รีเซต

ส่งออกอาการหนัก มิย.หด23.17%ต่ำสุด131เดือน พณ.ยอมรับยังลำบากลดคาดการณ์เหลือลบ9%

ส่งออกอาการหนัก มิย.หด23.17%ต่ำสุด131เดือน พณ.ยอมรับยังลำบากลดคาดการณ์เหลือลบ9%
มติชน
24 กรกฎาคม 2563 ( 14:15 )
63
ส่งออกอาการหนัก มิย.หด23.17%ต่ำสุด131เดือน พณ.ยอมรับยังลำบากลดคาดการณ์เหลือลบ9%

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.)กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เดือนมิถุนายน 2563 การส่งออกของไทยมีมูลค่า 16,444.29 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 23.17% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน หรืออัตราขยายตัวต่ำสุดรอบ 131 เดือนนับจากเดือนกรกฎาคม 2552 ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 14,833.89 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 18.05% จึงได้ดุลการค้า 1,610.40 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ภาพรวมครึ่งแรกของปี 2563 ไทยส่งออกรวม 114,342.97 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 7.09% การนำเข้ารวม 103,642.02 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 12.62% และได้ดุลการค้า 10,700.95 ล้านเหรียญสหรัฐ

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า เมื่อลงลึกรายละเอียดในแต่กลุ่มสินค้าที่ส่งออก พบว่าหลายกลุ่มสินค้าในภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร ขยายตัวดีขึ้น และตลาดสหรัฐและจีน ขยายตัวเป็นบวก 12-14%  ประกอบกับการส่งออกเมื่อหักกลุ่มน้ำมัน ทองคำ(ลบ86%) และอาวุธยุทธปัจจัย ติดลบ 17.20% สะท้อนว่าการส่งออกผ่านสุดต่ำสุดมาแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เช่นเดียวกับการนำเข้าน่าจะผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว และปีนี้ดุลการค้าไม่น่าจะติดลบอย่างที่กังวล อักทั้งส่วนแบ่งตลาดส่งออกไทยในทั่วโลกเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ เช่น จีนแชร์เพิ่มจาก 2.22% เป็น 2.41% สหรัฐเพิ่มจาก 1.3% เป็น 1.6% ญี่ปุ่นจาก 3.4% เป็น 3.6% เป็นต้น

“แม้ส่งออกเดือนมิถุนายนมีมูลค่ากว่า 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐแต่มูลค่าสูงกว่าเดือนพฤษภาคมเล็กน้อย แต่แง่อัตรายังติดลบต่อเนื่องเดือนที่ 2 สำหรับแนวโน้มจากนี้ ต้องยอมรับว่าการแพร่ระบาดของโควิดส่งผลต่อเศรษฐกิจและกำลังซื้อทั่วโลก ตอนนี้ก็ยังระบาดอยู่ จึงประเมินว่าการส่งออกในครึ่งปีหลังนี้ หากส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 1.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ คงติดลบ 8-9% ซึ่งการจะติดลบเพิ่มขึ้นหรือลดลง ปัจจัยหลักมาจากสถานการณ์โควิด หากระบาดรอบ2 อาจกระทบต่อมูลค่าส่งออก แต่หากไม่รุนแรงและบางกลุ่มสินค้าดันส่งออกได้ตามแผน เช่น อิเลคโทรนิกส์ สินค้าเกี่ยวกับน้ำมัน พลาสติก เคมีภัณฑ์ และเร่งรัดกิจกรรมส่งออกได้ผล จนดันมูลค่าถึง 21,988 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน ก็จะทำให้ปีนี้ส่งออกเป็น0% บนสมมุติฐานค่าบาท 31.50-32.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และ ราคาน้ำมันโลก 30-40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ”

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า เฉพาะเดือนมิถุนายน 2563 พบว่า สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรโดยเฉพาะสินค้าอาหาร คงเป็นที่ต้องการของตลาดโลกและสามารถรักษาอัตราการขยายตัวของการส่งออกภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลายในหลายประเทศ อาทิ  อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ อาหารสัตว์เลี้ยง ผักและผลไม้สดแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขณะที่ไข่ไก่ขยายตัวสูงเป็นเดือนที่ 2 แต่สินค้าหดตัว อาทิ น้ำตาลทราย และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง สาเหตุจากปัญหาด้านอุปทานจากภัยแล้ง และโรคใบด่างมันสำปะหลัง ทำให้ปริมาณการส่งออกลดลง

ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าที่ขยายตัวยังคงเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง ขยายตัวสูง สินค้าอุตสาหกรรมหลักยังคงหดตัว คือ รถยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ(ไม่รวมทองคำ) ขณะที่ตลาดส่งออกหลักทั้งสหรัฐและจีนยังนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มต่อเนื่อง

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า การส่งออกช่วงครึ่งหลังของปี2563 ยังคงมีความท้าทาย ปัจจัยกดดันการส่งออก ได้แก่ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อกำลังซื้อที่ลดลงของประชาชนอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าหลายประเทศในเอเชียจะเริ่มฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดแล้วก็ตาม แต่ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดการล็อกดาวน์จากการแพร่ระบาดรอบสอง ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สหรัฐฯ-จีน และจีน-อินเดีย สร้างความไม่แน่นอนต่อนโยบายการค้าและเศรษฐกิจโลก และการแข็งค่าของเงินบาท ส่งผลต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคา รวมถึงปัจจัยสนับสนุนการส่งออก ได้แก่ การขนส่งสินค้าที่คล่องตัวขึ้น โดยเฉพาะการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน โดยไทยและประเทศเพื่อนบ้านต่างเริ่มผ่อนคลายเปิดจุดผ่านแดนสำคัญๆ ให้สามารถทำการขนส่งสินค้าได้หลายช่องทางมากขึ้น

ขณะนี้การขนส่งสินค้าชายแดนผ่านจุดผ่านแดนถาวรระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านกลับมาดำเนินการได้เกือบทั้งหมดแล้ว และ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ภาครัฐออกมาอย่างต่อเนื่อง จะช่วยกระตุ้นให้การใช้จ่ายของประชาชนฟื้นตัว ทั้งนี้ คาดว่าการส่งออกไปจีนจะยังคงสามารถขยายตัวได้ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และการควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี ในขณะเดียวกัน ตลาดสหรัฐฯ กลับมาขยายตัวตามการเร่งเปิดเศรษฐกิจ รวมถึงกระทรวงพาณิชย์เร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อเพิ่มศักยภาพส่งออก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง