"5G คืออะไร?" ทำไมเมืองไทยต้องมี 5G สำหรับ 5G เป็นคลื่นความถี่ของสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตบนสมาร์ทโฟน (โทรศัพท์มือถือ) ที่มีความเร็วสูงที่ถูกพัฒนาเพิ่มขึ้นมาจาก 4G ลองเปรียบเทียบความเร็วกันง่ายๆ เช่น ถ้าใช้ 4G บนรถไฟความเร็วสูงที่ 350 ก.ม.ต่อชั่วโมง ยังดูหนังออนไลน์ได้ แต่ถ้าใช้ 4G บนรถไฟเหาะที่ความเร็ว 500 ก.ม.ต่อชั่วโมงจะดูหนังออนไลน์ไม่ได้ภาพมันจะสะดุดไปหมด แต่ถ้าเป็น 5G แล้ว สามารถดูหนังออนไลน์บนยานพาหนะที่ความเร็วสูงกว่า 500 ก.ม.ต่อชั่วโมงได้สบายๆ แถมยังสามารถดาวน์โหลดหนังที่มีความละเอียดสูงทั้งเรื่องได้ในเวลาไม่ถึงนาที ซึ่งเร็วกว่า 4G มาก แต่ปัญหาของ 5G ก็คือช่วงการกระจายสัญญาณค่อนข้างสั้นกว่า 4G หนึ่งเสาสัญญาณของ 5G อาจจะครอบคลุมพื้นที่ได้เพียง 500 เมตร ถึง 1 กิโลเมตรเท่านั้น ถ้ายิ่งมีค่าความถี่ของคลื่นสูงเท่าไหร่สัญญาณก็จะคลอบคลุมได้น้อย ถึงแม้จะมีความเร็วในการดาวน์โหลดสูงก็ตาม ภาพจาก : pixabay.com ซึ่งคลื่นความถี่ 5G ที่ได้รับการประมูลใหม่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาประกอบไปด้วยคลื่น 700 MHz คลื่น 2600 MHz และคลื่น 26 GHz ถ้าสังเกตดูจะเห็นได้ว่ามีทั้งคลื่นความถี่ต่ำ, คลื่นความถี่ระดับกลาง และคลื่นความถี่สูง 26 GHz เราลองมาดูกันครับว่าคลื่นความถี่ต่ำกับความถี่สูงนั้นต่างกันอย่างไร? คลื่น 700 MHz เป็นความถี่ต่ำแต่สามารถคลอบคลุมพื้นที่ได้กว้างมากโดยคลื่นระดับนี้จะถูกส่งสัญญาณในระดับภาพพื้น เหมาะกับพื้นที่ที่เป็นภูเขาที่อับสัญญาณ ในท้องที่กันดาร ใช้เสาสัญญาณน้อยกว่า แต่ความเร็วก็ไม่ต่างอะไรมากกับ 4G เน้นการคลอบคลุมได้กว้างขวาง และความชัดเจนของสัญญาณที่ดี คลื่น 2600 MHz เป็นคลื่นความถี่สูง สูงกว่า 4G นิดหน่อย การกระจายสัญญาณค่อนข้างสั้น สามารถติดเสริมอุปกรณ์เข้าไปกับเสา 4G เดิมได้เลย แต่ด้วยระยะที่สั้นถ้าไปเจอมุมตึกที่เป็นมุมอับ สัญญาณก็ลดฮวบ! ได้เหมือนกันครับ คลื่น 2600 MHz เหมือนเป็นตัวเสริมของ 4G เป็นการขยายช่องสัญญาณให้เพิ่มขึ้นในกรณีที่มีการใช้งานในเครือข่ายเยอะๆ แต่ยังไม่สามารถทำความเร็วได้ในระดับ 5G ได้อย่างเต็มที่ คลื่น 26 GHz เป็นคลื่นความถี่สูงของ 5G ในไทยตอนนี้นะครับ แต่ช่วงระยะการส่งสัญญาณค่อนข้างสั้นมาก แต่สามารถทำความเร็วในการอัพโหลดดาวน์โหลดสูงในระดับ 5G ในรัศมีการส่งสัญญาณประมาณ 500 เมตรต่อหนึ่งเสาสัญญาณ ถ้าจะให้คลื่นนี้คลอบคลุมทุกพืันที่ต้องปักเสาสัญญาณใหม่เป็นจำนวนมาก จึงจะได้คุณภาพความแรงของสัญญาณ 5G ตามที่ต้องการ ดังนั้นค่ายโทรศัพท์มือถือต่างๆ จึงต้องมีทั้งคลื่นความถี่ตำและความถี่สูงควบคู่กันไป คลื่นความถี่ต่ำส่วนใหญ่จะใช้ในพื้นที่ห่างไกล ส่วนคลื่นความถี่สูงก็จะใช้กันในเขตเมืองหรือชุมชนที่มีปริมาณผู้คนใช้งานกันเยอะๆ ถ้าถามว่า 5G กับ WiFi ใช้อะไรดีกว่ากัน มันก็ขึ้นอยู่กับการใช้งานครับ ถ้าคนใช้ WiFi แค่ 2-4 คน WiFi ก็อาจจะแรงกว่า 5G แต่ถ้าคนใช้ WiFi 20 คน เปลี่ยนมาใช้ 5G จะดีกว่าเพราะ 5G นั้นได้ถูกพัฒนาให้มีการส่งปริมาณข้อมูลในขณะที่มีคนใช้งานเยอะได้ดี มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่า 4G เดิม ช่วยลดความแออัดของเครือข่ายในขณะที่มีผู้ใช่งานจำนวนมากลงได้ และยังสามารถรับการเชื่อมต่อที่เสถียรและรวดเร็วกว่า WiFi บนเครือข่าย 5G อีกด้วย ภาพจาก : pixabay.com มาดูประโยชน์ของการมีเครือข่าย 5G กันครับ นอกจากจะนำ 5G มาใช้ในการอัพโหลดดาวน์โหลดเล่นอินเทอร์เน็ตและการรับชมสื่อบันเทิงต่างๆแล้ว 5G ยังเข้ามารองรับการใช้งานอุปกรณ์ Internet of Things (IoT) สำหรับการติดต่อสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ทางอิเล็คทรอนิคส์ที่เป็น lot ต่างๆ ได้หลายๆอุปกรณ์ในเวลาเดียวกัน เช่น ถ้าเรามีอุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์แบบ lot ที่เชื่อมต่อกับไฟฟ้าที่บ้าน เราก็สามารถสั่งให้ไฟที่บ้านเปิดหรือปิดได้ จากอีกสถานที่หนึ่ง ผ่านเครือข่าย 5G หรือถ้าเป็นเกษตรกรที่มีที่นาหลายร้อยไร่ ก็อาจจะใช้โดรนช่วยบินหว่านปุ๋ยในนาได้ทีละหลายๆลำ หรือในทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลก็สามารถเข้าถึงคุณหมอที่อยู่ในสถานพยาบาลชั้นนำได้ ซึ่งผู้ป่วยสามารถโต้ตอบกับคุณหมอ หรือบุคลากรทางการแพทย์กันได้สดแบบเรียลไทม์ ในด้านการคมนาคมขนส่ง สำหรับรถยนต์ไร้คนขับก็สามารถทำได้แบบเรียลไทม์เช่นกัน เหมือนกับเราได้นั่งขับรถคันนั้นจริงๆ ภาพจาก : pixabay.com ซึ่งเทคโนโลยี 5G นี้ มีความหน่วงหรือการดีเลย์ในการแสดงผลน้อยมาก ดีเลย์น้อยอย่างไรถ้าเทียบกับ 4G? เช่น ถ้าเป็น 4G ก็เหมือนกับเราตะโกนไปที่ภูเขาหรือหน้าผา แล้วนับ 1, 2, 3 กว่าที่เราจะได้ยินเสียงตะโกนของเราสะท้อนกลับมา ส่วน 5G ก็เหมือนกับเราตะโกนในห้องน้ำ เราก็จะได้ยินเสียงของเราทันทีเดี๋ยวนั้นเลย ภาพจาก : pexels.com สำหรับคนที่ยังใช้ 4G ในตอนนี้อาจมีคำถามในใจว่า 5G ในเมืองไทยมาแล้วจำเป็นต้องไปหาซื้อโทรศัพท์ที่มี 5G เลยหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าให้ค่อยเป็นค่อยไปดีกว่าครับ กว่าที่ 5G จะได้ใช้อย่างเต็มรูปแบบ คงต้องใช้เวลาอีกสักระยะ หรือรอให้มีโทรศัพท์สมาร์ทโฟนที่รองรับ 5G ออกมาเป็นตัวเลือกเยอะๆก็น่าจะดีกว่าครับ มองดูราคาในช่วงนี้ก็ยังแพงอยู่ดีครับ สำหรับการติดตั้งอุปกรณ์เสาสัญญาณต่างๆ ของแต่ละค่ายมือถือก็ยังเน้นแค่เขตชุมชนเมืองใหญ่ หรือถ้าใครพอมีกำลังซื้ออยากจัดเครื่องใหม่เลยก็ไม่ว่ากันครับ ภาพจาก : unsplash.com ในยุคของ 5G ที่กำลังมาถึงนี้จะไม่ใช่ยุคที่เราจะมานั่งเล่นอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือกันอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว ต้องคอยติดตามกันต่อไปว่าจะเกิดสิ่งประดิษฐ์อะไรใหม่ๆ ขึ้นมารองรับเทคโนโลยี 5G กันอีกบ้าง และเมื่อถึงเวลานั้นมันจะออกมายั่วเงินในกระเป๋าของคุณจนต้องเสียเงินจ่ายเอามาเป็นเจ้าของกันอีกอย่างแน่นอนครับ บทความโดย : กัมบี้บ็อกซ์ ภาพหน้าปกจาก : unsplash.com