สวัสดีค่ะผู้อ่านทุกท่าน วันนี้เราจะมาแชร์เทคนิค การเลือกสมัครงานยังไงให้เหมาะกับเรา ทำResume ยังไงให้น่าสนใจ สัมภาษณ์ยังไงให้น่าประทับใจ มีเปอร์เซนต์ได้งานสูงแน่นอนค่ะ (อาจจะยาวหน่อยแต่ละเอียดแน่นอนค่ะ) ขั้นตอนแรก การเลือกสมัครงาน หัวใจสำคัญในการเลือกสมัครงานคือ "ความสนใจ" ค่ะ แน่นอนเราต้องเลือกสมัครงานที่เราอยากจะทำ หรือรู้สึกว่าเราทำได้ อาจจะมาจากคณะที่เรียน เอกที่เรียน หรือความชอบก็ได้ทั้งนั้นค่ะ เมื่อเราได้สายงานที่ต้องการจะทำแล้ว เราก็สามารถหางานได้จากตามเว็บไซต์ต่างๆ ซึ่งในประเทศไทยมีเว็บไซต์หางานอยู่มากมายเลยค่ะ ทั้ง jobsdb , jobbkk , jobtopgun , jobthai , jobth เป็นต้นค่ะ ซึ่งแต่ละเว็บไซต์ที่ว่ามาล้วนเป็นเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือและมีบริษัทเป็น Partners กันมากมาย มีทั้งบริษัท Startup ไปจนถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศก็มีเช่นกันค่ะ วิธีการเลือกงานที่สนใจ แนะนำให้เลือกจาก "ตำแหน่งงาน" เป็นหลักค่ะ เพราะเมื่อเรารู้แล้วว่าเราอยากจะทำงานอะไร หรือมีความถนัดแบบไหน มาขมวดเป็นตำแหน่งงานแบบคร่าวๆค่ะ เพราะ 1 ความถนัด จะมีตำแหน่งงานมากกว่า 1 ตำแหน่งแน่นอนค่ะ (ยกเว้นตำแหน่งที่มีความเฉพาะทางมากๆนะคะ) ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เราชอบทำงานพูดคุยกับคน และถนัดเรื่องจิตวิทยาการพูดคุย ตำแหน่งงานที่สามารถทำได้เช่น พนักงานขายสินค้า พนักงานขายประกัน พนักงานการตลาด พนักงานบริการในโรงแรม แอดมินเป็นต้นค่ะ (แต่ทั้งนี้ต้องดูด้วยว่าตำแหน่งที่เขารับ มีการขอวุฒิการศึกษาหรือไม่ หรือขอคณะที่เรียนจบโดยตรงหรือไม่ค่ะ) เมื่อเราได้ตำแหน่งงานที่สนใจแล้ว สัก 2-3 ตำแหน่งงาน เราก็กรอกข้อมูลลงไปในเว็บไซต์ได้เลย จะขึ้นบริษัทต่างๆที่กำลังหาคนมาร่วมงานตามตำแหน่งที่เราสนใจอยู่ค่ะ วิธีการเลือกบริษัทมีอยู่หลายปัจจัยดังนี้ค่ะ ระยะทางจากบ้านกับบริษัท ไกลหรือใกล้แค่ไหน แนะนำให้ไม่เกิน 15 กิโลเมตรนะคะ ยิ่งถ้างานอยู่ในใจกลางกรุงเทพด้วยนั้น รถยิ่งติดหนักมากๆเลยค่ะ บางแห่งถึงนั่ง BTS หรือ MRT ก็แล้ว ยังไม่วายคนเต็มตู้อีก เพราะฉะนั้นหากยิ่งไกลยิ่งต้องเผื่อเวลาเยอะๆนะคะ ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ไม่ใช่แค่บริษัทยิ่งอยู่ไกลจากบ้านแล้วค่าเดินทางยิ่งแพงนะคะ บางครั้งบริษัทที่อยู่ใกล้ๆบ้านก็สามารถมีค่าเดินทางแพงได้เช่นเดียวกัน เช่น ต้องขึ้นทางด่วน เดินทางหลายต่อ เพราะฉะนั้นต้องเช็คดูดีๆว่า การที่จะเดินทางไปบริษัทนั้นๆต้องเดินทางยังไงบ้าง บริษัทที่เราสนใจ มีความน่าเชื่อถือแค่ไหน ปัจจัยนี้ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับบริษัทที่ไม่ได้มีชื่อเสียงในวงกว้างค่ะ วิธีการเช็คคือ หาเว็บไซต์บริษัท ไม่ว่าจะเป็น Facebook เว็บไซต์ของบริษัทเอง หรือจะเช็คในเว็บ DBD DataWarehouse ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้อีกทาง ซึ่งสามารถค้นหาจากชื่อบริษัทได้เลยค่ะ (หลักๆจะดู สถานะการดำเนินกิจการที่ต้องเป็น "ยังดำเนินกิจการ" ส่วนข้อมูลเพิ่มเติมอย่างอื่นแล้วแต่วิจารณญาณของแต่ละบุคคลค่ะ) เช็คข่าวในเว็บไซต์เกี่ยวกับบริษัทนี้ให้ดี ส่วนใหญ่แต่ละบริษัทจะมีข่าวต่างๆที่ออกสู่สาธารณะอยู่แล้วค่ะ เพื่อเป็นการโฆษณาบริษัทตนเองให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น (ในปัจจัยนี้เราจะดูว่าบริษัทที่สนใจมีข่าวเสียหายที่ส่งผลกระทบต่อบริษัทมั้ย ถ้ามีเขาแก้ไขปัญหายังไงค่ะ) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องใช้สติในการเสพข่าวนะคะ ขั้นตอนที่ 2 การเตรียมข้อมูลในการสมัคร สิ่งสำคัญในการสมัครงานทุกที่ก็คือ Resume หรือ CV ค่ะ แล้ว Resume กับ CV ต่างกันยังไง? Rusume เหมือนเป็นประวัติโดยย่อ รายละเอียดจะมีข้อมูลส่วนตัว รายละเอียดการติดต่อ ข้อมูลการศึกษา passionในการทำงานแบบคร่าวๆ (เหมาะกับ First jobber กับคนที่มีประสบการณ์ทำงานไม่เยอะ) CV จะเป็นประวัติการทำงานที่ดูทางการ มักจะไม่มีลวดลายหรือสีสัน ส่วนใหญ่จะมีข้อมูลส่วนตัวนิดหน่อย ข้อมูลติดต่อกลับ และประวัติการณ์ทำงาน (จะเน้นประวัติการทำงาน อธิบายรายละเอียดการทำงาน) เราจะยกตัวอย่างของ Resume นะคะ (ส่วนใหญ่น่าจะเป็น First Jobber) สิ่งที่ควรใส่ใน Resume ข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลการติดต่อ (เบอร์โทร Email) ประวัติการศึกษา ความสนใจ (ในตำแหน่งงาน) ประวัติการทำงาน หรือ กิจกรรมที่ทำในช่วงที่เรียน (เลือกกิจกรรมที่คิดว่ามีประโยชน์ในงาน) บุคคลอ้างอิง สิ่งที่ไม่ควรใส่ใน Resume หลอดพลัง (ห้ามเลยเด็ดขาด) งานอดิเรก ข้อมูลส่วนบุคคลเชิงลึก ( น้ำหนัก ส่วนสูง ในครอบครัวมีกี่คน เป็นต้น) ขั้นตอนที่ 3 การสัมภาษณ์ เมื่อเราสมัครงานกับบริษัทที่สนใจและส่ง Resume ไปแล้ว ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการสัมภาษณ์ โดยปกติหลังจากส่ง Resume ไปแล้วบริษัทจะพิจารณาผู้สมัครประมาณ 2-3 สัปดาห์ จะมี HR ของบริษัทโทรมาสอบถามเราว่ายังสนใจงานมั้ย สะดวกสัมภาษณ์มั้ย หากเราตกลงจะเข้าร่วมสัมภาษณ์แล้ว ทาง HR จะนัดสถานที่ วัน และเวลาในการสัมภาษณ์ ซึ่งจะมี 2 แบบด้วยกัน คือ Onsite และแบบ Online ค่ะ การเตรียมตัวสำหรับสัมภาษณ์แบบ Onsite หรือสัมภาษณ์แบบเจอหน้ากัน การแต่งตัว ควรแต่งให้มีความสุภาพ สะอาด หอม(แต่ไม่ฉุน) โดยใส่เสื้อเชิ้ตหรอเสื้อเบลาส์ อาจจะมีการสวมสูททับ(แล้วแต่ความมั่นใจ จะไม่ใส่ก็ได้) กางเกงหรือกระโปรงสีสุภาพ รองเท้าหุ้มส้นเท้า ไม่ดูแฟชั่นมากเกินไป(ยกเว้นตำแหน่งที่ทำงานเกี่ยวกับแฟชั่น) เพราะการแต่งตัวเหมือนเป็น first impression ของผู้สัมภาษณ์ (แต่งตัวดีมีเปอร์เซนต์ผ่านเยอะกว่าค่ะ) เตรียมเอกสารที่บริษัทขอเพิ่มไปด้วย บางแห่งอาจจะขอใบรับรองแพทย์ไปในวันสัมภาษณ์เลย ตรวจสอบการเดินทาง เดินทางยังไง ใช้เวลาเท่าไหร่ (คิดว่าถ้าเราต้องเดินทางไปทำงานจริงๆ จะเป็นประมาณไหน เดินทางยังไง มีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ระหว่างทางมีร้านของกินหรืออะไรมั้ย เผื่อเวลาเยอะมั้ย) เตรียมข้อมูลในการสัมภาษณ์ อันนี้สำคัญที่สุดค่ะ หลักๆที่บริษัทต้องการจะรู้จากเรา คือเราทำงานร่วมกับเขาได้มั้ย ยิ่งถ้าเป็น First Jobber เขาจะไม่ค่อยถามเรื่องงานมากนัก (เพราะเราไม่มีประสบการณ์ในการทำงาน) สิ่งที่เราต้องเตรียมก็จะเป็นข้อมูลที่เราใส่ไปใน Resume เลยค่ะ เพราะเขาอาจจะให้ขยายความเพิ่มเติมจากที่เขียนไป เช่น เราเขียนกิจกรรมเด่นๆไป เขาอาจจะให้อธิบายว่าทำอะไรบ้าง ได้เรียนรู้อะไร เป็นต้นค่ะ หรือวิชาที่เรียนเขาอาจจะเลือกวิชาที่ตรงกับการทำงานแล้วถามข้อมูลคร่าวๆ ทั้งนี้เพื่อจะดูความรู้ความเข้าใจ ที่เหลือจะถามเพื่อดูทัศนคติค่ะ เช่น ถ้าเกิดมีปัญหากับเพื่อนร่วมงานจะทำยังไง เป็นต้น สำคัญมากคือ สบตากับผู้เข้าสัมภาษณ์ด้วยนะคะ เพื่อแสดงความมั่นใจ การเตรียมตัวสำหรับการสัมภาษณ์แบบ Online สำคัญที่สุดคือ เว็บไซต์หรือแอพที่ทางบริษัทใช้ในการสัมภาษณ์ค่ะ จะเป็นโปรแกรมอะไรก็ได้ เช่น Teams , Google Meet , Zoom , Line เป็นต้น และต้องเช็คอินเตอร์เน็ตด้วยว่ามีความเร็วเพียงพอมั้ย รวมถึงสถานที่ที่จะใช้สัมภาษณ์ด้วย จะต้องไม่รก ดูสะอาดนะคะ การแต่งตัว ให้เตรียมคล้ายๆกับสัมภาษณ์แบบ Onsite ได้เลยค่ะ การเตรียมข้อมูลที่ใช้สัมภาษณ์ แบบ Online จะง่ายกว่าเพราะสามารถเปิดข้อมูลในคอมฯ หรือไอแพดได้เลย ต่างจากแบบ Onsite ที่ไม่สามารถมีโพยได้ แต่ต้องระวังตรงที่หากเขาขอดูรูปภาพกิจกรรมเพิ่มหรือดูข้อมูลอะไรที่ต้องแชร์หน้าจอ ระวังโป๊ะนะคะ "ทั้งนี้บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาให้ร้ายหรือส่งเสริมการทุจริตทั้งสิ้น ขอให้ผู้อ่านทุกท่านใช้วิจารณญาณในการอ่านด้วยนะคะ" ขอให้ผู้อ่านทุกท่านใช้เทคนิคต่างๆนี้ ปรับใช้ให้เหมาะกับตัวเอง และขอให้ได้งานกันทุกๆคนนะคะ โชคดีน้าา หากมีคำถามอะไร สามารถถามได้เลยนะคะ จะพยายามมาตอบแน่นอนค่ะ เครดิตภาพหน้าปก จาก Canva โดย Tropical Peach เครดิตภาพที่ 1 โดย Anna Shvets เครดิตภาพที่ 2 จาก Canva โดย Mosalama เครดิตภาพที่ 3 โดย Kindel Media เครดิตภาพที่ 4 โดย Tima Miroshnichenko เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !