เครือกะทกรก อิสานเรียก"บักหำห่อ"ท้องทุ่งอีสานมักมีอะไรให้เรียนรู้เสมอ อย่างวันนี้ผู้เขียนจะมาแนะนำให้ท่านผู้อ่านได้รู้จักเครือไม้อีกชนิด ที่เรามักพบเห็นบ่อย ๆ ตามท้องนาหรือตามป่ารกร้าง พืชที่ว่านั้นก็คือ “บักหำห่อ” ในภาษาอิสาน แต่คนภาคกลางเรียก เครือกะทกรกเครือกะทกรกนี้เวลาหน้าฝนจะแตกเถางาม เลื้อยพันไปตามโคกตามโพนนา หรือแม้แต่ตามคันนา ยอดอ่อน ๆ ของเครือไม้นี้กินได้ครับ แถมอร่อยด้วย ด้วยการเด็ดยอดอ่อน ๆ มาลวกให้สุกใส่พาข้าวกินกับป่นกับแจ่วอร่อยอย่าบอกใครเชียว คนอิสานมักเรียกอะไรเพี้ยน ๆ หลายถิ่นหลายที่ก็เรียกต่างกัน แต่ที่ผมรู้จักตั้งแต่เล็กจนโต เครือไม้นี้แถว ๆ บ้านผมเรียก บักหำห่อ เรียกตามใยบาง ๆ ที่ห่อรอบ ๆ ผลของเครือไม้นี้เวลามันออกผลลูกบักหำห่อเวลาสุกจะสีเหลือง ๆ ตอนผมเป็นเด็กเรามักหมายตาเครือไม้นี้ไว้แล้วล่ะ ตั้งแต่เริ่มเห็นมันติดผล มันเป็นของหวานอาหารโปรดของเด็กแห่งท้องทุ่งสมัยผมเลยล่ะ เก็บมาเยอะ ๆ นั่งกินนี้อร่อยอย่าบอกใครเชียว สมัยผมเป็นเด็กกินอะไรก็อร่อยไปหมดแหละ จนผมมีฉายาที่พ่อตั้งให้ เรียกผมว่า “บักพุงกะทิ” ที่แปลว่าคนพุงมันตลอดเวลา เพราะชอบกิน ฮาเครือกะทกรกนี้พบเห็นได้ทั่ว ๆ ไป อย่างตามภาพนี้ผมเห็นมันงามเลยถ่ายมา ว่าจะเก็บมาลวกแล้วล่ะ แต่ไม่ดีกว่า เพราะที่บ้านผมผักเยอะแยะ เวลาทำนาผักนี้มันจะพบในพาข้าวในยามเช้าบ่อย ๆ ลวกกินกับป่นปลาหมอ บางทีไม่ได้เด็ดแต่ยอด แต่ลากมาทั้งเครือเลย ล้างดี ๆ แล้วลวกวางในพาข้าว กินกับข้าวกับป่นตอนกลับจากไถนา รสชาติมันอร่อยหอมมันเชียวล่ะ ผมว่าอร่อยกว่าผักบุ้งลวกเสียอีก เพราะผักบุ้งลวกสุกแล้วเนื้อมันจะหยาบ ๆ แต่เครือไม้นี้เคี้ยวง่าย แถมกินได้ทั้งเครือมีกากไยสูง มีประโยชน์ในการชะล้างลำไส้และสิ่งตกค้างในร่างกาย คู่กับผักนี้จะมีอีกผักที่คล้าย ๆ กันคือเครือผักใส่ หรือมะระขี้นก เอาไว้โอกาสต่อ ๆ แล้วผมจะเก็บมาเล่าสู่ฟังเกี่ยวกับการกินผักใส่ หรือเครือมะระ และก็ขอจบบทความสั้น ๆ นี้เท่านี้ครับผมอย่าลืมหากใครคิดว่าผมเล่าเรื่องโกหก ถ้าเห็นเครือกะทกรกนี้ ลองเก็บไปลวกกินดู รับรองว่า คุณจะติดใจ เรื่องและภาพโดยผู้เขียน J A I W