พิธีกรรมในทางพระพุทธศาสนานั้น มีความเกี่ยวข้องกับศาสตร์ในพิธีของพราหมณ์อย่างแยกไม่ออกหลายประการ อันเนื่องจากพระพุทธศาสนามีต้นกำเนิดและเติบโตในถิ่นกำเนิดของศาสนาพราหมณ์ แม้ในสมัยครั้งพุทธกาลพระพุทธองค์ยังประยุกต์คำสอนให้เหมาะกับจริตของคนในยุคนั้น โดยไม่ทิ้งแก่นแท้แห่งสัจธรรมของพุทธศาสนา วันนี้ผู้เขียนจะนำท่านผู้อ่านไปชมพิธีกวนข้าวมธุปายาสที่วัดป่าห้วยพระ ตำบลนาพรุ อำเภอพระพรหม จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นวัดที่ตั้งอยู่ใกล้กับบ้านเกิดของผู้เขียยน แต่ก่อนจะทราบรายละเอียดของพิธีนี้ ผู้เขียนขอนำเสนอบทกลอนเพลงบอกซึ่งเป็นการละเล่นของท้องถิ่นภาคใต้ โดยบอกรายละเอียดความเป็นมาของประเพณีการกวนข้าวมธุปายาส ดังนี้ คือข้าวพิสุทธิ์สะอาด นามมธุปายาสสีสรรพ์ มีสารพันเครื่องปรุง หมายมุ่งให้สูงส่ง ที่จังหวัดนครศรีฯ ประเพณียังดำรง เจตจำนงตั้งใจ สืบไว้ข้าว "ยาโค" ข้างขึ้นสิบสามหรือสิบสี่ ของทุกปีเดือนมาฆะ ณ เมืองพระชาวนคร จัดย้อนใหญ่มโห มีหนังลุงและโนราห์ เพลงบอกได้มาโชว์ งานใหญ่โตดังว่า มีมานานหลาย ส่วนประวัติประเพณี นั้นมีในพุทธประวัติ แจ้งชัดนางสุชาดา นั้นปรุงมาถวาย แต่พระมหาบุรุษ ยอดเยี่ยมสุดจะบรรยาย จวบพระทัยปราศธุลี ดังที่เราโร้กัน ที่วัดพระธาตุเมืองนคร ชนปร้าหัวนอน ตีน ตก ออก ช่วยขับเพลงบอกกล่าว หนุ่มสาวสมานฉันท์ น้ำนมข้าว ถั่ว งาไร่ ทั้งผลไม้นานาพันธุ์ พร้อมเพรียงกันรวมเครื่องปรุง แล้วหุงใน(กระ)ทะใหญ่ สงฆ์เจริญมนต์เริ่มพิธี สาวพรหมจารีจับไม้พาย จะเริ่มกวนซ้ายหรือกวนขวา แล้วแต่หนัดปร้าไหน ต่อจากนั้นคนทั้งมวล มาร่วมกันกวนด้วยกัน ตกดึกชาดมันเหนื่อยแรง ไม่โร้อิแหลงไหร พอถึงตีสองหรือตีสี่ สำเร็จพอดีเพราะร่วมใจ สร้างบุญเวยยาวัจจมัย กันไปเช้ายันค่ำ ชาวคอนศรีฯเล่ายังได้ยิน ใครที่ได้กินข้าวนี้ โรคภัยไม่มีมาบีฑา ทั้งปัญญาก็เลิศล้ำ นำมาบอกเล่าเป็นเพลงบอก มาร้องมาทอกเตือนความจำ เพื่อร่วมน้อมนำประเพณี ที่ดีให้ยั่งยืน กลอนเพลงบอกประเพณีกวนข้าวยาโค / ประพันธ์โดยผู้เขียน ข้าวยาโคที่กวนเสร็จบรรจุอยู่ในถาด พิธีกวนข้าวมธุปายาสหรือบางแห่งเรียกว่า ข้าวทิพย์บ้าง ข้าวยาโคหรือข้าวยาคูบ้าง เป็นพิธีหนึ่งที่สืบทอดต่อกันมาจวบปัจจุบัน มีประวัติว่านางสุชาดาซึ่งเป็นธิดาของเศรษฐีแห่งบ้านเสนานิคม ณ ตำบลอุรุเวลา ประเทศอินเดียในสมัยพุทธกาล จัดปรุงขึ้นแล้วนำตั้งใจจะนำไปถวายเทวดาเผอิญได้พบพระมหาบุรุษในวันก่อนตรัสรู้จึงสำคัญผิดว่าเป็นเทวดาจึงนำเอาข้าวมธุปายาสเข้าไปถวาย หลังจากเสวยแล้ว ก็ได้ทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณในย่ำรุ่งของคืนนั้น เป็นที่มาของความเชื่อที่ว่า ข้าวมธุปายาสเป็นอาหารทิพย์ช่วยให้ผู้บริโภค สมองดี มีปัญญา ผิวพรรณผ่องใส อายุยืนยาว และเป็นโอสถขนานเอกอันจะบันดาลให้ประสบความรุ่งเรืองแก่ชีวิต สถานที่จัดพิธีกวนข้าวมธุปายาสคือวัด ส่วนเครื่องปรุงและพิธีในการปรุงนั้นมีความแตกต่างกันของแต่ละท้องถิ่น ที่นี่นิยมเรียกว่าพิธีกวนข้าวยาโค (มาจากภาษาบาลีว่า ยาคุ แปลว่าข้าวต้ม) จัดในช่วงเทศกาลวันมาฆบูชาซึ่งทางจัดหวัดจะจัดประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุด้วยทุกปีหรือกล่าวได้ว่าพิธีกวนข้าวยาโคเป็นพิธีที่จัดเนื่องในประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุก็ได้ (รายละเอียดอยู่ในบทความเรื่อง ๗๙๐ ปี ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุของผู้เขียน) รวงข้าวที่นำมาคั้นน้ำนมซึ่งเป็นเครื่องปรุงหลัก จัดเตรียม ผสมเครื่องปรุงไว้รอเวลาเริ่มพิธีกวนข้าวยาโค ส่วนเครื่องปรุงข้าวมธุปายาสนั้น ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชจะนำรวงข้าวมากรีดแยกเมล็ดข้าวน้ำนมออกจากรวงข้าวเพื่อนำไปเข้ากระบวนการบดบีบเอาน้ำนมข้าวมาเป็นส่วนผสมหลักในการกวนข้าวมธุปายาส นอกจากน้ำนมข้าวแล้ว มีส่วนประกอบอื่น ๆ มากกว่า 50 ชนิด มีทั้งพวกพืชผล พืชสมุนไพร ผลไม้ที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น ขนุน ทุเรียน จำปาดะ เงาะ พุทรา กล้วย มะละกอ ข้าวโพด ฟักทอง ถั่วลิสงคั่ว เผือก งา ลูกเดือย มันเทศ น้ำผึ้งรวง น้ำตาลทราย พริกไทย ก้านพลู ขิง ข่า งา มะพร้าว เป็นต้น เวลากวนก็จะนำเครื่องปรุงเหล่านี้มาบดผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน จากนั้นนำไปใส่ในกระทะใบบัวที่วางอยู่บนเตาไฟซึ่งใช้ไม้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง เตรียมไว้รอสาวบริสุทธิ์ หรือ “สาวพรหมจารี” ที่ผ่านพิธีตามความเชื่อและแต่งชุดขาวถือถือศีลกินเจมาเริ่มกวนข้าวมธุปายาส ขั้นตอนการเตรียมเครื่องปรุงนี้มีการเตรียมการไว้ล่วงหน้าอย่างน้อย 1 - 2 วัน พราหมณ์เริ่มบวงสรวงเทพยดา สาวพรหมจารีร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์ พิธีเจิมทัดดอกไม้ สาวพรหมจารีเริ่มกวนข้าวยาโค ช่วยรับไม้กวนข้าวยาโคต่อจนกว่าจะแล้วเสร็จ ดึกแล้วเริ่มหนักแรงเพราะข้าวยาโคจะเริ่มเหนียว เสร็จแล้วตักได้ ข้าวยาโคที่ตักบรรจุใส่ถาดเรียบร้อย พิธีจะเริ่มในช่วงเย็นเวลาประมาณ 16.00 น. เริ่มบวงสรวงเทพยดา ฟ้าดิน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามพิธีของพราหมณ์ ต่อจากนั้นเวลา 17.00 น. เป็นพิธีเจริญพระพุทธมนต์โดยพระสงฆ์ 9 รูป ต่อด้วยพิธีเจิมและทัดดอกไม้แก่สาวพรหมจารี แล้วเริ่มเทเครื่องปรุงส่วนผสมต่าง ๆ ลงในกระทะใบบัวเริ่มลงมือกวนด้วยสาวพรหมจารีในเวลา 18.00 น. ในขณะนั้นพระสงฆ์จะสวดชัยมงคลคาถา (บทชะยันโต) เพื่อความเป็นสิริมงคลของพิธีไปด้วยในช่วงแรก หลังจากสาวพรหมจารีกวนข้าวยาโคไปได้สักระยะหนึ่ง คนอื่น ๆ สามารถเข้าไปช่วยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน การกวนใช้เวลานาน 8 - 10 ชั่วโมง กว่าจะเสร็จก็เกือบสว่างโดยเฉพาะในชั่วโมงหลัง ๆ จะหนักแรงเป็นพิเศษ พิธีกวนข้าวยาโคหรือข้าวมธุปายาส เป็นพิธีที่มีขั้นตอนพิถีพิถันเป็นพิเศษ จึงทำให้เป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ผสมกับสูตรที่มีเครื่องปรุงที่หลากหลายเป็นการรวมเอาสิ่งดี ๆ อันเป็นมงคลอย่างแท้จริงจึงทำให้เกิดความเชื่อถือกันสืบมาว่า ข้าวยาโคเป็นขนมที่ศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าว หากท่านผู้อ่านท่านใดชอบและมีความประสงค์จะมาร่วมพิธีก็สามารถมาร่วมได้ในช่วงเทศกาลวันมาฆบูชา ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชมีหลายวัดที่ยังรักษาสืบทอดประเพณีนี้ไว้ เช่น วัดป่าห้วยพระเป็นต้น และจะคงความศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้ไว้ตราบนานเท่านาน ภาพประกอบบทความทั้งหมดโดยผู้เขียน