"ชุมพร"พบติดเชื้อเพิ่ม 1 ราย สั่งกักตัวทีมแพทย์-จนท.รพ. 64คน สสจ.เร่งติดตามผู้ใกล้ชิด-สัมผัสเสี่ยง
เมื่อเวลา 18.10น. วันที่ 6 เมษายน 2563 ที่ห้องประชุมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชุมพร (สสจ.ชุมพร) นายวิบูลย์ รัตนาภรณ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร พร้อมนพ.จิรชาติ เรืองวัชรินทร์ สสจ.ชุมพร ร่วมกันแถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ จ.ชุมพร โดยระบุว่า ในวันที่ 6 เมษายน 2563 (วันนี้) จังหวัดชุมพรพบผู้ป่วยด้วยโรคโควิด-19 เป็นรายที่ 2 เป็นเพศหญิง อายุ 64 ปี เข้ารับการรักษาที่ โรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563 โดยมีอาการไข้ ไอ และหายใจเหนื่อยหอบ เบื้องต้นแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคปอดบวม จึงรักษาอาการโรคปอดบวม กระทั่งวันที่ 4 เมษายน 2563 ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงขึ้น หายใจหอบเหนื่อยมากขึ้น และอาการไข้สูง มีออกซิเจนในเลือดต่ำ เหลือประมาณ 65% แพทย์จึงใส่ท่อช่วยหายใจและเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค จึงเก็บสิ่งส่งตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานี ล่าสุด มีผลตรวจออกมาในวันนี้ พบคนไข้ป่วยด้วยโรคโควิด-19
“ขณะนี้อยู่ในความดูแลของทีมแพทย์ของโรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ตามมาตรฐานการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งอาการไข้เริ่มลดลง หายใจดีขึ้น แต่ยังต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดขึ้นมาเป็น 95% ผู้ป่วยรายนี้มีประวัติโรคประจำตัวคือไขมันในเลือดสูง มีความดันโลหิตสูง จึงมีความเสี่ยงระดับหนึ่งในการรักษา ซึ่งทีมแพทย์ รพ.ชุมพรเขตรอุดมศักดิ์จะพยายามดูแลผู้ป่วยรายนี้อย่างดีที่สุด”
นพ.จิรชาติ กล่าวว่า ขณะนี้มีการกระบวนการสอบสวนและควบคุมโรค ทราบว่าผู้ป่วยเริ่มมีอาการคล้ายไข้หวัดเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 เมื่อสอบสวนย้อนหลังไป 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 13-19 มีนาคม 2563 ผู้ป่วยพักในบ้านเช่าในเขต อ.เมือง จ.ชุมพร วันที่ 20 มีนาคม เดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวกับลูกสาวและลูกเขยเพื่อเยี่ยมญาติที่ อ.สวี จ.ชุมพร และวันที่ 20 มีนาคม ผู้ป่วยเริ่มมีอาการไข้ต่ำ มีผื่นแดงที่ขา แต่ยังไม่อาการไอหรือหอบเหนื่อย แพทย์วินิจฉัยเป็นผิวหนังอักเสบและรับรักษาไว้ที่โรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ต้องใช้ยาฆ่าเชื้อ 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 20-26 มีนาคม 2563 อาการเริ่มดีขึ้น จึงให้กลับบ้าน
“หลังจากนั้น วันที่ 27 มีนาคม ผู้ป่วยเริ่มมีอาการไอและเจ็บคอ แต่ยังไม่มีไข้ จึงซื้อยาพาราเซตามอลกินที่บ้าน วันที่ 1 เมษายน 2563 จึงมาพบแพทย์ด้วยโรคหวัด เพราะไม่มีประวัติเสี่ยงใดๆ จนวันที่ 2 เมษายน ผู้ป่วยมีอาการหนักขึ้น ขณะนี้ได้ดำเนินการควบคุมโรคใน 3 จุดคือ บ้านพักของผู้ป่วย ในโรงพยาบาล และบ้านญาติที่ อ.สวี ซึ่งมีการทำความสะอาดและฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อทุกซอกทุกมุมของทั้ง 3 จุดเรียบร้อยแล้ว อีกประเด็น คือ ค้นหาผู้สัมผัสผู้ป่วย และผู้สัมผัสอื่นๆ รวม 88 ราย เป็นบุคคลในครอบครัว 1 ราย บุคคลในชุมชน 14 ราย แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลรักษาผู้ป่วยรายนี้ 64 ราย และผู้ป่วยอื่นที่นอนใกล้ชิดกับผู้ป่วยอีก 9 ราย ต้องเข้าสู่กระบวนการกักตัว 14 วันเพื่อเฝ้าดูอาการ ซึ่งมี 50 รายมีความเสี่ยงต่ำต้องกักตัวที่บ้านและติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้สิ่งที่ต้องรีบทำ คือ ให้ขวัญและกำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ทุกคน” นพ.จิรชาติ กล่าว