EM ใส่ส้วมหรือห้องน้ำ ช่วยอะไรได้บ้าง จำเป็นไหม | บทความโดย ภัคฒ์ชาลิสา จำปามูล หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า แท้จริงแล้วสิ่งปฏิกูลที่เราขับถ่ายออกมาทุกวันนั้น มีถังเกรอะเป็นส่วนที่รองรับ ที่มักจะฝังอยู่ใต้ดิน ถังเกรอะ คือ ภาชนะที่ออกแบบมาเพื่อรับน้ำเสียจากห้องน้ำและสิ่งปฏิกูลอื่นๆ ค่ะ เพื่อทำการบำบัดเบื้องต้นก่อนปล่อยออกสู่ระบบบำบัดน้ำเสียหลักหรือบ่อซึม โดยหลักการทำงานของถังเกรอะจะอาศัยกระบวนการทางธรรมชาติในการย่อยสลายของเสีย ที่กระบวนการนี้จะช่วยลดปริมาณและความเข้มข้นของสารอินทรีย์ในน้ำเสีย โดยพอเราใช้ห้องน้ำในบ้านของเราไปสักระยะหนึ่ง เราก็จะพบว่ามีเหตุการณ์ส้วมเต็ม ส้วมตัน จริงไหมคะ? จนทำให้หลายคนก็ไปค้นหาวิธีแก้ส้วมเต็ม ที่ก็อาจจะไปพบว่ามีวิธีการหนึ่งที่ผู้คนนำมาแชร์เอาไว้ นั่นก็คือ การเทอีเอ็มใส่ลงไปในส้วม เพื่ออาศัยการทำงานของอีเอ็มไปทำให้สถานการณ์ดังกล่าวดีขึ้น ในขณะที่บาบ้านมีการเติมอีเอ็มเป็นระยะ แต่อีกบ้านก็ไม่ได้ทำอะไร จนทำให้หลายคนก็อาจจะมีคำถามขึ้นอีกว่า แล้วจริงๆ เราต้องเติมอีเอ็มไหม อีเอ็มช่วยอะไรกันแน่ จำเป็นหรือไม่จำเป็น ในบทความนี้ผู้เขียนขอไขข้อข้องใจค่ะ ในฐานะที่เป็นคนที่มีประสบการณ์การทำงานเรื่องนี้มาโดยตรง ที่ต้องบอกว่ามันก็มีทั้งความเข้าถูกและเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ค่ะ ดังนั้นหากอยากมองภาพใหญ่ของเรื่องนี้ออกมากขึ้น ต้องอ่านต่อให้จบค่ะ กับเนื้อหาที่น่าสนใจและควรรู้ดังต่อไปนี้ การย่อยสลายภายในถังเกรอะหรือที่บางคนเรียกว่า “ถังส้วม” ที่ปกติมักอยู่ใต้ดินหลังห้องน้ำ หรือฝั่งอยู่จุดใดจุดหนึ่งในบริเวณของบานเรา โดยการย่อยสลายนี้เป็นกระบวนการทางชีวภาพที่เกิดขึ้นจากการทำงานของจุลินทรีย์ค่ะ ซึ่งจุลินทรีย์มีหลายตัว แต่ตัวที่มีบทบาทสำคัญเลยคือแบคทีเรียนะคะ ซึ่งจุลินทรีย์นี้มีหน้าที่หลักในการย่อยสลายสารอินทรีย์ต่างๆ ที่ปะปนมากับน้ำเสียจากห้องน้ำ เช่น อุจจาระ ปัสสาวะ และเศษกระดาษชำระ ที่จะได้ก๊าซ เพราะเป็นการย่อยสลายแบบไม่ใช้อากาศ โดยสิ่งที่ทำให้เรารู้ว่าเป็นการย่อยสลายแบบไม่ใช้ออกซิเจนก็คือ ถังเกรอะมีฝาปิด มีท่อระบายอากาศและมีกลิ่นเหม็นค่ะ สารอินทรีย์ที่มากับสิ่งปฏิกูลตามธรรมชาติจะมีอยู่ด้วยกัน 3 สถานะ คือ ตะกอนลอย ตะกอนแขวนลอย และตะกอนหนัก โดยตะกอนทั้งสามนั้นถูกแยกง่ายๆ ด้วยกระบวนการทางกายภาพ ที่เราได้พูดถึงเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่า ภายในถังเกรอะเป็นการบบำบัดขั้นต้น ก็เพราะว่าอาศัยการแยกตะกอนออกจากน้ำ จากที่น้ำเสียที่มีสิ่งปฏิกูลถูกพักให้อยู่นิ่งๆ ในถังเกรอะค่ะ และโดยทั่วไปหลังจากการย่อยสลายแล้ว สารอินทรีย์ที่เหลือจะตกตะกอนลงสู่ก้นถังเกรอะ และเกิดการสะสมเป็นตะกอน ซึ่งตะกอนส่วนนี้จะไม่สามารถย่อยสลายต่อได้อีก ที่ก็จะสะสมไปเรื่อยๆ จนทำให้พื้นที่ในถังเกรอะลดลงได้ ซึ่งก็จะใช้เวลานานพอสมควรถ้าเป็นสารอินทรีย์จริง แต่ถ้าเป็นขยะที่ถูกทิ้งมาตอนกดชักโครก แบบนี้อาจจะเต็มเร็ว เช่น ผ้าอนามัย ถุงยางอนามัย กระดาษชำระที่ย่อยสลายยาก เป็นต้น และปัจจัยที่มีผลต่อการย่อยสลายในถังเกรอะ ได้แก่ ชนิดและปริมาณของสารอินทรีย์: สารอินทรีย์ที่มีคาร์บอนสูง เช่น ไขมัน น้ำมัน จะย่อยสลายได้ช้ากว่าสารอินทรีย์ชนิดอื่น อุณหภูมิ: อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการทำงานของจุลินทรีย์จะอยู่ที่ประมาณ 30-35 องศาเซลเซียส ค่า pH: ค่าพีเอชที่เหมาะสมสำหรับการทำงานของจุลินทรีย์จะอยู่ที่ประมาณ 6.5-7.5 ปริมาณออกซิเจน: การมีออกซิเจนในปริมาณมากจะทำให้จุลินทรีย์ที่ไม่ต้องการออกซิเจนทำงานได้ไม่ดี ชนิดของจุลินทรีย์: จุลินทรีย์แต่ละชนิดจะมีความสามารถในการย่อยสลายสารอินทรีย์แตกต่างกันค่ะ โดยทั่วไปแล้วปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับถังเกรอะ มีหลายอย่าง เช่น ถังเกรอะเต็ม: หากไม่ทำการสูบส้วมเป็นประจำ ถังเกรอะจะเต็มไปด้วยตะกอนและอาจทำให้ท่อน้ำอุดตัน กลิ่นเหม็น: การย่อยสลายของสารอินทรีย์อาจก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นรบกวน การรั่วซึม: ถังเกรอะที่เก่าหรือมีรอยร้าวอาจทำให้น้ำเสียรั่วซึมลงสู่ดินและปนเปื้อนน้ำใต้ดิน ดังนั้นเราก็จะต้องมาพูดถึงการดูแลรักษาถังเกรอะกันค่ะ ซึ่งสิ่งที่หลายบ้านทำประจำอยู่แล้ว ได้แก่ สูบส้วมเป็นประจำ: ควรทำการสูบส้วมอย่างน้อยปีละครั้ง หรือเมื่อสังเกตเห็นว่าถังเกรอะเริ่มเต็ม หลีกเลี่ยงการทิ้งสิ่งแปลกปลอม: ไม่ควรทิ้งผ้าอนามัย แผ่นอนามัย หรือสิ่งของอื่นๆ ที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ลงในชักโครก ตรวจสอบสภาพถังเกรอะเป็นประจำ: ควรตรวจสอบสภาพถังเกรอะอย่างสม่ำเสมอเพื่อหารอยร้าวหรือรอยแตกร้าว และการเทจุลินทรีย์อีเอ็มลงในส้วมนั้น ก็กลายเป็นวิธีการที่หลายคนนิยมใช้เพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับถังเกรอะในบ้าน โดยเฉพาะปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นและการอุดตันของท่อ จริงไหมคะ? ซึ่งจริงๆ นั้นประโยชน์ของการเทจุลินทรีย์อีเอ็มลงในส้วมก็มีอยู่เหมือนกันนะคะ ดังนี้ ลดกลิ่นเหม็น: จุลินทรีย์อีเอ็มจะช่วยย่อยสลายสารอินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของกลิ่นเหม็น ทำให้ห้องน้ำมีกลิ่นที่สดชื่นขึ้น ช่วยย่อยสลายสิ่งสกปรก: จุลินทรีย์อีเอ็มจะช่วยย่อยสลายเศษอาหาร กระดาษชำระ และสิ่งสกปรกอื่นๆ ที่ลงไปในส้วม ทำให้ท่อระบายน้ำไม่อุดตัน ป้องกันการเกิดตะกอน: จุลินทรีย์อีเอ็มจะช่วยลดปริมาณตะกอนที่เกิดขึ้นในถังเกรอะ ทำให้ถังเกรอะเต็มช้าลง โดยที่นี่ผู้เขียนก็มีอีเอ็มขยายเหมือนกันค่ะ ที่จะขยายอีเอ็มใส่ขวดพลาสติกที่เอาไว้ พอตอนจะใช้ก็แค่นำอีเอ็มไปเทผสมกับน้ำ และโดยทั่วไปก็จะต้องผสมจุลินทรีย์อีเอ็มกับน้ำก่อนนำไปเทลงในส้วมเหมือนกันนะคะ โดยถ้าเป็นการเทลงในชักโครก ก็ให้เทส่วนผสมที่ได้ลงในชักโครกแล้วกดชักโครกตามอีกทีค่ะ โดยถ้าสนใจเทอีเอ็มลงในส้วม ควรทำการเทจุลินทรีย์อีเอ็มอย่างสม่ำเสมอค่ะ ที่อาจจะเป็นสัปดาห์ละครั้งหรือเดือนละครั้งก็ได้ไม่ตายตัวนะคะ ที่พูดแบบนั้นเพราะว่าการย่อยสลายในถังเกรอะสามารถเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติอยู่แล้ว ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เติมจุลินทรีย์อีเอ็มเข้าไปก็ตามค่ะ เพราะในน้ำเสียจากห้องน้ำนั้นมีจุลินทรีย์อยู่แล้ว ซึ่งจุลินทรีย์เหล่านี้ก็มีความสามารถย่อยสลายสารอินทรีย์ต่างๆ ในถังเกรอะได้เช่นกัน เพียงแต่ว่าการเติมจุลินทรีย์อีเอ็มเข้าไปช่วยให้เกิดสิ่งต่อไปนี้ เร่งกระบวนการย่อยสลาย: จุลินทรีย์อีเอ็มมีสายพันธุ์ที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพในการย่อยสลายสูง ทำให้กระบวนการย่อยสลายเกิดขึ้นได้เร็วขึ้น ลดกลิ่นเหม็น: จุลินทรีย์อีเอ็มสามารถย่อยสลายสารที่ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ลดปัญหาเรื่องกลิ่น ป้องกันการอุดตัน: การย่อยสลายที่สมบูรณ์จะช่วยลดปริมาณตะกอนและลดโอกาสการอุดตันของท่อ และถึงแม้ว่าการเติมจุลินทรีย์อีเอ็มจะช่วยให้กระบวนการย่อยสลายในถังเกรอะมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่การย่อยสลายก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติอยู่แล้วนะคะ ดังนั้นหากเราไม่มีปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นหรือการอุดตันของท่อ การเติมจุลินทรีย์อีเอ็มอาจไม่จำเป็นต้องทำก็ได้ หรือถ้าอยากทำก็ไม่จำเป็นต้องเทบ่อยก็ได้ค่ะ สำหรับในเรื่องของกลิ่นเหม็นนี้ขอพูดเพิ่มเติมว่า ในบางครั้งการได้กลิ่นอันไม่พึงประสงค์จากส้วม อาจเกิดจากถังเกรอแตกร้าวหรือมีช่องเปิด การมีท่อระบายที่อยู่ในระดับต่ำเกินไป จึงทำให้เราสามารถได้กลิ่นเหม็น แบบนี้ให้ไปแก้ที่ต้นเหตุนะคะ เพราะต่อให้ไปเทอีเอ็มก็จะยังได้กลิ่นเหม็นเหมือนเดิมค่ะ และความแตกต่างของการย่อยสลายในถังเกรอะ เมื่อเติมและไม่เติมจุลินทรีย์ EM นั้นจะมีสิ่งเหล่านนี้เกิดขึ้นนะคะ 1. ความเร็วในการย่อยสลาย ไม่เติม EM: จุลินทรีย์ตามธรรมชาติในน้ำเสียจะค่อยๆ ย่อยสลายสารอินทรีย์ แต่กระบวนการอาจช้า เนื่องจากปริมาณและความหลากหลายของจุลินทรีย์อาจไม่เพียงพอ เติม EM: จุลินทรีย์ EM ที่ถูกเติมเข้าไปมีปริมาณมากและมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ทำให้กระบวนการย่อยสลายเกิดขึ้นได้เร็วขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้ตะกอนในถังเกรอะลดลง และถังเกรอะเต็มช้าลง 2. ประสิทธิภาพในการย่อยสลาย ไม่เติม EM: จุลินทรีย์ตามธรรมชาติอาจไม่สามารถย่อยสลายสารอินทรีย์บางชนิดได้อย่างสมบูรณ์ เช่น ไขมัน น้ำมัน ทำให้เกิดตะกอนและกลิ่นเหม็น เติม EM: จุลินทรีย์ EM มีความสามารถในการย่อยสลายสารอินทรีย์ได้หลากหลายชนิด รวมถึงสารอินทรีย์ที่ย่อยสลายยาก ทำให้การย่อยสลายเกิดขึ้นได้สมบูรณ์มากขึ้น ลดปริมาณตะกอน และลดกลิ่นเหม็นได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3. การควบคุมกลิ่น ไม่เติม EM: เมื่อมีการย่อยสลายไม่สมบูรณ์ จะเกิดก๊าซต่างๆ เช่น ก๊าซมีเทน ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ ซึ่งเป็นสาเหตุของกลิ่นเหม็น เติม EM: จุลินทรีย์ EM จะช่วยย่อยสลายสารที่ก่อให้เกิดกลิ่น จึงช่วยลดปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นได้อย่างดี ที่โดยสรุปก็คือการเติมจุลินทรีย์ EM เข้าไปในถังเกรอะนั้น ช่วยเร่งกระบวนการย่อยสลายของเสีย ทำให้ถังเกรอะมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ต้องดูแลรักษาถังเกรอะเลย การทำความสะอาดและดูแลรักษาถังเกรอะเป็นระยะยังคงมีความจำเป็นเหมือนเดิมค่ะ เพื่อให้ถังเกรอะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและยืดอายุการใช้งาน และถึงแม้ว่าจะมีจุลินทรีย์ EM ช่วยย่อยสลาย แต่ก็ยังมีตะกอนบางส่วนที่ตกค้างอยู่ก้นถังอยู่ดี เพราะเป็นตะกอนที่อยู่ในสภาพที่ไม่สามารถย่อยได้อีกแล้ว และถ้าหากปล่อยทิ้งไว้นานเกินไป จะทำให้ถังเกรอะเต็ม และอาจส่งผลให้เกิดปัญหาท่อน้ำอุดตันได้เหมือนเดิมค่ะ ซึ่งการเติมจุลินทรีย์ EM เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการดูแลรักษาถังเกรอะเท่านั้น โดยการสูบส้วมเป็นระยะ ก็จะมีเหมือนเดิม เพราะในสถานการณ์จริงนั้น การมีส้วมเต็มมักเกิดจากที่ดินรอบๆ ถังเกรอะอิ่มตัวด้วยน้ำ โดยเฉพาะในหน้าฝน จากที่ดินไม่สามารถรับการซึมได้อีก ดังนั้นการสูบส้วมจะยังมีอยู่ปกติค่ะ ที่เคยสังเกตไหมล่ะคะว่าในช่วงหน้าแล้งเราจะได้เจอว่าส้วมเต็มเลย นอกจากที่ที่มีการใช้ส้วมมากกว่าปกติ เช่น ร้านอาหาร หรือสถานที่ที่มีกิจกรรมที่มีคนจำนวนมากใช้ส้วมค่ะ ดังนั้นจะเติมหรือไม่เตอมอีเอ็มก็ได้ค่ะ เพราะผู้เขียนเป็นคนที่เจอมาแล้วจากทั้งสองสถานการณ์คือ ไม่เติมอีเอ็มกับเติมอีเอ็ม ที่ก็พบว่าพอหน้าฝนมา ก็ได้สูบส้วมอยู่ดีจากที่ระดับน้ำใต้ดินค่อนข้างสูง ซึ่งในกรณีนี้ผู้เขียนหมายถึงถังเกรอะที่ยังอาศัยการกำจัดน้ำเสียจากท่อน้ำออกของถังเกรอะด้วยการซึมนะคะ ที่ถังแบบนี้ยังพบได้มากในประเทศไทยของเรา ซึ่งถ้าเป็นในเมืองจะมีถังแบบใหม่ ที่ปลายท่อน้ำออกของถังเถรอะจะเชื่อมต่อไปยังระบบรวบรวมน้ำเสียของเทศบาลหรือชุมชนอีกที ที่โอกาสส้วมจะเต็มจากระดับใต้ดินที่สูงขึ้นในหน้าก็จะเป็นไปได้ยาก แต่อาจพบว่าส้วมเต็มได้ในกรณีมีน้ำท่วมแทนค่ะ และนั่นคือเนื้อหาสาระเกี่ยวกับการเติมอีเอ็มลงในส้วมค่ะ ซึ่งถ้าจะให้ผู้เขียนก่อนจบบทความนี้แบบง่ายๆ เลยก็คือ การเติมอีเอ็มเหมือนการเติมเปิดเตาแก๊สเบอร์สูงสุด ที่ต่อให้เราทำอาหารต่อไปเรื่อยๆ ด้วยความแรงของแก๊สเบอร์ 3 อาหารของเราก็สุกและทานได้อยู่ดี แต่แก๊สเบอร์ 5 จะทำให้เราใช้เวลาน้อยลง ที่เราก็อาจจะต้องสิ้นเปลืองแก๊สไปบ้าง เหมือนกับที่เราต้องจัดหาอีเอ็มมาเทค่ะ ที่ก็จะมีค่าใช้จ่ายแอบแฝงมา ซึ่งจะดีหน่อยถ้าเราสามารถขยายหัวเชื้ออีเอ็มได้เองและนำมาใช้ เพราะต้นทุนก็จะถูกลงนะคะ พอจะมองเห็นภาพเรื่องนี้กันหรือยังค่ะ และผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หากชอบบทความแบบนี้อีก ก็อย่าลืมกดติดตามหรือกดบุ๊กมาร์กหน้าโปรไฟล์ไว้นะคะ เพราะจะได้ไม่พลาดบทความใหม่ๆ ที่จะได้นำมาเผยแพร่ในเร็วๆ นี้ค่ะ เครดิตภาพประกอบบทความ ภาพหน้าปก โดย Photo By: Kaboompics.com จาก Pexels ภาพประกอบเนื้อหาโดยผู้เขียน ภาพที่ 1 ออกแบบใน Canva ออกแบบภาพหน้าปกโดยผู้เขียนใน Canva เกี่ยวกับผู้เขียน ภัคฒ์ชาลิสา จำปามูล จบการศึกษา: พยาบาลศาสตรบัณฑิต จากวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม กระทรวงสาธารณสุข และสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (อนามัยสิ่งแวดล้อม) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความสนใจและประสบการณ์เกี่ยวกับ: สุขภาพ จิตวิทยาเชิงบวก การจัดการน้ำเสียและสิ่งปฏิกูล บทความอื่นที่น่าสนใจโดยผู้เขียน https://news.trueid.net/detail/1lmvpvZ4Kj13 https://news.trueid.net/detail/vKRN0rBLOpkK https://news.trueid.net/detail/zgZvaQBB6Kyg เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !