รีเซต

บัวแก้วจับมือภาคเอกชนฟื้นศก. ดัน'การทูตเศรษฐกิจ'หลังโควิด ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

บัวแก้วจับมือภาคเอกชนฟื้นศก. ดัน'การทูตเศรษฐกิจ'หลังโควิด ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
มติชน
13 กรกฎาคม 2563 ( 05:04 )
96
บัวแก้วจับมือภาคเอกชนฟื้นศก. ดัน'การทูตเศรษฐกิจ'หลังโควิด ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

สถานการณ์โควิค-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมทุกภาคส่วนของไทย รวมถึงประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งถือเป็นพื้นที่รอบบ้านของไทยที่มีความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดในทุกมิติ โดยเฉพาะภาคธุรกิจของไทยไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่ หรือธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อม ที่ได้เข้าไปค้าขายลงทุนและกำลังได้รับผลกระทบเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ด้วยเล็งเห็นความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องผนึกกำลังกันฟันฝ่าอุปสรรคครั้งสำคัญ และเมื่อรัฐบาลมีเริ่มผ่อนปรนมาตรการเพื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินต่อไปได้ เมื่อต้นเดือนกรกรฎาคมที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศได้จัดการหารือร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน และหน่วยงานพันธมิตร ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (NEDA) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า (EXIM Bank) เพื่อกำหนดทิศทางการทูตเชิงเศรษฐกิจกับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในยุคหลังโควิด-19

นางบุษยา มาทแล็ง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นประธานการประชุมเพื่อระดมสมองและร่วมร่วมกันกำหนดทิศทางการทูตเชิงเศรษฐกิจกับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของอนุภูมิภาคต่อเศรษฐกิจไทย และยังแสดงความห่วงใยผลกระทบจากโควิด-19 ในอนุภูมิภาคที่มีต่อการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การประกอบธุรกิจของไทย ตลอดจนผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจ โดยเฉพาะการค้าและการท่องเที่ยวชายแดน

ขณะที่ผู้แทนของสมาคมภาคเอกชนก็ให้ความเห็นและข้อสังเกตที่น่าสนใจ โดย นายนิยม ไวยรัชพานิช รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้สนับสนุนให้เร่งเปิดการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนในยุคหลังโควิด-19 และการทำงานร่วมกันของ “ทีมประเทศไทยและสภาธุรกิจไทย” ภายใต้การนำของเอกอัครราชทูตไทยในประเทศเพื่อนบ้าน

ด้าน นายไพรัช บูรพชัยศรี รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และ นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย ผลักดันประเด็นการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการทำธุรกิจ การส่งเสริมการใช้เงินตราสกุลท้องถิ่น และการใช้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy หรือแอคเมคส์) เป็นกลไกในการดำเนินการ

ส่วน นายปณิธาน ปวโรฬารวิทยา กรรมการบริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้นำเสนอแนวคิดการ re-branding ประเทศไทยให้เป็นสังคมที่สะอาด (Hygienic Society) และมีมาตรฐาน เพื่อต่อยอดจากความสำเร็จและความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขและการแพทย์ไทยในการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ภายในประเทศ และควรพัฒนาต่อยอดไปในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ การพัฒนาอุปกรณ์การแพทย์ การพัฒนาห้องปฏิบัติการ (test lab) เพื่อตรวจสอบมาตรฐานสินค้าให้แก่กลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน

ทั้งหมดนี้ได้รับการตอบรับจากหน่วยงานผู้เข้าร่วมการหารือเป็นอย่างดี และยังสอดคล้องกับแนวคิด ‘3-Re’ เพื่อการฟื้นตัวหลังยุคโควิด-19 ของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วย “Re-start” หรือการเริ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยและของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง “Re-boot” หรือการเริ่มประกอบธุรกิจการค้าและการลงทุนในสภาวะ new normal เพื่อเร่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และ “Re-connect” หรือการเชื่อมต่อเศรษฐกิจไทยกับอนุภูมิภาคและตลาดโลกเพื่อให้ฟื้นตัวและเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

ผู้ร่วมการหารือได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับโอกาสและความท้าทายที่ไทยกำลังประสบอันเกิดจากโควิด-19 และเห็นควรดำเนินมาตรการต่าง ๆ ทั้งมาตรการระยะสั้น อาทิ การค้าชายแดน การฟื้นฟูและเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ การเสริมสร้างสภาพคล่องให้เอกชน การฟื้นฟูการท่องเที่ยว และมาตรการระยะยาว อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล e-commerce การใช้สกุลเงินท้องถิ่น การต่อยอดจุดแข็งด้านการแพทย์และสาธารณสุข ตลอดจนการเร่งพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) และระเบียงเศรษฐกิจทางตอนใต้ (Southern Economic Corridor) ที่มีโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นศูนย์กลาง ซึ่งโครงการโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีขณะนี้ก็มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสนามบินอู่ตะเภาหรือรถไฟเชื่อมสามสนามบิน

เพื่อให้การขับเคลื่อนการทำงานการทูตเชิงเศรษฐกิจมีความต่อเนื่อง ผู้เข้าร่วมหารือต่างสนับสนุนให้มีกลไกการทำงานที่บูรณาการระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนนโยบายการทูตเชิงเศรษฐกิจของไทยในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงร่วมกันในสภาวะ new normal ซึ่งคณะทำงานนี้จะมุ่งแปลงผลการหารือให้ออกมาเป็นมาตรการที่เป็นรูปธรรมและมีการติดตามผลต่อไป

หน่วยงานที่เข้าร่วมการหารือในครั้งนี้ต่างเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันดำเนินมาตรการต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดต่อไป โดยกลไกการทำงานเพื่อขับเคลื่อนนโยบายการทูตเชิงเศรษฐกิจของไทยในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่จะตั้งขึ้นนี้ มีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เป็นแกนกลางในการประสานงานเพื่อดำเนินการทูตเชิงเศรษฐกิจกับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

นอกจากนี้ยังเน้นส่งเสริมการประกอบการของภาคเอกชนไทย การค้าการลงทุนชายแดน การเชื่อมโยงโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน ให้ไทยและประเทศเพื่อนบ้านสามารถฟื้นตัวได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน เพื่อเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

ถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นความร่วมมือเชิงบูรณาการอย่างจริงจังในยุค new normal ตามแนวทางการทำงาน “รวมไทยสร้างชาติ” ของรัฐบาล ที่ต้องการให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมในการขับเคลื่อนประเทศไปพร้อม ๆ กันเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19

ข่าวที่เกี่ยวข้อง