอบช้ำเกินไป เป็นขั้นๆ ดังนี้1. ช่วงแรกของการก้าวผ่านการสูญเสียนั้น ส่วนใหญ่มักจะปฏิเสธก่อน (Denial) ระยะนี้มักจะเป็นในช่วงแรกๆที่เกิดเหตุการณ์ คือเราจะพยายามปฏิเสธซะก่อนว่าไม่ใช่ ไม่ได้ทำ ไม่จริง การปฏิเสธนี้ เหมือนเป็นการปัดปัญหาไปในทันที แต่จะทำให้แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะไม่ได้รับปัญหานั้นมาตั้งแต่ต้น2. ระยะถัดมาจะมีอารมณ์โกรธ (Anger) ระยะนี้เรามักจะเริ่มโทษ โทษคนอื่น โทษสิ่งแวดล้อม เพราะแบบนั้นแบบนี้ เพราะคนนั้นคนนี้ถึงทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ไม่พอใจ หงุดหงิด บางคนอาจถึงขั้นไปด่า ไปทำร้ายคนอื่นเลยก็มี ความโกรธที่เกิดขึ้นนี้ บางครั้งอาจจะเป็นการระบายความรู้สึกผิดที่เกิดขึ้นในใจ เป็นการโยกย้ายพลังงานความเจ็บปวดรูปแบบหนึ่ง3. ระยะถัดมาเริ่มที่จะต่อรองต่อเหตุการณ์นั้น (Bargaining) มันอาจจะไม่เลวร้ายแบบนั้นมั้ง อาจจะไม่รุนแรงมั้ง การต่อรองนี้ทำเพื่ออยากให้ตนเองรู้สึกดีขึ้น โดยการลดขนาดของปัญหาลง จากที่มันเป็นเรื่องใหญ่ พยายามคิดว่าเป็นเรื่องเล็กลง4. ระยะซึมเศร้า (Depression) ซึ่งไม่ได้หมายถึงโรคซึมเศร้า แต่เป็นอาการเศร้าที่เกิดขึ้นปกติ ถึงแม้จะพยายามโกรธ พยายามต่อรองไปแล้ว แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมันยังมีอยู่ เริ่มเผชิญกับปัญหาจริงๆ ที่อยู่ตรงหน้า หากเรายังจัดการปัญหาไม่ได้ จะรู้สึกถึงอารมณ์ซึมเศร้า ผิดหวัง หรือสิ้นหวัง บางคนอาจจะแสดงออกทางร่างกายเช่น เหนื่อยล้า รู้สึกหมดพลัง เป็นต้น5. ระยะสุดท้าย คือระยะของการยอมรับ (Acceptance) เมื่อไหร่ก็ตามที่เรามาถึงจุดนี้ได้ จะเป็นจุดที่เราเริ่มต้นจัดการกับปัญหาอย่างแท้จริง เพราะเราจะยอมรับปัญหาหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา ยอมรับกับการสูญเสีย หรือผิดหวังได้ตามความเป็นจริง และจะมาถึงจุดที่เกิดการเปลี่ยนแปลง ว่าเราจะจัดการอย่างไรต่อไปการยอมรับความจริงสำหรับใครบางคนอาจจะเป็นเรื่องที่ยาก เพราะรู้สึกเจ็บปวด รู้สึกว่าเหมือนโดนต่อไป ต้องยอมรับว่าฉันผิด ฉันแย่ ฉันพลาด จึงเป็นกำแพงสำคัญที่ทำให้เราไม่กล้าพอที่จะยอมรับความจริง แต่หากเราเลือกที่จะไม่ยอมรับความจริง กลไกทางจิตใจที่พยายามต่อสู้หรือปกป้องต่อการเจ็บปวดก็จะพยายามหาหรือทำอะไรบางอย่างเพื่อลดความรู้สึกผิด รู้สึกแย่ รู้สึกพลาด (ที่รู้อยู่แก่ใจ) นั้น และส่วนใหญ่ มันจะทำให้เจ้าตัวรู้สึกดีขึ้น แต่ก็อาจจะกำลังสร้างปัญหาอื่นให้ตามมา เช่น เราทำงานบางอย่างผิดพลาด ส่งผลให้ถูกปฏิเสธงาน ระยะแรกเราอาจจะปฏิเสธว่า มันไม่ผิดนะ ใช่เหรอ แต่เจ้านายก็ปฏิเสธงานมา ก็อาจจะเริ่มโกรธ โกรธหัวหน้าทำไมตัดสินใจแบบนั้น อาจจะเริ่มพาลโกรธคนอื่นไปด้วย เช่น ถ้าเพื่อนร่วมงานไม่ชวนคุยฉันคงทำงานได้ดีกว่านี้แน่ ผ่านไปก็อาจจะเริ่มต่อรองว่า เดี๋ยวหัวหน้าก็อาจจะเปลี่ยนใจมั้ง รอซักระยะก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ก็เริ่มเศร้า เบื่อหน่ายท้อแท้ ไม่อยากทำอะไร ปัญหาจะเกิดตอนไหนเหรอ ก็เกิดได้ทุกระยะเลย หากเราปฏิเสธตั้งแต่ต้น และใช้วิธีการโกหก ก็อาจจะต้องโกหกต่อไปเรื่อยๆ และหลายครั้ง มันไม่เนียน ..... หากเกิดอารมณ์โกรธ แล้วควบคุมไม่ได้ ก็อาจจะแสดงพฤติกรรมหรืออารมณ์ที่ไม่เหมาะสมออกไป ทำให้คนอื่นยิ่งรู้สึกกับเราไม่ดี หรือการพาลโกรธคนอื่น ทำให้ความสัมพันธ์กับคนอื่นแย่ลงไปอีก เป็นต้น แต่ในทางกลับกัน ถ้าเราเลือกที่จะยอมรับ(ผิด) ตั้งแต่ต้น กลไกทางจิตใจยังมีเหมือนเดิมนะคะ แต่แต่ละขั้นตอนมันจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว และเป็นเหตุเป็นผล ใจจะไม่กระสับกระส่าย เพื่อที่จะหาวิธีแก้ตัว ใจก็จะสงบได้เร็วค่ะ และที่สำคัญเราจะคิดแก้ปัญหาได้อย่างตรงไปตรงมา และปัญหาที่เกิดขึ้น ก็จะได้รับการแก้ไขอย่างตรงไปตรงมาและุถูกต้องทันที เพราะฉะนั้น ยอมรับความจริงซะเถอะค่ะ มันเจ็บไม่มากหรอกค่ะ และเดี๋ยวมันก็จะผ่านไป และผ่านไปได้อย่างดีด้วยค่ะ รูปภาพทั้งหมด By psychiartistเปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !