รีเซต

'อ่างทอง'เจ้าพระยาล้นตลิ่งกัดเซาะถนนทรุด ท่วมบ้านเรือน ปชช. จนท.เร่งสร้างคันกั้นน้ำ

'อ่างทอง'เจ้าพระยาล้นตลิ่งกัดเซาะถนนทรุด ท่วมบ้านเรือน ปชช. จนท.เร่งสร้างคันกั้นน้ำ
มติชน
2 ตุลาคม 2565 ( 16:07 )
100

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานที่บริเวณถนน อยุธยา-อ่างทอง (สายใน) ต.บางปลากด อำ.ป่าโมก จ.อ่างทอง น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาได้เอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่หน้าอำเภอป่าโมก(หลังเก่า) ได้รับความเดือดร้อนแล้วกว่า 100 หลังคาเรือน น้ำได้เอ่อข้ามถนนเป็นระยะทางยาวเกือบ 1 กิโลเมตร โดยเฉพาะบริเวณหน้าปั๊ม ปตท.ป่าโมก กระแสน้ำค่อนข้างแรง ส่งผลให้ถนนทรุดตัวลงเป็นหลุมกว้าง ทำให้รถจักรยานยนต์ไม่สามารถผ่านได้

 

ด้านนายรังสรรค์ ตันเจริญ ผวจ.อ่างทอง มอบหมายให้ น.ส.เอกรัตน์ นาคาคง รอง ผวจ.อ่างทอง น.ส.สุพีพร โมรา หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอ่างทอง นายอำเภอป่าโมก ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรป่าโมก ผอ.แขวงทางหลวงป่าโมกลงพื้นที่ตรวจสอบ พื้นที่เกิดเหตุน้ำเอ่อล้นจากผนังกั้นน้ำบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอป่าโมกหลังเก่าได้พังลง ทำให้น้ำเอ่อล้นท่วมบ้านเรือนประชาชนตำบลบางปลากด อำเภอป่าโมก และได้ข้ามฝั่งถนนอยุธยา – อ่างทอง 309 (บริเวณข้างที่ว่าการอำเภอป่าโมก) เข้าตำบลโรงช้างไปอยุธยารถจักรยานยนต์ไม่สามารถผ่านเส้นทางดังกล่าวได้ รวมทั้งสะพานป่าโมกมุ่งหน้าสุพรรณบุรีจะมีการวางกระสอบทรายเพื่อดูดน้ำออกจากผิวการจราจร ช่วงนี้เครื่องจักกำลังทำงานปิดการจราจร2ช่องทาง และขอให้ใช้ความระมัดระวังในการขับขี่ เนื่องจากมีน้ำเอ่อล้นไหลผ่านข้ามถนน โดยเฉพาะบริเวณหน้าปั้ม ปตท ระดับน้ำไหลเชี่ยว

 

ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการสร้างคันดินกั้นน้ำ เพื่อให้การจราจรได้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ในการนี้ศูนย์อำนวยการป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยอำเภอป่าโมกได้จัดเตรียมเปิดศูนย์พักพิง ณ ที่ว่าการอำเภอป่าโมก สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอ่างทองสนับสนุนสุขาเคลื่อนที่และเรือเล็กเพื่อการสัญจรของประชาชน พร้อมทั้งประสานกู้ภัยอ่างทองในการให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ

 

ทางด้านวัดต้นสน ตำบลตลาดหลวง ที่มีการรั่วซึมบริเวณ เครื่องสูบน้ำของวัดต้นสน และใต้พื้นดิน ทางเทศบาลเมืองอ่างทอง ได้จัดทำแนวกระสอบทราย และทำคันดินโดยรอบ เพื่อป้องกันมิให้น้ำเข้าท่วมพื้นที่ชุมชนวัดต้นสน สำหรับบริเวณที่รั่วซึมนั้น ใกล้เคียงกับจุดที่เคยรั่วซึมเมื่อปี 2564

 

สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ ที่ได้รับความเดือดร้อนทั้ง 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอป่าโมก ระดับน้ำคลองโผงเผง (บริเวณสะพานข้ามคลองโผงเผง) 8.51 ม.รทก. ระดับวิกฤติ 6.50 ม.รทก. ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา (หน้าที่ว่าการอำเภอป่าโมกหลังเก่า) 8.62 ม.รทก. ระดับวิกฤติ 7.50 ม.รทก. อำเภอเมืองอ่างทอง ระดับน้ำเจ้าพระยา จุดวัดระดับบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดอ่างทอง (C.7A) มีระดับน้ำอยู่ที่ 9.28 ม. (รทก.) ระดับน้ำเพิ่มขึ้น (จากวันที่ 1 ต.ค.65) 0.13 ม. (รทก.) ระดับวิกฤตอยู่ที่ 10.00 ม.(รทก.) อำเภอไชโย ระดับน้ำเจ้าพระยา จุดวัดระดับบริเวณหน้าวัดไชโย อ.ไชโย จ.อ่างทอง มีระดับน้ำอยู่ที่ 9.90 ม.(รทก.) ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 0.10 ม.(รทก.) ระดับน้ำระดับวิกฤต อยู่ที่ 9.50 ม.(รทก.) อำเภอวิเศษชัยชาญ ระดับน้ำที่แม่น้ำน้อย จุดวัดระดับบริเวณหน้าวัดตูม หมู่ที่ 11 ต.ศาลเจ้าโรงทอง อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง มีระดับน้ำอยู่ที่ 5.35 ม.ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 0.08 ม.(รทก.) จุดวิกฤตอยู่ที่ระดับ 6.50 ม.(รทก.) บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ จำนวน 4 อำเภอ 18 ตำบล 53 หมู่บ้าน 1,286 ครัวเรือน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง