พื้นหลังภาพปกบทความจาก JOSHUA COLEMAN on Unsplashถ้าจะพูดถึงวิชาหลักวิชาหนึ่งที่มีการเรียนการสอนกันในคณะเภสัชศาสตร์ แต่ก็ถือว่าเป็นวิชาพื้นฐานที่นิสิตนักศึกษาตัวน้อยว่าที่เภสัชกรทั้งหลายจะต้องเรียนรู้ให้เข้าใจเพื่อนำไปใช้ประยุกต์ต่อยอดกับวิชาอื่น ๆ ก็คือวิชา “เภสัชวิทยา (Pharmacology)” เนี่ยแหละ ซึ่งพวกเราเหล่าเภสัชกรจะเรียกวิชานี้สั้น ๆ แบบติดปากว่า “ฟาร์มาโค”เภสัชวิทยา เรียนเกี่ยวกับอะไร ?ถ้าแปลตามตรงจากชื่อก็จะแปลได้กว้าง ๆ ว่า วิชาที่เรียนเกี่ยวกับเรื่องยา แต่จริง ๆ แล้ววิชานี้ก็ไม่ได้หมายถึงทุกอย่างที่เกี่ยวกับเรื่องยาไปเสียทั้งหมด เภสัชวิทยาจะเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องยาในรายละเอียดหลัก ๆ สองอย่างด้วยกัน ได้แก่1) เรียนเกี่ยวกับเรื่องที่ว่า เมื่อยาเข้าไปสู่ร่างกายเราไปแล้ว ร่างกายเราทำอะไรกับยาตัวนั้นบ้าง เราจะเรียกหัวข้อย่อยนี้ว่า เภสัชจลนศาสตร์ หรือ Pharmacokinetics 2) เรียนเกี่ยวกับเรื่องที่ว่า เมื่อยาเข้าสู่ร่างกายเราไปแล้ว ยาจะเข้ามาทำอะไรกับร่างกายของเรา หรือก็คือเรื่องการออกฤทธิ์ของยานั่นเอง เราจะเรียกหัวข้อย่อยที่สองนี้ว่า เภสัชพลศาสตร์ หรือ Pharmacodinamicsภาพจาก freepikถ้าพูดชื่อยาก ๆ หลายคนที่ไม่ได้เรียนมาทางด้านนี้ก็อาจจะงง ดังนั้นเราจะลองเปรียบเทียบภาพให้เห็นแบบง่าย ๆ สมมุติว่าเรากินยาพาราเซตามอลเข้าไป 1 เม็ดตอนที่เรากำลังปวดหัวตัวร้อนเป็นไข้ สิ่งที่นักเรียนเภสัชจะต้องทราบก็คือยาเม็ดกลม ๆ ขาว ๆ นี้เมื่อเรากลืนลงท้องไปแล้วมันจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดผ่านช่องทางไหน ใช้เวลานานเท่าไหร่จึงจะดูดซึมได้หมด เสร็จแล้วมันจะถูกส่งไปที่ตรงไหนบ้างในร่างกายของเรา จะไปทุกเซลล์ในร่างกายเลยไหมหรือว่าจะไปได้แค่บางเนื้อเยื่อ เมื่อไหร่ยาจะเริ่มออกฤทธิ์ แล้วจะออกฤทธิ์ได้นานเท่าไหร่ เมื่อไหร่จะหมดฤทธิ์ เมื่อไหร่จะต้องกินซ้ำอีก และร่างกายจะมีวิธีการจัดการกับยาเม็ดนี้อย่างไร ไปจนถึงขั้นตอนสุดท้ายนั่นก็คือการขับถ่ายยาออกจากร่างกาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้แหละที่เราเรียกว่า เภสัชจลนศาสตร์ หรือ Pharmacokinetics ซึ่งก็คือมุมมองที่ร่างกายกระทำต่อยาเม็ดนั้นขณะเดียวกันหากมองในมุมมองของยาบ้าง ก็คือเราจะต้องรู้ว่ายาพารานี้จัดเป็นยากลุ่มไหน มันออกฤทธิ์แก้ปวดลดไข้ได้อย่างไร หลังจากที่เรากลืนยาลงท้องไปยามันไปเคาะประตูบอกศูนย์ก่อไข้ในร่างกายหรือเปล่าว่าให้รีบลดไข้ได้แล้ว หรือว่ามันใช้วิธีอื่นในการทำให้ไข้ลง แล้วยามีอาการข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์อะไรกับร่างกายหรือไม่ และถ้าหากกินยาพาราเข้าไปสักสิบเม็ดยาจะไปรวมตัวกันแล้วเกิดพิษอะไรกับร่างกายบ้าง สิ่งเหล่านี้นี่แหละที่เราเรียกว่า เภสัชพลศาสตร์ หรือ Pharmacodinamics ซึ่งก็คือการเรียนในมุมมองของยาที่กระทำต่อร่างกายเรานั่นเองภาพจาก freepikซึ่งในการเรียนวิชา เภสัชวิทยา หรือ Pharmacology เราจะต้องเรียนรู้เรื่องราวทั้งเภสัชจลนศาสตร์และเภสัชพลศาสตร์ไปพร้อม ๆ กัน โดยจะเรียนเกี่ยวกับตัวยาทั้งหมดทุกตัวที่เป็นยาแผนปัจจุบันที่มีใช้ในโลกใบนี้ ส่วนยาแผนโบราณหรือยาสมุนไพรก็จะแยกไปเป็นอีกวิชาหนึ่งความรู้ที่ได้ก็จะนำมาสู่ความรู้ความเข้าใจของการใช้ยาในการรักษาโรค ว่าสรุปแล้วที่ยาตัวนี้มันรักษาโรคนี้ได้ เป็นเพราะมันไปออกฤทธิ์แบบนี้นะ นอกจากนี้เรายังจะต้องเรียนอีกด้วยว่า ยาแต่ละตัวสามารถกินพร้อมกันได้หรือไม่ มันจะไปตีกันในร่างกายหรือเปล่า ซึ่งก็เป็นรายละเอียดปลีกย่อยที่จะต้องทำความเข้าใจด้วยเช่นกันภาพจาก freepikหลักการสำคัญในการเรียนเภสัชวิทยา เราจะอาศัยแค่ความเข้าใจหรือการท่องจำเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้เลย เพราะเราจะไม่มีทางเข้าใจการออกฤทธิ์ของยาตัวหนึ่งได้หากเราไม่เคยจำได้เลยว่าตำแหน่งที่ยาไปออกฤทธิ์มีที่ไหนบ้าง หรือเราจะจำเพียงอย่างเดียวโดยไม่เข้าใจอะไรเลยก็ไม่ได้ เพราะมันมียาที่เราต้องเรียนเยอะแยกมากมายเต็มไปหมด ดังนั้นผู้เรียนจึงจะต้องอาศัยทั้งความจำและความรู้ความเข้าใจที่ดีด้วยและที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ในตอนต้นว่า วิชานี้เป็นวิชาพื้นฐาน ก็เนื่องจากหากมองในมุมมองของการรักษาโรคนั้น เราจะเน้นไปที่ว่าจะต้องเลือกยาตัวไหนมาใช้เพื่อให้เหมาะกับการรักษาคนไข้ โดยจะต้องประเมินจากทั้งสภาวะร่างกายและสภาวะโรค ซึ่งหากเรามีความรู้ความเข้าใจใจเภสัชวิทยาอย่างถ่องแท้ ก็จะทำให้เราสามารถเลือกยาได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น รวมถึงสามารถอธิบายให้คำแนะนำเกี่ยวกับยาให้แก่คนไข้ได้และนี่ก็คือเรื่องราวคร่าว ๆ ของวิชาเภสัชวิทยา ค่ะ💊ปล. เนื้อหาในบทความนี้มาจากความรู้ของผู้เขียนที่ได้จากอาจารย์เภสัชฯ สมัยเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ค่ะ